รอยแตกลาย เป็นริ้วรอยบนผิวหนังที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างของคอลลาเจนและอีลาสติน (Elastin) ในผิวหนังอย่างเฉียบพลัน มักเกิดบริเวณหน้าท้อง ต้นขา สะโพก ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การตั้งครรภ์และเกิดรอยแตกลายบริเวณหน้าท้อง กรรมพันธุ์ น้ำหนักตัวที่เพิ่มอย่างรวดเร็วจนผิวหนังไม่สามารถยืดออกได้เพียงพอ แม้รอยแตกลายอาจจางหายได้เองตามกาลเวลาและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ก็อาจสร้างความกังวลใจ หรือทำให้เสียความมั่นใจได้
คำจำกัดความ
รอยแตกลาย คืออะไร
รอยแตกลาย คือ รอยบนผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อผิวหนังยืดและหดตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันนี้ส่งผลให้โครงสร้างของคอลลาเจนและอีลาสติน ที่ช่วยส่งเสริมความยืดหยุ่นและการสมานตัวของผิวเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลัน จึงทำให้เกิดรอยแตกลายบนผิวขึ้น อย่างไรก็ตาม รอยแตกลายอาจไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน แต่ในผู้ที่มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนผันผวน ในระหว่างตั้งครรภ์หรือมีบุคคลในครอบครัวที่เคยมีรอยแตกลาย อาจเพิ่มโอกาสที่จะมีรอยแตกลายได้สูง
อาการ
อาการของรอยแตกลาย
อาการของรอยแตกลายอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เกิดขึ้น สาเหตุ ตำแหน่งและประเภทของผิว ดังนี้
- มีลายเส้นยาวบนหน้าท้อง หน้าอก สะโพก ก้น ต้นขา
- รอยแตกลายอาจเกิดขึ้นเป็นรอยริ้วสีอ่อน
- รอยแตกลายเป็นริ้วกระจายเป็นวงกว้างบนผิวหนัง
- รอยแตกลายมีสีแดง ชมพู ม่วง ดำ หรือน้ำเงิน
หากรอยแตกลายส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ความมั่นใจ และความสวยงามบนผิวหนัง ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อระบุสาเหตุของรอยแตกลายและหาแนวทางในการรักษา
สาเหตุ
สาเหตุของรอยแตกลาย
รอยแตกลายมักมีสาเหตุมาจากการยืดและหดของผิวที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ดังนี้
- พันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีประวัติผิวแตกลายอาจมีโอกาสที่คนในครอบครัวจะมีรอยแตกลายด้วยเช่นกัน
- สุขภาพผิวหรือการยืดและหดของผิวหนังอย่างรวดเร็ว สุขภาพผิวที่อ่อนแอ ขาดความชุ่มชื้นและความยืดหยุ่น เมื่อผิวขยายตัวอาจส่งผลให้เกิดรอยแตกลายได้
- ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนความเครียด เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมหมวกไต อาจส่งผลให้เส้นใยและความยืดหยุ่นของผิวหนังอ่อนแอลง
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของรอยแตกลาย
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดรอยแตกลาย มีดังนี้
- การตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในผู้ที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
- การเจริญเติบโตของร่างกายอย่างรวดเร็วในช่วงวัยแรกรุ่น
- น้ำหนักที่เพิ่มและลดลงอย่างรวดเร็ว
- การออกกำลังกายเพิ่มกล้ามเนื้อที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
- การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) กับผิวหนังเป็นเวลานาน
- การผ่าตัดเสริมหน้าอก
- ความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น
- กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing’s Syndrome) เป็นโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยอ้วนผิดปกติ
- กลุ่มอาการมาร์แฟน (Marfan Syndrome) เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเยื่อเกี่ยวพันทำให้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายยืดออกมากกว่าปกติ ทั้งยังทำให้ผู้ป่วยผอมมากกว่าปกติ
- โรคหนังยืดผิดปกติ (Ehlers-Danlos Syndrome หรือ EDS) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้เนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ทำหน้าที่ยึดกล้ามเนื้อเกิดความผิดปกติ จนส่งผลให้ผิวบางและยืดได้มากเกินไป
การวินิจฉัยและการรักษา
การวินิจฉัยรอยแตกลาย
คุณหมออาจตรวจผิวหนังและรอยแตกลายเพื่อระบุสาเหตุของอาการ พร้อมทั้งสอบถามประวัติเกี่ยวกับรอยแตกลายที่เกิดขึ้นในครอบครัว หรือหากสงสัยว่ารอยแตกลายเกิดขึ้นเพราะระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล คุณหมออาจพิจารณาทดสอบผิวหนังเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผล
การรักษารอยแตกลาย
แม้รอยแตกลายจะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและอาจจางหายไปเองได้ตามกาลเวลา แต่หากรอยแตกลายส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน วิธีรักษาต่อไปนี้อาจช่วยได้
- ครีมเรตินอยด์ ยากลุ่มอนุพันธ์ของกรดวิตามินเอ เช่น เตรติโนอิน (Tretinoin) ช่วยสร้างคอลลาเจนทำให้รอยแตกลายดูจางลง แต่อาจช่วยรักษารอยแตกลายที่เกิดขึ้นไม่เกิน 2-3 เดือน สำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้เพราะอาจส่งผลกระทบต่อทารกได้
- รักษาด้วยการฉายแสงและเลเซอร์ อาจช่วยกระตุ้นการเติบโตของคอลลาเจนและส่งเสริมความยืดหยุ่นของผิว
- ไมโครนีดลิง (Microneedling) เป็นการรักษาโดยการใช้เข็มขนาดเล็กกระตุ้นให้เกิดการสร้างคอลลาเจนและเส้นใยอีลาสติน ซึ่งช่วยให้รอยแตกลายดูจางลงและเรียบเนียนขึ้น
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับรอยแตกลาย
การปรับพฤติกรรมบางอย่างอาจช่วยป้องกันรอยแตกลายบนผิวหนังได้ดังนี้
- รักษาน้ำหนัก หรือควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้ร่างกายขยายอย่างรวดเร็วมากเกินไป โดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีสารอาหารหลากหลาย ลดน้ำตาลและรับประทานอาหารไขมันต่ำ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาลดน้ำหนัก หรือการอดอาหาร เพราะอาจทำให้ลดน้ำหนักลงอย่างรวดเร็ว จนผิวหนังเกิดรอยแตกลาย และอาจเกิดโยโย่เอฟเฟ็กต์ หรือการทำให้กลับมารับประทานอาหารมากเกินไปจนอ้วนขึ้นมาอีกครั้ง และทำให้ผิวหนังขยายตัวอย่างรวดเร็ว
- ดื่มน้ำประมาณ 1.5-2 ลิตร ทุกวัน เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวอยู่เสมอ
- การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของใบบัวบกและกรดไฮยาลูโรนิก (Hyaluronic Acid) อาจช่วยป้องกันรอยแตกลายได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน International Journal of Cosmetic Science เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2555 ศึกษาเกี่ยวกับการใช้ครีมต่อต้านรอยแตกลายโดยเฉพาะเพื่อป้องกันหรือลดความรุนแรงของรอยแตกลาย พบว่า การรักษารอยแตกลายด้วยครีมที่ประกอบด้วยสารสกัดจากใบบัวบก ไฮดรอกซีโพรลิซิเลน-ซี (Hydroxyprolisilane-C) น้ำมันโรสฮิป (Rosehip Oil) ไตรเทอร์พีน (Triterpenes) และวิตามินอี มีประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงของรอยแตกลายในระหว่างตั้งครรภ์ ป้องกันการลุกลาม และป้องกันการเกิดรอยแตกลายใหม่ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยหนึ่งชิ้นที่ตีพิมพ์ใน The British Journal of Dermatology เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2558 ศึกษาเกี่ยวกับการป้องกันรอยแตกลายระหว่างตั้งครรภ์ พบว่า สารสกัดจากใบบัวบกและกรดไฮยาลูโรนิกอาจช่วยป้องกันรอยแตกลาย ลดความรุนแรงของรอยแตกลายที่เกิดขึ้นใหม่
[embed-health-tool-heart-rate]