ปานดำ คือ จุดสีดำบนผิวที่มีมาตั้งแต่กำเนิด อาจมีในรูปแบบนูนหรือเรียบไปกับผิว สามารถปรากฏบนผิวหนังได้ทั่วทั้งร่างกายและอาจมีมากกว่า 1 ตำแหน่ง ปานดำมักไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่อาจส่งผลให้รู้สึกขาดความมั่นใจเมื่อต้องแต่งตัวเผยผิว ดังนั้น จึงควรปรึกษาคุณหมอถึงวิธีการกำจัดปานดำ เพื่อให้คุณหมอประเมินสภาพผิวและทำการรักษาได้อย่างเหมาะสม
[embed-health-tool-bmr]
ปานดำ เกิดจากอะไร
ปานดำ อาจเกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนที่ถ่ายทอดในครอบครัว ซึ่งมักปรากฏให้เห็นได้ตั้งแต่กำเนิด หรือหลังจากคลอดได้ไม่นาน โดยสามารถจางหายไปเองได้เมื่อเติบโตขึ้นหรืออาจปรากฏบนผิวหนังถาวร นอกจากนี้ บางคนอาจมีปานดำปรากฏขึ้นในภายหลังที่อาจมีสาเหตุมาจากการผลิตเซลล์เม็ดสีเมลานินมากเกินไปหรืออาจเกิดจากหลอดเลือดส่วนใดส่วนหนึ่งของผิวหนังมีการรวมตัวมากเกินไป จึงทำให้สีผิวบริเวณนั้นคล้ำขึ้นกว่าปกติ
ประเภทของปานดำ
ปานดำมีลักษณะที่แตกต่างกันตามประเภทของปานดำ ดังต่อไปนี้
- ปานมองโกเลียน (Mongolian Spots) มีลักษณะเป็นจุดหรือปื้นใหญ่ที่มีเทาอมเขียว หรือสีเทาอมดำเหมือนรอยฟกช้ำ
- ปานสีกาแฟใส่นม (Café-Au-Lait Spots) มีลักษณะเป็นวงรี แบน และมีสีน้ำตาลอ่อน น้ำตาลเข้มคล้ายกาแฟ บางคนอาจปรากฏเป็นสีดำเข้มและอาจจางลงตามช่วงอายุที่มากขึ้น
- ปานดำแต่กำเนิด หรือไฝ มีลักษณะนูน สีน้ำตาลหรือดำเข้ม และอาจมีขนงอกออกมาตรงกลางของไฝ ซึ่งมีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ และอาจพัฒนาเป็นมะเร็งผิวหนังได้ ดังนั้น จึงควรเข้ารับการตรวจเป็นประจำทุกปี
ปานดำ อันตรายหรือไม่
โดยปกติแล้วปานดำที่มีลักษณะเป็นแผ่นราบมักไม่ส่งผลอันตรายต่อร่างกาย แต่อาจทำให้รู้สึกขาดความมั่นใจได้ โดยเฉพาะปานดำที่ปรากฏบนผิวหนังนอกร่มผ้า เช่น ใบหน้า คอ แขน ขา แต่สำหรับผู้ที่มีปานดำนูนหรือมีลักษณะคล้ายไฝที่ขยายใหญ่อย่างต่อเนื่อง มีสีคล้ำขึ้น มีอาการคันและมีเลือดออก อาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งผิวหนัง ดังนั้นจึงควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว
ปานดำรักษาได้อย่างไร
ปานดำอาจจางลงได้ตามการขยายของผิวหนังเมื่อเจริญเติบโตขึ้น แต่สำหรับผู้ที่มีปานดำถาวรและต้องการกำจัดปานดำ อาจรักษาได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ เช่น โพรพราโนลอล (Propranolol) ทิโมลอล (Timolol) ใช้ในปานที่เกิดจากหลอดเลือด เพื่อลดการไหลเวียนของเลือดและส่งผลให้เซลล์บริเวณนั้นตายลง ไม่ให้ปานดำแบบนูนขยายใหญ่ขึ้น การใช้กลุ่มยานี้รักษาปานดำควรได้รับการสั่งจ่ายจากคุณหมอเท่านั้น
- เลเซอร์ คุณหมออาจใช้แสงเลเซอร์ความเข้มข้นสูงยิงเข้าสู่บริเวณที่เป็นปานดำเพื่อลดขนาดของปานและอาจช่วยทำให้สีของปานดำจางลง
- การผ่าตัด เป็นวิธีกำจัดปานดำที่เห็นผลรวดเร็ว เหมาะสำหรับการรักษาปานดำแบบนูน แต่ก็อาจทิ้งรอยแผลเป็นจากการผ่าตัด เพื่อลดรอยแผลเป็นให้จางลงควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการรักษาแผลเป็นร่วมด้วย เช่น การฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์ การฉีดฟิลเลอร์ การใช้เลเซอร์ การใช้ผลิตภัณฑ์ลดรอยแผลเป็นที่มีในรูปแบบครีม เจลและขี้ผึ้ง
- ใช้เครื่องสำอาง เช่น รองพื้น คอนซีลเลอร์ เพื่อช่วยกลบรอยปานดำชั่วคราว วิธีนี้ไม่ทำให้เจ็บตัวแต่อาจทำให้เครื่องสำอางเปรอะเปื้อนเสื้อผ้าได้
สำหรับผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าปานดำเกิดจากมะเร็งผิวหนัง คุณหมออาจรักษาด้วยการใช้ไนโตรเจนเหลวเพื่อแช่แข็งเซลล์มะเร็งให้หลุดออก ซึ่งเหมาะกับผู้ที่เป็นมะเร็งผิวหนังในระยะเริ่มต้น แต่สำหรับผู้ที่มีเซลล์มะเร็งระดับปานกลางหรือรุนแรงคุณหมออาจผ่าตัดเซลล์มะเร็งออก ร่วมกับการฉายรังสีและเคมีบำบัดเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่