backup og meta

ตาปลาเกิดจากอะไร มีวิธีรักษาอย่างไร

ตาปลาเกิดจากอะไร มีวิธีรักษาอย่างไร

ตาปลา คือ ผิวหนังที่มีลักษณะเป็นตุ่มหนา และแข็งกว่าผิวหนังส่วนอื่น ๆ สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วทั้งร่างกาย แต่อาจพบได้มากตามนิ้วมือ มือ นิ้วเท้า และฝ่าเท้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น เดิน วิ่ง หยิบจับสิ่งของ การทราบว่า ตาปลาเกิดจากอะไร อาจช่วยให้สามารถรักษาตาปลาได้ตรงจุดยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หากเป็นตาปลา ควรเข้ารับการรักษาโดยคุณหมอผิวหนังโดยเร็วที่สุด ไม่ควรปล่อยไว้จนกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน หรือก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ

ตาปลาเกิดจากอะไร

ตาปลาเกิดจากผิวหนังถูกกดทับหรือเสียดสีเป็นเวลานาน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากพฤติกรรมที่ทำซ้ำ ๆ เป็นประจำทุกวัน ดังนี้

  • การสวมรองเท้าที่คับหรือหลวมจนเกินไป รวมถึงการสวมรองเท้าโดยไม่ใส่ถุงเท้า อาจทำให้ผิวหนังเสียดสีกับผิวรองเท้าที่เป็นหนัง ยาง พลาสติก และตะเข็บของรองเท้าขณะเดินหรือวิ่ง
  • การยกของหนัก อาจทำให้ผิวหนังบริเวณฝ่ามือได้รับแรงกดทับและอาจเสียดสีกับวัตถุ จนส่งผลให้ผิวหนังหนาขึ้น และเกิดตาปลาบริเวณที่มือได้
  • การเล่นเครื่องดนตรีเป็นประจำ เช่น กีต้าร์ ไวโอลิน อาจส่งผลให้ผิวหนังที่สัมผัสกับเครื่องดนตรี เช่น บริเวณปลายนิ้ว ถูกเสียดสีและกดทับจนเป็นตาปลาได้
  • การใช้เครื่องมือช่าง สำหรับผู้ที่ต้องใช้เครื่องมือช่างต่าง ๆ เป็นประจำ อาจทำให้ผิวหนังบริเวณมือและนิ้วมือได้รับแรงกดทับซ้ำ ๆ จนผิวหนังบริเวณนั้นหนาขึ้นและเกิดเป็นตาปลาได้
  • การเล่นกีฬา การฝึกซ้อมกีฬาหรือเล่นกีฬาที่ต้องสวมรองเท้าเป็นเวลานาน การยกน้ำหนักโดยไม่สวมถุงมือ การจับลูกบอลมือเปล่าบ่อย ๆ อาจทำให้ผิวหนังถูกเสียดสีและนำไปสู่ตาปลาได้
  • ภาวะนิ้วเท้าหงิกงอผิดปกติ (Hammer toe) เป็นภาวะที่นิ้วเท้าโค้งงอเข้าหานิ้วอื่น ๆ ซึ่งอาจทำให้มีการเสียดสีและการกดทับ และส่งผลให้เป็นตาปลาได้

อาการของตาปลา

อาการของตาปลา อาจสังเกตได้ดังนี้

  • ผิวหนังเป็นตุ่มหนาและแข็ง
  • ผิวหนังบริเวณตุ่มตาปลาหยาบกร้าน แห้งเป็นขุย หรืออาจมีลักษณะคล้ายขี้ผึ้ง
  • รู้สึกเจ็บเมื่อกดหรือสัมผัสที่ตุ่ม
  • ผิวหนังบริเวณรอบตาปลามีสีเหลืองหรือสีแดงตามอาการจากการถูกเสียดสีและกดทับ

สำหรับผู้ที่มีผิวหนังหนาโดยเฉพาะบริเวณฝ่าเท้า ใต้ส้นเท้า ฝ่ามือ หัวเข่า และไม่มีอาการเจ็บปวด อาจเป็นเพียงปัญหาผิวหนังด้าน นอกจากนี้ หากมีอาการเจ็บปวดรุนแรงบริเวณตุ่มหรือผิวหนังที่หนาขึ้น ควรเข้าพบคุณหมอทันที ไม่ควรรักษาด้วยตัวเองเพราะอาจเสี่ยงติดเชื้อได้

การรักษาตาปลา

วิธีรักษาตาปลา มีดังนี้

  • ใช้ยากำจัดตาปลา คุณหมออาจแนะนำให้ใช้แผ่นแปะที่มีกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) 40% แปะบริเวณตาปลาเพื่อช่วยให้ตาปลาหลุดลอกออกได้ง่ายขึ้น ควรใช้ร่วมกับการขัดผิวเพื่อช่วยขจัดเซลล์ผิวเก่าออกก่อนเปลี่ยนแผ่นแปะ สำหรับผู้ที่มีตาปลาขนาดใหญ่ คุณหมออาจให้ใช้กรดซาลิไซลิกในรูปแบบเจลแทน
  • ตัดหนังส่วนเกินออก คุณหมออาจค่อย ๆ ตัดผิวหนังที่หนาหรือตัดตาปลาที่มีขนาดใหญ่ออกด้วยมีดผ่าตัด วิธีนี้ควรทำโดยคุณหมอเท่านั้น อย่าทำเอง เพราะอาจทำให้ติดเชื้อได้
  • การผ่าตัด เพื่อแก้ไขการเรียงตัวของกระดูกใหม่ เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเรียงตัวของกระดูกที่ก่อให้เกิดการเสียดสี

วิธีป้องกันตาปลา

วิธีป้องกันตาปลา อาจทำได้ดังนี้

  • สวมรองเท้าที่พอดีกับเท้า ไม่หลวมหรือคับจนเกินไป เพื่อไม่ให้ผิวหนังบริเวณเท้ากดทับหรือเสียดสีกัน
  • หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าหัวแหลม เพื่อป้องกันนิ้วเท้าถูกบีบรัด กดทับ หรือเสียดสีกัน
  • สวมถุงเท้าก่อนสวมรองเท้า และควรเลือกถุงเท้าที่มีขนาดพอดี ครอบคลุมเท้า ส้นเท้า และตาตุ่ม
  • ใช้แผ่นรองเท้าที่นุ่มเป็นพิเศษ เพื่อช่วยลดการเสียดสีและการกดทับ เหมาะสำหรับผู้ที่มีลักษณะเท้าผิดปกติ
  • สวมถุงมือทุกครั้งหากยกน้ำหนัก ทำงานเกี่ยวกับการใช้แรง หรือใช้เครื่องมือช่าง เพื่อป้องกันการเสียดสี
  • บำรุงผิวด้วยการทาผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง เช่น ครีมทามือ โลชั่น มอยส์เจอร์ไรเซอร์
  • ขัดผิวหนัง โดยควรแช่เท้าในน้ำอุ่นประมาณ 5-10 นาที เพื่อให้ผิวหนังนิ่ม และขัดกำจัดเซลล์ผิวเก่าที่ตายแล้ว วิธีนี้อาจช่วยป้องกันการเกิดตาปลาได้

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Corns and calluses. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/corns-and-calluses/symptoms-causes/syc-20355946. Accessed April 22, 2022  

Corns and calluses. https://www.nhs.uk/conditions/corns-and-calluses/. Accessed April 22, 2022  

Corns and calluses. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/calluses-and-corns. Accessed April 22, 2022  

HOW TO TREAT CORNS AND CALLUSES. HTTPS://WWW.AAD.ORG/PUBLIC/EVERYDAY-CARE/INJURED-SKIN/BURNS/TREAT-CORNS-CALLUSES. Accessed April 22, 2022  

Understanding Corns and Calluses — the Basics. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/understanding-corns-calluses-basics. Accessed April 22, 2022  

เวอร์ชันปัจจุบัน

19/07/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีดูแลผิวหนัง ให้ผิวแข็งแรง ดูสุขภาพดี

เท้าลอก เกิดจากอะไร มีวิธีดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 19/07/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา