ยาทาแก้คัน ผิวหนังอักเสบ เป็นยาใช้เฉพาะที่กับผิวหนังบริเวณที่มีอาการคัน ผื่นแดง และระคายเคืองจากโรคผิวหนังอักเสบ เช่น กลาก โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคสะเก็ดเงิน เพื่อช่วยบรรเทาอาการคัน แบ่งเป็นคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาทากลุ่ม Calcineurin inhibitor และครีมด็อกเซปิน เอชซีแอล (Doxepin HCL Cream) อย่างไรก็ตาม ตัวยาบางชนิดอาจมีฤทธิ์รุนแรง จำเป็นต้องให้คุณหมอสั่งจ่ายยาและใช้ตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด
[embed-health-tool-bmi]
ยาทาแก้คัน ผิวหนังอักเสบ
การรักษาอาการคันผิวหนังที่เกิดจากผิวหนังอักเสบ มีด้วยกันหลายวิธี และวิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยมก็คือ การใช้ยาทาแก้คัน ผิวหนังอักเสบ ซึ่งเป็นยาใช้เฉพาะที่กับผิวหนังบริเวณที่มีอาการคัน เพื่อลดสาเหตุของอาการคัน บรรเทาอาการให้ดีขึ้น ยาบางชนิดสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่บางชนิดอาจต้องให้คุณหมอสั่งจ่ายเท่านั้น เนื่องจากตัวยาอาจมีฤทธิ์รุนแรงกว่า จึงต้องได้รับการควบคุมเป็นพิเศษ ดังนี้
1. คอร์ติโคสเตียรอยด์
เป็นยาสเตียรอยด์ชนิดหนึ่งที่ใช้ทาผิวหนังโดยตรง เพื่อลดการอักเสบและการระคายเคือง โดยยาคอร์ติโคสเตียรอยด์มีด้วยกันหลายรูปแบบทั้งชนิดครีม โลชั่น เจล มูส ขี้ผึ้ง แผ่นแปะ และสารละลาย (Solutions) ซึ่งอาจแบ่งความรุนแรงของฤทธิ์ยาออกเป็น 4 ระดับ คือ ระดับอ่อน ปานกลาง รุนแรง และรุนแรงมาก
ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ระดับอ่อนมักหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป เช่น โคลเบทาโซน (Clobetasol) ครีมบำรุงผิวไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone skin cream) ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) สำหรับโรคริดสีดวงทวารและอาการคันที่ก้น
ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ระดับที่แรงกว่า ต้องใช้ภายใต้การควบคุมของคุณหมอเท่านั้น เช่น เบโคลเมทาโซน (Beclometasone) เบต้าเมทาโซน (Betamethasone) โคลเบทาซอล (Clobetasol) ฟลูติคาโซน (Fluticasone) โมเทมาโซน (Mometasone) ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่ใช้บรรเทาอาการคันจากโรคต่าง ๆ เช่น อาการแพ้ โรคผื่นแพ้ผิวหนัง โรคสะเก็ดเงิน โรคผิวหนังอักเสบ เช่น อาการผิวหนังตกสะเก็ด รังแค
ข้อควรระวัง
ส่วนใหญ่แล้วเด็กและผู้ใหญ่สามารถใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่ได้อย่างปลอดภัย แต่อาจมีข้อจำกัดบางประการ ดังนี้
- ผิวหนังติดเชื้อ เช่น การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ทาผิวหนังที่ติดเชื้อราจะส่งผลให้ผิวหนังบริเวณนั้นติดเชื้อรามากขึ้น เว้นแต่จะได้รับคำแนะนำจากคุณหมอในบางกรณีที่อาจใช้ยาชนิดนี้ได้
- ภาวะผิวหนังบางชนิด เช่น โรคโรซาเซีย (Rosacea) สิว แผลที่ผิวหนัง อาจไม่ควรใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์
สำหรับหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรสามารถใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะชนิดระดับอ่อน แต่หากต้องทายาบริเวณหัวนมควรทำความสะอาดหัวนมทุกครั้งก่อนให้นมบุตร แต่สำหรับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่ระดับรุนแรงควรได้รับคำแนะนำจากคุณหมอก่อนเสมอ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกได้
ผลข้างเคียง
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่พบบ่อยมีดังนี้
- แสบร้อนเมื่อใช้ยา
- ทำให้เกิดสิวหรืออาการสิวอาจแย่ลง
- รูขุมขนอักเสบ
- การติดเชื้อที่ผิวหนังแย่ลงหรือลุกลามเร็วขึ้น
- อาจทำลายผิวหนังและทำให้ผิวช้ำง่ายขึ้น
- รอยแตกลายบนผิวหนังอาจคงอยู่ถาวรหรือหายช้ากว่าปกติ
- เป็นโรคผื่นแพ้สัมผัส (Contact dermatitis) เกิดอาการระคายเคืองผิวหนังซึ่งเกิดจากสารในยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่
- เป็นโรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea) เป็นภาวะที่ทำให้หน้าแดงและผิวแดง
- สีผิวบริเวณที่ทายาอาจหมองคล้ำลง
- ขนขึ้นมากในบริเวณที่ทายา
2. ยาทากลุ่ม Calcineurin inhibitor
เป็นกลุ่มยาที่ใช้รักษาโรคผิวหนังอักเสบ โดยยาจะทำงานร่วมกับระบบภูมิคุ้มกันเพื่อขัดขวางสารเคมีที่ทำให้เกิดอาการ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ พิเมโครลิมัส (Pimecrolimus) สำหรับโรคผิวหนังอักเสบระดับอ่อนถึงปานกลาง และครีมทาโครลิมัส (Tacrolimus) สำหรับโรคผิวหนังอักเสบระดับปานกลางถึงรุนแรง ดังนี้
2.1 พิเมโครลิมัส (Pimecrolimus)
ใช้รักษาสำหรับโรคผิวหนังอักเสบระดับอ่อนถึงปานกลาง ยานี้จะช่วยเปลี่ยนระบบภูมิคุ้มกันของผิวหนัง จึงช่วยลดปฏิกิริยาการแพ้ที่เป็นสาเหตุของอาการ อย่างไรก็ตาม ควรใช้ยาตามคำแนะนำของคุณหมอเสมอ
ข้อควรระวัง
- ไม่แนะนำสำหรับผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นกลุ่มอาการเนเธอร์ตัน (Netherton’s syndrome) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่หายาก
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น หลังการปลูกถ่ายอวัยวะ ไม่ควรใช้ยานี้
- อาจทำให้ไวต่อแสงแดดมากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงการอาบแดด และใช้ครีมกันแดด รวมถึงสวมอุปกรณ์ช่วยชุดป้องกันแดด เช่น หมวก เสื้อแขนยาว เมื่ออยู่กลางแจ้ง
ผลข้างเคียง
การใช้ ครีมทาแก้คัน ผิวหนังอักเสบ อย่างพิเมโครลิมัส อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางประการ เช่น แสบร้อน ระคายเคือง ปวดศีรษะ นอกจากนี้ อาจมีผลข้างเคียงของอาการแพ้รุนแรง เช่น ผื่น คัน บวมโดยเฉพาะที่ใบหน้า ลิ้น คอ วิงเวียนศีรษะ มีปัญหาในการหายใจ
2.2 ครีมทาโครลิมัส (Tacrolimus)
ใช้รักษาสำหรับโรคผิวหนังอักเสบระดับปานกลางถึงรุนแรง ที่ทำให้เกิดผื่นแดง ระคายเคือง และอาการคัน ช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของผิวหนังอ่อนแอลง ลดปฏิกิริยาการแพ้ และบรรเทาอาการโรคผิวหนังอักเสบ
ข้อควรระวัง
- ไม่แนะนำสำหรับผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นกลุ่มอาการเนเธอร์ตัน (Netherton’s syndrome) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่หายาก
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอไม่ควรใช้ยานี้ เช่น หลังการปลูกถ่ายอวัยวะ
- จำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะยานี้อาจทำให้ไวต่อแอลกอฮอล์มากขึ้น ใบหน้าหรือผิวหนังอาจแดงและรู้สึกร้อน
- อาจทำให้ไวต่อแสงแดดมากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงการอาบแดด และก่อนออกจากบ้านควรใช้ครีมกันแดด รวมถึงสวมอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น หมวก เสื้อแขนยาว แว่นตากันแดด หมวกปีกกว้าง
ผลข้างเคียง
การใช้ครีมโครลิมัสอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางประการ เช่น แสบร้อน เจ็บปวดผิว อาการคัน ปวดศีรษะ มีสิว มีไข้หนาวสั่น น้ำมูกไหล เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ผิวไวต่อความรู้สึกมากขึ้น นอกจากนี้ อาจมีอาการร้ายแรงอื่น ๆ เช่น เจ็บหน้าอก เหนื่อยล้าผิดปกติร่วมกับอาการปวดกล้ามเนื้อ ผิวหนังติดเชื้อ เช่น อีสุกอีใส งูสวัด หูด
3. ครีมด็อกเซปิน เอชซีแอล (Doxepin HCL Cream)
ครีมด็อกเซปิน เอชซีแอล เป็นยาภายนอกที่ใช้รักษาอาการคันจากโรคผิวหนังอักเสบ เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง กลาก ช่วยขัดขวางฮีสตามีน (Histamine) ที่เป็นสารในร่างกายกระตุ้นอาการภูมิแพ้ ควรใช้เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่เกิน 8 วัน เนื่องจากครีมด็อกเซปิน เอชซีแอลมีฤทธิ์เป็นยากล่อมประสาท
ข้อควรระวัง
- การใช้ยาชนิดนี้อาจส่งผลต่อจังหวะการเต้นของหัวใจ และอาการอื่น ๆ เช่น วิงเวียนศีรษะ เป็นลม
- ควรแจ้งให้คุณหมอทราบเสมอหากมีอาการป่วย เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ โพแทสเซียมหรือแมกนีเซียมในเลือดต่ำ หรือใช้ยาชนิดอื่นที่ส่งผลต่อจังหวะการเต้นของหัวใจ เพราะการใช้ครีมด็อกเซปิน เอชซีแอลร่วมด้วยอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น
- สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ยาชนิดนี้อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้
- อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงแก่ผู้สูงอายุ เช่น วิงเวียนศีรษะ ง่วงซึม สับสน ปัสสาวะลำบาก หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ผลข้างเคียง
การใช้ครีมด็อกเซปิน เอชซีแอล เป็นยาทาแก้คัน ผิวหนังอักเสบ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางประการ เช่น แสบร้อน ง่วงนอน เวียนศีรษะ ปากแห้ง ตาพร่ามัว การรับรสชาติผิดปกติ
วิธีบรรเทาอาการคันอื่น ๆ
นอกเหนือจากการใช้ยาทาแก้คัน ผิวหนังอักเสบ ยังมีวิธีรักษาอื่น ๆ เพื่อบรรเทาอาการ ดังต่อไปนี้
วิธีรักษาทางการแพทย์ เช่น
- ยารับประทาน เช่น ยาต้านเศร้าเอสเอสอาร์ไอ (Selective serotonin reuptake inhibitors : SSRI) อย่าง ฟลูออกซีทีน (Fluoxetine) เซอร์ทราลีน (Sertraline) ยาต้านเศร้าในกลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic Antidepressants : TCAs) อย่างด็อกเซปิน (Doxepin) เป็นต้น ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการคันเรื้อรังบางประเภทได้
- การบำบัดด้วยแสง เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่สามารถรับประทานยาหรือทายาได้ อาจต้องเข้ารับการฉายแสงหลายครั้งจนกว่าอาการคันจะบรรเทาลง
วิธีบรรเทาอาการคันจากผิวหนังอักเสบด้วยตนเอง เช่น
- ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวสูตรอ่อนโยน ไม่มีน้ำหอม เพื่อลดการระคายเคือง
- ให้ความชุ่มชื้นกับผิวอยู่เสมอ ด้วยการทาโลชั่นที่มีส่วนผสมของเซราไมด์ (Ceramides) ซึ่งเป็นน้ำมันที่พบในผิวตามธรรมชาติ
- ประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการคัน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับปัจจัยที่อาจกระตุ้นอาการคัน เช่น การใส่เสื้อผ้าที่เป็นขน
- หลีกเลี่ยงการเกาผิวหนังเมื่อมีอาการคัน เพื่อลดความเสี่ยงเกิดบาดแผลและการติดเชื้อ
- สวมเสื้อผ้าที่โปร่งสบาย ระบายอากาศได้ดี
- หาวิธีลดความเครียดหรือความวิตกกังวล เพื่อป้องกันอาการคันแย่ลง
- พักผ่อนให้เพียงพอ อาจช่วยลดความเสี่ยงของอาการคันที่ผิวหนังโดยไม่ต้องใช้ยาทาแก้คัน ผิวหนังอักเสบ