backup og meta

จุดด่างดำ แย่ลงช่วยอากาศแห้ง ควรรับมืออย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 24/04/2023

    จุดด่างดำ แย่ลงช่วยอากาศแห้ง ควรรับมืออย่างไร

    จุดด่างดำ หรือรอยดำ คือ ผื่นผิวหนังหรือจุดบนผิวหนังที่มีสีเข้มกว่าผิวหนังบริเวณอื่น ส่วนใหญ่จะเป็นสีดำหรือสีน้ำตาล เป็นปัญหาผิวที่แม้ไม่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพแต่มักส่งผลทำให้เสียความมั่นใจ ทั้งนี้ จุดด่างดำอาจต้องใช้เวลารักษานาน โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาวหรืออากาศแห้ง หรือผู้ที่โดนแสงแดดเป็นประจำอาจเกิดจุดด่างดำใหม่ ๆ ได้ง่ายขึ้น

    จุดด่างดำ คืออะไร

    จุดด่างดำ (Hyperpigmentation) หรือที่เรียกอีกอย่างว่า รอยดำ คือ ผื่นผิวหนังหรือจุดบนผิวหนังที่มีสีเข้มกว่าผิวหนังบริเวณอื่น ส่วนใหญ่จะเป็นสีดำหรือสีน้ำตาล จุดด่างดำบนที่อาจพบได้บ่อย ได้แก่

    • จุดแก่หรือกระผู้สูงอายุ
    • ฝ้า
    • จุดด่างดำหลังผิวหนังอักเสบ (Post Inflammatory Hyperpigmentation หรือ PIH) เช่น จุดด่างดำจากสิว รอยถลอกจากการบาดเจ็บ

    จุดด่างดำ เป็นปัญหาผิวหนังที่พบได้ทั่วไปในคนทุกเพศทุกวัย ภาวะนี้เกิดจากผิวหนังผลิตเม็ดสีผิว หรือเมลานิน (Melanin) มากผิดปกติ ส่วนใหญ่มักไม่เป็นอันตราย แต่บางครั้งก็อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ช่น มะเร็งผิวหนัง

    อากาศแห้งส่งผลต่อจุดด่างดำอย่างไร

    ผิวหนังเปรียบเสมือนกำแพงชั้นนอกสุดที่คอยป้องกัจุลินทรีย์ก่อโรค หรือเชื้อก่อโรคเข้าสู่ร่างกาย  เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ปรสิต  โดยปกติแล้ว ผิวหนังจะผลิตน้ำมันหรือไขมันออกมาหล่อเลี้ยงผิว ทำให้ผิวชุ่มชื้น ไม่แห้งแตก แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ความชื้นในอากาศจะน้อยลง ทำให้อากาศแห้งขึ้น และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ก็จะส่งผลกระทบต่อผิว ทำให้ผิวกักเก็บน้ำมันและความชุ่มชื้นไว้ได้น้อยลง และเกิดเป็นภาวะผิวแห้งในที่สุด

    ผิวแห้งมักมาพร้อมอาการคัน ยิ่งผิวแห้งมากก็ยิ่งอยากเกามาก และเมื่อเกาผิวหนังบ่อย ๆ ก็จะทำให้ผิวหนังระคายเคืองและเป็นผื่น พอนานวันเข้า ผิวหนังก็จะอักเสบและเกิดจุดด่างดำ

    วิธีรับมือกับจุดด่างดำในช่วงอากาศแห้ง

    วิธีป้องกันจุดด่างดำนั้นมีหลายวิธีด้วยกัน สามารถลองปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้เพื่อลดโอกาสเสี่ยงเกิดจุดด่างดำ ได้แก่

    อย่าลืมทาครีมกันแดด

    ฤดูหนาวมีเมฆน้อย แสงแดดจึงส่องลงมาสู่พื้นผิวโลกได้เต็มที่ ฉะนั้น หากต้องออกไปข้างนอก หรือใช้ชีวิตกลางแจ้ง ควรทาครีมกันแดดให้ทั่วผิวหน้าและผิวกาย และหากเป็นไปได้ ควรสวมหมวก และแว่นกันแดดเพื่อป้องกันแสงแดดอีกทางด้วย

    อย่างไรก็๖าม ถึงจะเป็นวันที่มีเมฆมาก หรืออยู่แต่ในร่มไม่ได้ออกไปข้างนอก ควรทาครีมกันแดดเพราะแสงแดดและรังสียูวีสามารถทะลุผ่านหน้าต่างและประตูมาทำร้ายผิว ทำให้จุดด่างดำบนใบหน้ามีสภาพแย่ลง ทั้งยังลดประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์รักษาจุดด่างดำที่ใช้ด้วย

    ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหน้า

    คนส่วนใหญ่ที่ปัญหาจุดด่างดำบนใบหน้ามักจะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าที่ช่วยให้ผิวดูกระจ่างใสขึ้น แต่จริง ๆ แล้วไม่ควรสนใจเรื่องเพิ่มความกระจ่างใสให้แก่ผิวอย่างเดียว แต่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสม เช่น กลีเซอรีน กรดไฮยาลูโรนิก เรตินอล ด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศแห้งอย่างหน้าหนาว เพราะสารประกอบเหล่านี้ นอกจากจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวแล้ว ยังช่วยกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิว รวมถึงช่วยให้สารประกอบที่มีคุณสมบัติเพิ่มความกระจ่างใสให้กับผิวหน้าทำงานได้ดีขึ้นด้วย

    พยายามอย่าแคะ แกะ เกาผิวหน้า

    เวลาเกิดความผิดปกติกับผิวหน้า เช่น สิวขึ้น ยุงกัด คนส่วนใหญ่มักจะอดใจไม่ไหวและชอบแคะ แกะ เกาผิวหนังบริเวณที่มีปัญหา ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมต้องห้ามสำหรับคนที่มีปัญหาจุดด่างดำบนใบหน้า หรือหน้าเป็นแผลง่าย เพราะการแคะ แกะ เกาจะยิ่งกระตุ้นให้ผิวหนังอักเสบ จนส่งผลให้ผิวเปลี่ยนสี หรือเกิดเป็นจุดด่างดำได้ง่ายขึ้น ทั้งยังทำให้จุดด่างดำที่เป็นอยู่แล้วมีสีเข้มขึ้นได้ด้วย

    รักษาจุดด่างดำด้วยวิธีทางการแพทย์

    หากปัญหาจุดด่างดำค่อนข้างรุนแรง หรือลองใช้วิธีการข้างต้นแล้วยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผิวหนัง เพื่อให้คุณหมอวินิจฉัยอาการและรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ เช่น การผลัดเซลล์ผิวหนังชั้นบนด้วยสารเคมี การกรอผิวด้วยผงคริสตัลหรือเกล็ดอัญมณี (Microdermabrasion) การเลเซอร์ การรักษาด้วยแสง หากอยากรักษาจุดด่างดำบนใบหน้าด้วยวิธีเหล่านี้ แนะนำให้เข้ารับคำปรึกษาและการรักษากับสถานพยาบาลที่เชื่อถือได้ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง

    ที่สำคัญ เมื่อเกิดจุดด่างดำบนใบหน้า คุณหมออาจแนะนำให้รักษาจุดด่างดำให้จางลงโดยเร็วที่สุด เพราะหากปล่อยไว้นาน เม็ดสีผิวบริเวณนั้นก็จะยิ่งมีสีเข้มขึ้น และอยู่ลึกลงไปในชั้นผิวหนังชั้นลึกขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้รักษายากตามไปด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 24/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา