backup og meta

แผลถลอก รักษายังไงให้หายอย่างรวดเร็ว

แผลถลอก รักษายังไงให้หายอย่างรวดเร็ว

แผลถลอก เป็นแผลที่เกิดจากเสียดสีของผิวหนังกับของแข็งหรือพื้นผิวที่ขรุขระ จนผิวหนังชั้นนอกถูกทำลายและเกิดเป็นรอยถลอก โดยแผลถลอกสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย เช่น เข่า หน้าแข้ง ข้อศอก ขา ซึ่งอาจทำให้มีเลือดออก เจ็บปวด แสบ ผิวแดง ส่วนใหญ่แผลถลอกไม่ทำให้เกิดแผลเป็นและสามารถรักษาได้เอง เว้นแต่แผลที่มีขนาดใหญ่ ลึก หรือติดเชื้อ อาจต้องเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษา

[embed-health-tool-heart-rate]

แผลถลอกเกิดจากสาเหตุอะไร

แผลถลอก เกิดจากชั้นผิวที่ถูกทำลายจากการเสียดสี แรงกด แรงดันหรือการกระแทกอย่างรุนแรงกับของแข็งหรือพื้นผิวที่ขรุขระ ทำให้ผิวหนังหลุดออกหรือถูกทำลายไป มักพบบ่อยบริเวณข้อศอก เข่า หน้าแข้ง ข้อเท้า แขน ขา ซึ่งแผลถลอกส่วนใหญ่ไม่ก่อให้เกิดแผลเป็น ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับขนาดและความลึกของแผลด้วย โดยแผลถลอกแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ดังนี้

  • แผลถลอกจากการขูดหรือขีดข่วน (Scrape หรือ Brush Abrasion) เกิดจากผิวหนังถูกของแข็งหรือพื้นผิวที่มีลักษณะขรุขระขูดเป็นแนวยาว แผลถลอกชนิดนี้มักพบในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ เช่น หกล้มบริเวณทางลาด รถมอเตอร์ไซค์หรือจักรยานล้ม
  • รอยถลอกที่เกิดจากการกระแทก (Impact Abrasion) เกิดจากแรงกระแทกในลักษณะตั้งฉากระหว่างผิวหนังกับวัตถุ แผลถลอกชนิดนี้มักพบบริเวณผิวหนังที่เป็นส่วนนูน เช่น ข้อศอก หัวเข่า ส่วนใหญ่เกิดจากการหกล้ม หรือร่างกายกระแทกพื้นในแนวตรง
  • รอยถลอกที่เกิดจากการกดทับของวัตถุ (Patterned Abrasion) เกิดจากแรงกดทับของวัตถุกับผิวหนังอย่างรุนแรงจนทำให้เกิดรอบตามลักษณะของวัตถุนั้น ๆ เช่น การถูกเชือกมัดผิวหนังจะมีแผลถลอกที่มีลักษณะเหมือนเชือก

นอกจากนี้ ยังมีลักษณะของแผลถลอกที่เกิดจากเล็บอีก 3 แบบ ดังนี้

  • แผลถลอกจากการถูกเล็บกดหรือจิก (Impression Masks) แผลจะมีลักษณะเป็นเส้นโค้งตามรอยเล็บขนาดยาวประมาณ 10-15 มิลลิเมตร กว้าง 2-3 มิลลิเมตร
  • แผลถลอกจากกรงเล็บสัตว์ (Claw Masks) เกิดจากการที่สัตว์จิกกรงเล็บลงบนผิวหนัง โดยแผลที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะเป็นรูปร่างตัวยู อาจมีความลึกมาก ขนาดยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร หรือ 2-3 เซนติเมตร
  • แผลถลอกจากเล็บข่วน (Scratch Masks) เกิดจากเล็บข่วนบนผิวหนังจนเกิดรอยถลอก อาจมีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร

ภาวะแทรกซ้อนของแผลถลอก

หากปล่อยแผลถลอกไว้นานโดยไม่รักษาจนอักเสบหรือติดเชื้อ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนี้

  • การติดเชื้อรุนแรงจนแผลรักษาหายยากขึ้น
  • การเจ็บและระคายเคืองผิวบริเวณที่มีแผลถลอก
  • แผลมีกลิ่นเหม็น มีหนองสีเหลือง สีเขียว หรือสีน้ำตาล
  • มีไข้และหนาวสั่น
  • ปวดเมื่อย
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • อาจเกิดเป็นก้อนเนื้อแข็งและเจ็บปวด

แผลถลอก ทายาอะไร

การรักษาแผลถลอกอาจทำได้หลายวิธี ดังนี้

วิธีรักษาแผลถลอกเบื้องต้นด้วยตัวเอง

วิธีรักษาแผลที่ไม่รุนแรงมากอาจทำได้ด้วยตัวเอง ดังนี้

  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำเปล่าก่อนทำแผล รวมถึงทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ทำแผล เช่น แหนบ ด้วยการใช้แอลกอฮอล์เช็ดให้สะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่แผล
  • ค่อย ๆ ล้างทำความสะอาดบริเวณแผลถลอกด้วยน้ำอุณหภูมิปกติและใช้สบู่อ่อน ๆ ทำความสะอาด เพื่อฆ่าเชื้อและสิ่งสกปรกออกจากแผล จากนั้นเช็ดบริเวณแผลถลอกให้แห้งด้วยสำลีสะอาด
  • หากแผลถลอกมีขนาดเล็ก ไม่มีเลือดออก ให้เปิดแผลไว้ แต่หากแผลใหญ่มีเลือดออกให้ใช้ผ้าสะอาดพันแผลและกดเบา ๆ จากนั้นยกแผลให้สูงขึ้นเล็กน้อยเพื่อห้ามเลือด
  • หลังจากทำความสะอาดแผล ให้ใส่ยาปฏิชีวนะชนิดครีมหรือขี้ผึ้ง เช่น แบคซิทราซิน (Bacitracin) อะควาฟอร์ (Aquaphor) จากนั้นปิดแผลด้วยผ้าพันแผลหรือผ้าก๊อซที่สะอาด เพื่อป้องกันเชื้อโรค และทาปิโตรเลียมเจลเพื่อป้องกันไม่ให้แผลแห้ง กลายเป็นสะเก็ด ไม่ให้รอยแผลเป็นมีขนาดใหญ่ ลึกเกินไปหรือคัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) หรือไอโอดีนกับบาดแผล เพราะอาจทำให้ผิวหนังระคายเคืองในบางคน หยุดใช้ขี้ผึ้งฆ่าเชื้ออื่น ๆ หากทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง
  • ทำตามวิธีข้างต้นเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง หากแผลสกปรกอาจเปลี่ยนผ้าพันแผลหรือผ้าก๊อซใหม่ทันที อาจช่วยให้แผลแห้งและหายเร็วขึ้น
  • อย่าจับที่ผิวหนังหรือสะเก็ดแผล เพราะอาจทำให้เกิดแผลเป็น หายช้า และเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ
  • หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 วันและสังเกตเห็นอาการผิดปกติ เช่น ปวด บวม แดง เป็นหนอง ควรรีบพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาเพิ่มเติม
  • ควรปิดแผลด้วยผ้าพันแผลหรือผ้าก๊อซทุกครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อเพิ่มและป้องกันการกระทบกระเทือนบาดแผล
  • หลังจากแผลหายดีควรทาครีมกันแดด SPF 30 ขึ้นไปบริเวณรอยแผล เพื่อป้องกันแสงแดดทำร้ายผิวจนรอยแผลอาจเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือสีน้ำตาล และยังช่วยให้รอยแผลจางลงเร็วขึ้น

วิธีรักษาแผลถลอกโดยคุณหมอ

แผลถลอกที่มีอาการรุนแรง เช่น แผลมีขนาดใหญ่ มีเลือดไหลมากไม่ยอมหยุด เกิดแผลเนื่องจากอุบัติเหตุรุนแรง ควรรีบพบคุณหมอเพื่อตรวจอาการและรักษาแผล ดังนี้

  • คุณหมออาจต้องประเมินอาการและทำความสะอาดแผล หากแผลมีขนาดใหญ่หรือลึกคุณหมออาจต้องทำการเย็บแผลเพื่อปิดปากแผล
  • หากแผลถลอกติดเชื้อรุนแรง คุณหมออาจรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น เพนิซิลลิน (Penicillin) อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) แอมพิซิลลิน (Ampicillin)
  • หากแผลติดเชื้อมากและมีเนื้อเยื่อที่ตายแล้ว คุณหมออาจจำเป็นต้องตัดเนื้อเยื่อบางส่วนออก เพื่อกำจัดสิ่งสกปรก ป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายเชื้อ
  • หากแผลถลอกเกิดขึ้นจากการถูกสัตว์กัดหรือถูกวัตถุขึ้นสนิมบาด คุณหมออาจแนะนำให้ฉีดยากันบาดทะยัก

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Abrasions. https://www.urmc.rochester.edu/encyclopedia/content.aspx?contenttypeid=90&contentid=P02789. Accessed May 30, 2023.

4 Steps to Treat Abrasions at Home. https://intermountainhealthcare.org/blogs/topics/live-well/2017/10/4-steps-to-treat-abrasions-at-home/. Accessed May 30, 2023.

Skin cuts and abrasions. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/skin-cuts-and-abrasions. Accessed May 30, 2023.

Abrasion. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK554465/. Accessed May 30, 2023.

Blunt force injury. http://med.swu.ac.th/forensic/images/Blunt_force_injury59.pdf. Accessed May 30, 2023.

PROPER WOUND CARE: HOW TO MINIMIZE A SCAR. https://www.aad.org/public/everyday-care/injured-skin/burns/wound-care-minimize-scars. Accessed May 30, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

22/02/2024

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผิวแข็งแรง เป็นอย่างไร และ 5 เคล็ดลับในการดูแลผิว

ห้อเลือด ส่งผลต่อสุขภาพผิวอย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 22/02/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา