backup og meta

สารสเตียรอยด์ในครีม อันตรายต่อผิวอย่างไร

สารสเตียรอยด์ในครีม อันตรายต่อผิวอย่างไร

สารสเตียรอยด์ในครีม มักใส่เพื่อทำให้ผิวขาวและเห็นผลการรักษาไวขึ้น แต่สารสเตียรอยด์นั้นเป็นอันตรายต่อผิว กฎหมายในประเทศไทยกำหนดเอาไว้ว่า ห้ามใส่สารสเตียรอยด์ลงในเครื่องสำอางทุกชนิด เนื่องจาก การใช้สารสเตียรอยด์ที่มีความเข้มข้นสูงเป็นเวลานานและใช้อย่างผิดวิธีอาจเกิดผลข้างเคียงกับผิว ไม่ว่าจะเป็นผิวชั้นนอกหรือผิวชั้นใน เช่น ผิวบางจนเห็นเส้นเลือดแดงบนใบหน้าชัดเจน แพ้ง่าย เป็นสิว เกิดผดผื่น ทั้งยังทำให้มลภาวะหรือสิ่งสกปรกเข้าสู่ผิวได้ง่ายขึ้น

โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. กำหนดให้สารสเตียรอยด์เป็นยาแผนปัจจุบันที่อยู่ในกลุ่มยาควบคุมพิเศษ โดยยาในกลุ่มนี้จะเป็นยาที่ทำให้เกิดอันตรายสูงหากใช้ไม่ถูกต้อง ผู้ที่จะใช้สารสเตียรอยด์ต้องได้รับการวินิจฉัย สั่งจ่ายยา และใช้ภายใต้การควบคุมของคุณหมอเท่านั้น นอกจากนี้ ควรใช้ยาตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เพื่อลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

[embed-health-tool-bmr]

สารสเตียรอยด์ คืออะไร

สารสเตียรอยด์ (Steroid) หรือ คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) คือ กลุ่มยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารเคมีที่ใช้ในการสร้างเม็ดสีในผิว เช่น โพรสตาแกรนดิน (Prostaglandin) ลิวโคไตรอีน (Leukotriene) ส่งผลให้การผลิตเม็ดสีลดลงและทำให้ผิวขาวขึ้น ซึ่งสารสเตียรอยด์มักใช้เป็นสูตรผสมกับยาชนิดอื่น เช่น เรตินอยด์ (Retinoids) ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) เพื่อช่วยเสริมฤทธิ์ในการรักษาและลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น โดยสารสเตียรอยด์อาจใช้รักษาโรคได้หลายชนิด เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคผื่นแพ้ผิวหนัง โรคผิวหนังอักเสบ สิว ฝ้า กระ จุดด่างดำ

อันตรายของสารสเตียรอยด์ในครีม

สารสเตียรอยด์ในครีม หากใช้เป็นเวลานานและใช้อย่างผิดวิธีอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายกับผิวได้ ดังนี้

  • สารสเตียรอยด์ในครีมหรือยาสเตียรอยด์ชนิดทาภายนอก หากใช้ติดต่อเป็นเวลานานจะทำให้ผิวบาง ผิวมันง่าย อักเสบ เป็นผื่นแดง เป็นสิวเห่อ และเส้นเลือดที่ผิวหนังแตกง่ายจนอาจเห็นเป็นสีแดง สีม่วงตามผิวหนังหน้าท้อง ต้นขา ใบหน้า
  • อาจทำให้เกิดกลุ่มอาการคุชชิ่ง (Cushing Syndrome) ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อใช้สารสเตียรอยด์มากเกินไป อาจทำให้ผิวบาง ผิวแห้ง เกิดรอยแผลเป็นง่าย สิวเห่อบนใบหน้าและตามตัว มีรอยแตกสีแดง สีม่วงตามผิวหนัง ใบหน้ากลม มีไขมันพอกบริเวณต้นคอหรือด้านหลัง ขนขึ้นเยอะ
  • ภูมิคุ้มกันลดลง สเตียรอยด์อาจกดภูมิคุ้มกันทำให้ร่างกายติดเชื้อง่ายขึ้น เป็นแผลที่ผิวหนังตามร่างกาย แผลหายช้า หรืออาจทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือด

วิธีการเลือกครีมที่ปราศจากสารสเตียรอยด์

วิธีการเลือกครีมเหล่านี้อาจช่วยป้องกันการเลือกครีมที่มีส่วมผสมของสารสเตียรอยด์ที่เป็นอันตรายต่อผิวได้

  • สังเกตเครื่องหมาย อย. บนผลิตภัณฑ์หรือครีมบำรุงผิวทุกชนิดว่า ได้ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือไม่ และเพื่อความมั่นใจว่าเลขทะเบียนไม่ใช่เลขปลอม สามารถนำเลขทะเบียนไปตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา https://oryor.com/อย/
  • สังเกตเนื้อครีม ครีมที่มีคุณภาพ หากวางทิ้งไว้เนื้อครีมจะไม่แยกชั้น ไม่เปลี่ยนสี กลิ่นไม่แรงหรือฉุนเกินไป
  • สังเกตสรรพคุณ ครีมที่ผสมสารสเตียรอยด์มักจะอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เช่น ผิวขาวไวภายใน 3 หรือ 7 วัน เนื่องจากสารสเตียรอยด์มีฤทธิ์ทำให้ผิวขาวไว แต่เมื่อเลิกใช้หรือใช้มากเกินไปอาจทำให้ผิวบาง แพ้ง่าย สิวเห่อได้

นอกจากนี้ ยังสามารถทดสอบด้วยชุดตรวจสอบสเตียรอยด์เบื้องต้น (Steroid Test Kitt) ซึ่งเป็นชุดตรวจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่สามารถตรวจได้ด้วยตัวเอง โดยอาจช่วยตรวจสอบได้ว่ายา อาหารเสริม หรือครีม มีส่วนผสมของสเตียรอยด์หรือไม่ โดยมีขั้นตอนการตรวจ ดังนี้

  1. หากตัวอย่างที่ใช้ตรวจเป็นเม็ดควรบดให้ละเอียดก่อนทำการทดสอบ
  2. ตักหรือหยดตัวอย่างใส่ลงไปในหลอดทดสอบในปริมาณเท่ากับขีดแรกที่กำกับไว้ข้างหลอด
  3. หยดน้ำยาละลายลงในหลอดทดสอบที่ใส่ตัวอย่างไว้จนถึงขีดที่ 2 ที่กำกับไว้ข้างหลอด
  4. เขย่าหลอดทดสอบอย่างน้อย 3 นาที และตั้งทิ้งไว้ 15 นาที หรือจนกว่าน้ำยาส่วนใสจะแยกชั้น แต่สำหรับตัวอย่างที่เป็นของเหลวใสสามารถทดสอบได้ทันทีโดยไม่ต้องตั้งทิ้งไว้
  5. ใช้หลอดหยดตัวอย่างดูดน้ำยาส่วนใสออกมาและหยดน้ำยาลงในตลับทดสอบบริเวณหลุมทดสอบ จำนวน 4 หยด
  6. จับเวลา 10-15 นาที หากผลทดสอบขึ้น 1 ขีด แสดงว่าไม่มีสารสเตียรอยด์ แต่หากขึ้น 2 ขีด แสดงว่ามีสารสเตียรอยด์

โดยสามารถสั่งซื้อชุดทดสอบได้ที่ ร้านผลิตภัณฑ์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ที่อยู่ : 88/7 อาคาร 10 ชั้น 1 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000

โทรศัพท์ 0-2951-0000 ต่อ 98463,98450  อีเมล [email protected]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ปลอดภัยหรือไม่ เมื่อใช้สเตียรอยด์ (steroid). https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/142/%E0%B8%AA%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B9%8C-steroid-%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88/. Accessed March 17, 2022

โทษของสเตียรอยด์. http://www.steroidsocial.org/steroid2.html. Accessed March 17, 2022

รู้ได้อย่างไรว่าผลิตภัณฑ์ใดมีสเตียรอยด์. http://www.steroidsocial.org/steroid5.html. Accessed March 17, 2022

อันตรายจากสารต้องห้ามในเครื่องสำอาง. https://www.rama.mahidol.ac.th/ramapharmacy/th/knowledge/general/. Accessed March 17, 2022

Risks of Topical Corticosteriods. https://nationaleczema.org/risks-of-topical-corticosteriods/. Accessed March 17, 2022

Topical corticosteroids. https://www.nhs.uk/conditions/topical-steroids/. Accessed March 17, 2022

Side-effects of topical steroids: A long overdue revisit. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/labs/pmc/articles/PMC4228634/. Accessed March 17, 2022

Topical Steroid-Damaged Skin. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/labs/pmc/articles/PMC4171912/. Accessed March 17, 2022

ยาครอบจักรวาล…ผสมสารสเตียรอยด์. https://oryor.com/อย/detail/media_printing/1666. Accessed March 17, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

07/11/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

แผลถลอก รักษายังไงให้หายอย่างรวดเร็ว

ครีมกันแดดหมดอายุ ยังปกป้องผิวได้หรือไม่


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 07/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา