ขี้แมลงวันเกิดจากอะไร คำตอบคือ ขี้แมลงวันเกิดจากเซลล์เม็ดสีทำงานผิดปกติและกลายเป็นตุ่มนูนเล็ก ๆ บนผิวหนัง ขี้แมลงวันมักมีสีดำหรือน้ำตาล มีลักษณะเป็นวงกลมหรือเป็นวงรี โดยทั่วไป ขี้แมลงวันไม่เป็นอันตรายต่อผิวหนัง แต่ในบางราย ขี้แมลงวันอาจมีรูปร่างคล้ายกับอาการของโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (Melanoma) หากสังเกตว่ามีขี้แมลงวันขึ้นใหม่ มีปริมาณมาก หรือมีลักษณะผิดปกติ และสงสัยว่าเป็นอาการของโรคมะเร็งผิวหนัง ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อเข้ารับการตรวจและวินิจฉัย
[embed-health-tool-bmi]
ขี้แมลงวันมีลักษณะอย่างไร
ขี้แมลงวัน (Lentigines) และพบได้ทั่วไปตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย และสามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย โดยขี้แมลงวันมักมีลักษณะดังต่อไปนี้
- เป็นตุ่มนูนขนาดเล็ก
- มีสีดำหรือน้ำตาล
- มีขอบของขี้แมลงวันชัดเจน
- มีรูปร่างค่อนข้างกลม หรือเป็นวงรี
- มักเกิดขึ้นบริเวณที่โดนแสงแดดเป็นประจำ
- มีขนาดที่หลากหลาย ตั้งแต่ 0.2-2 เซนติเมตร
ขี้แมลงวันเกิดจากอะไร
ขี้แมลงวันเกิดจากความผิดปกติของเซลล์เมลาโนไซท์ (Melanocyte) ซึ่งทำหน้าที่ผลิตเมลานิน (Melanin) หรือเม็ดสีให้กับผิวหนัง
ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดขี้แมลงวันคือ การได้รับรังสีอัลตราไวโอเลต ทั้งจากการเผชิญกับแสงแดดโดยตรงเมื่อต้องออกไปอยู่กลางแจ้ง หรือจากการอาบแดด รวมถึงจากการส่องไฟ หรือการฉายรังสีเพื่อยับยั้งการเติบโตของผิวหนังที่ผิดปกติในผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบหรือโรคสะเก็ดเงิน
นอกจากนี้ โรคดังต่อไปนี้ก็อาจทำให้เกิดขี้แมลงวันหรือเม็ดสีผิวปกติได้เช่นกัน
- กลุ่มอาการนูแนน (Noonan Syndrome) เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของยีน ผู้ป่วยโรคนี้จะมีความผิดปกติที่ใบหน้า หัวใจ การมองเห็น การได้ยิน การเจริญเติบโต กล้ามเนื้อ และกระดูก ในรูปแบบและระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน การเกิดขี้แมลงวันเป็นอีกหนึ่งภาวะที่พบได้ในผู้ป่วยโรคนี้
- โรค PJS (Peutz-Jeghers Syndrome) เป็นโรคทางพันธุกรรมชนิดหนึ่ง อาการหลัก คือ มีติ่งเนื้อในท้องหรือลำไส้ หรือจุดหรือติ่งสีบนผิวหนังรวมถึงขี้แมลงวันบนใบหน้าและอาจนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งได้ในอนาคต
- โรคแพ้แสงแดด (Xeroderma Pigmentosum) หรืออาการผิวหนังไวต่อแสงมากผิดปกติ นับเป็นโรคทางพันธุกรรม โดยผู้ป่วยจะมีผิวหนังไวต่อรังสีอัลตราไวโอเล็ตเป็นพิเศษ ทำให้มีกระหรือขี้แมลงวันจำนวนมากบนร่างกาย และเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
ขี้แมลงวัน อันตรายต่อสุขภาพผิวหนังหรือไม่
โดยปกติขี้แมลงวันไม่เป็นอันตราย แต่ลักษณะของขี้แมลงวันอาจคล้ายคลึงกับอาการของโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา ซึ่งเป็นมะเร็งชนิดรุนแรง และเป็นสาเหตุการตายของผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังร้อยละ 75
โรคมะเร็งดังกล่าวเกิดจากเซลล์เมลาโนไซต์พัฒนาผิดปกติ และสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ เช่น จมูก ลำคอ ต่อมน้ำเหลือง ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา แต่ทางการแพทย์สันนิษฐานว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่ การได้รับรังสีอัลตราไวโอเล็ตเป็นประจำ พันธุกรรม และการมีผิวสีอ่อน
อาการของโรคมะเร็งเมลาโนมาที่พบได้ทั่วไป คือ เกิดตุ่มเล็ก ๆ บนร่างกาย ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับขี้แมลงวันหรือไฝ แต่สามารถสังเกตข้อแตกต่างของตุ่มหรือขี้แมลงวันที่เป็นอาการของโรคมะเร็งเมลาโนมาได้ดังนี้
- รูปร่างไม่สมมาตร ดูไม่เป็นวงกลมหรือวงรี
- ขอบของเม็ดไฝหรือขี้แมลงวันไม่ชัดเจน
- ขี้แมลงวันที่เกิดขึ้นมีหลายสี ไม่ได้มีแค่สีดำหรือน้ำตาล
- ตุ่มหรือก้อนนูนมีขนาดใหญ่กว่า 6 มิลลิเมตร หรือ 1/4 นิ้ว
- สี รูปร่าง หรือขนาดของขี้แมลงวันมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ
- อาจเกิดขึ้นร่วมกับอาการคัน มีเลือดออกบริเวณที่เป็นขี้แมลงวัน
ทั้งนี้ เมื่อพบขี้แมลงวันที่มีลักษณะผิดปกติ หรือตามที่กล่าวมาข้างต้น ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัย
วิธีลดความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเมลาโนมา ทำได้โดยป้องกันตัวเองจากแสงแดด เมื่อต้องออกจากบ้านในช่วงที่แดดจัด ควรแต่งกายให้มิดชิด สวมหมวกและแว่นตากันแดด ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 และหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่แดดแรง
ขี้แมลงวันมีวิธีรักษาหรือไม่ อย่างไร
ขี้แมลงวันไม่เป็นอันตราย และไม่ใช่อาการของโรค จึงไม่มีการรักษา อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ตำแหน่งของขี้แมลงวันทำให้สูญเสียความมั่นใจอาจปรึกษาสถานพยาบาลเพื่อกำจัดขี้แมลงวันได้ ส่วนใหญ่การกำจัดขี้แมลงวันมักใช้การยิงแสงเลเซอร์เข้าไปตรงจุดที่ต้องการกำจัดขี้แมลงวัน
ทั้งนี้ ก่อนการกำจัดขี้แมลงวัน คุณหมอจะทายาชาให้ก่อน จากนั้นจึงปิดตาผู้ที่ต้องกาารกำจัดขี้แมลงวันด้วยผ้าปิดตาหรือแว่นครอบตา เพื่อป้องกันอันตรายจากแสงเลเซอร์
ข้อดีของการกำจัดขี้แมลงวันด้วยแสงเลเซอร์คือใช้เวลาน้อย โดยขี้แมลงวัน 1 จุดจะใช้เวลาจี้ออกไม่ถึง 5 นาที
อย่างไรก็ตาม การกำจัดขี้แมลงวันด้วยเลเซอร์มีข้อเสียอยู่บ้าง คือ อาจทำให้เกิดแผลเป็นเล็ก ๆ บริเวณที่ใช้เลเซอร์จี้ขี้แมลงวันออก และควรหลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงอาทิตย์เป็นเวลาอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์หลังจากกำจัดขี้แมลงวันด้วยแสงเลเซอร์เพื่อป้องกันผิวหนังระคายเคืองหรืออักเสบ