backup og meta

วิธีแก้ขาหนีบดำ อย่างเป็นธรรมชาติ และวิธีป้องกันขาหนีบดำ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 12/03/2022

    วิธีแก้ขาหนีบดำ อย่างเป็นธรรมชาติ และวิธีป้องกันขาหนีบดำ

    ผิวในบางบริเวณ โดยเฉพาะบริเวณต้นขาด้านในหรือที่เรียกว่าขาหนีบ อาจเกิดปัญหาดำ คล้ำ หรือด้าน ได้ค่อนข้างง่ายกว่าผิวหนังบริเวณอื่น ขาหนีบดำอาจเกิดจากการเสียดสีของผิวหนัง การใช้ยา เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้ผิวหนังบริเวณต้นขาด้านในผลิตเมลานินหรือเม็ดสีออกมามากเกินไป อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้ วิธีแก้ขาหนีบดำ ด้วยตัวเอง อาจช่วยบรรเทาปัญหาขาหนีบดำได้ อย่างไรก็ตาม หากขาหนีบดำพร้อมกับมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อหาสาเหตุและวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่สุด

    ขาหนีบดำ คล้ำ เกิดจากอะไร

    ภาวะผิวหนังบริเวณต้นขาด้านใน หรือที่เรียกว่าขาหนีบ มีสีดำ คล้ำ หรือด้านกว่าผิวหนังบริเวณอื่น อาจเป็นผลมาจากการที่ผิวหนังบริเวณนั้นผลิตเมลานินหรือเม็ดสีออกมามากเกินไป ทำให้ผิวหนังมีสีเข้มขึ้นเฉพาะจุด ภาวะนี้เรียกว่า จุดด่างดำบนผิวหนัง หรือภาวะไฮเปอร์พิกเมเทชั่น (Hyperpigmentation) อาจเกิดจากสาเหตุเหล่านี้

    สาเหตุที่ทำให้ ขาหนีบดำ

    • น้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน

    ทำให้ขาหนีบหรือต้นขาด้านในเสียดสีกันเวลาที่เคลื่อนไหวร่างกาย โดยเฉพาะเวลาเดินหรือวิ่ง จนทำให้ผิวหนังเปลี่ยนสีหรือสีด่าง และคันผิวหนังบริเวณนั้น หรือที่เรียกว่า ผิวหนังระคายเคืองจากการเสียดสี (Chafing)

  • ฮอร์โมนไม่สมดุล
  • ผู้หญิงบางคนอาจสังเกตเห็นว่าขาหนีบมีสีคล้ำขึ้นในช่วงมีประจำเดือน นอกจากนี้ ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงตั้งครรภ์และช่วงให้นมบุตรก็อาจทำให้ขาหนีบดำขึ้นได้ หรือผู้หญิงที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome หรือ PCOS) ก็อาจมีภาวะขาหนีบดำคล้ำได้เช่นกัน

    • ภาวะรอยปื้นดำที่ผิวหนัง หรืออะแคนโทสิส นิกริแคน (Acanthosis Nigricans)

    หรือที่เรียกกันว่า โรคผิวหนังช้าง เป็นภาวะที่ผิวหนังมีสีเข้มและหนาขึ้น พบมากในบริเวณข้อพับ หลังคอ รักแร้ รวมถึงต้นขาด้านในหรือขาหนีบด้วย ภาวะนี้มักพบในคนอ้วนที่รับประทานอาหารจำพวกแป้งหรือน้ำตาลมาก บ่งบอกถึงระดับน้ำตาลในเลือดสูง และอาจเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้ในอนาคต

    • การใช้ยา

    ยาบางชนิดสามารถทำให้ผิวหนังเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ฉะนั้น ก่อนใช้ยา ควรศึกษาผลข้างเคียงและอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาให้ถี่ถ้วน และควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งก่อนใช้ยา เผื่อคุณหมอจะสามารถแนะนำยาหรือทางเลือกอื่นในการรักษาภาวะสุขภาพที่เป็นได้โดยไม่ทำให้ขาหนีบดำ หรือสีผิวบริเวณต้นขาด้านในคล้ำขึ้น

    • การเสียดสี

    การสวมใส่เสื้อผ้าที่คับหรือรัดแน่นเป็นเวลานานอาจทำให้ผิวหนังถูกเสียดสีจนส่งผลให้ขาหนีบดำขึ้นได้ นอกจากนี้ ภาวะเหงื่อออกมากเกินไป ก็สามารถทำให้ขาหนีบดำคล้ำขึ้นได้เช่นกัน

    นอกจากสาเหตุดังกล่าวแล้ว ปัญหาผิวแห้ง ผิวหนังโดนแสงแดด โรคเบาหวาน ก็สามารถทำให้ขาหนีบดำคล้ำขึ้นได้เช่นกัน

    วิธีแก้ขาหนีบดำ ง่าย ๆ ที่บ้าน

    วิธีเหล่านี้อาจช่วยแก้ขาหนีบดำได้

    1. สครับด้วยน้ำมันมะพร้าวและน้ำมะนาว

    มะนาวอุดมไปด้วยวิตามินซีที่อาจช่วยแก้ปัญหาจุดด่างดำบนผิวหนังได้ ส่วนน้ำมันมะพร้าวก็ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนังบริเวณต้นขาด้านในและขาหนีบ ช่วยให้ผิวหนังยืดหยุ่นขึ้นและลดการเสียดสี

    วิธีทำ

    ผสมน้ำมันมะพร้าวประมาณ 2-3 ช้อนโต๊ะกับน้ำมะนาวครึ่งลูก จากนั้นนำไปนวดวนบริเวณผิวหนังที่มีปัญหาอย่างน้อย 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด

    2. สครับด้วยน้ำตาล

    น้ำตาลช่วยผลัดเซลล์ผิว จึงอาจช่วยลดความหมองคล้ำของผิวหนังบริเวณขาหนีบได้ หากปัญหานั้นเกิดจากการสะสมของเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว

    วิธีทำ

    ผสมน้ำตาลทรายและน้ำผึ้งอย่างละ 1 ช้อนโต๊ะกับน้ำมะนาวเล็กน้อย จากนั้นนำไปขัดบริเวณขาหนีบเบา ๆ แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด

    3. สครับโอ๊ตมีลโยเกิร์ต

    โอ๊ตมีลนิยมนำมาใช้รักษาโรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) และใช้เป็นสครับ เพื่อผลัดเซลล์ผิวเช่นเดียวกับน้ำตาลทราย แต่อาจอ่อนโยนต่อผิวมากกว่า ส่วนโยเกิร์ตก็มีกรดแลคติกก็อาจช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว และช่วยขจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว

    วิธีทำ

    ผสมโอ๊ตมีลและโยเกิร์ตในอัตราส่วนเท่า ๆ กัน จากนั้นป้ายลงไปที่ผิวหนังและขัดเบา ๆ แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด

    4. สครับเบกกิ้งโซดา

    เบกกิ้งโซดาอาจช่วยให้ผิวดูกระจ่างใสขึ้นและช่วยผลัดเซลล์ผิวได้ แต่ควรใช้อย่างระมัดระวัง เพราะหากใช้มากไปอาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง จนปัญหาผิวหนังแย่ลงได้

    วิธีทำ

    ผสมเบกกิ้งโซดาและน้ำในอัตราส่วนเท่า ๆ กัน จากนั้นทาที่ผิวหนังบริเวณขาหนีบบาง ๆ ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาทีแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด

    5. ว่านหางจระเข้

    ว่านหางจระเข้ทั้งในรูปแบบเจล ครีม หรือว่านหางจระเข้สดอาจช่วยปลอบประโลมผิวหนังที่ระคายเคือง อีกทั้งยังมีสารที่เรียกว่า อะโลอิน (Aloin) ซึ่งเป็นสารประกอบตามธรรมชาติที่พบได้มากในยางว่านหางจระเข้ อาจมีส่วนช่วยทำให้ผิวหนังกระจ่างใสขึ้นได้

    6. ครีมหรือยาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป

    สถาบันแพทย์ผิวหนังแห่งสหรัฐอเมริกา (American Academy of Dermatology) เผยว่า สารที่อาจช่วยให้ผิวหนังกระจ่างใส ชุ่มชื้น และแข็งแรงขึ้น และไม่ค่อยพบอาการแพ้หรือทำให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่

    • สารสกัดจากถั่วเหลือง เช่น วิตามินอี เลซิติน (Lecithin)
    • ไนอะซินาไมด์ (Niacinamide) หรือวิตามินบี 3
    • กรดเอลลาจิก (Ellagic acid) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่พบมากในผักผลไม้ เช่น สตรอว์เบอร์รี แบล็กเบอร์รี ราสเบอร์รี องุ่น ทับทิม ฝรั่ง
    • เอนไซม์ลิกนินเปอร์ออกซิเดส (Lignin peroxidase) ซึ่งเป็นสารสกัดจากเชื้อรา

    นอกจากนี้ อาจมีสารบางชนิดที่มักพบในครีมบำรุงที่หาซื้อได้ทั่วไป เช่น อาร์บูติน กรดโคจิก ชะเอมเทศ (Licorice) ที่อาจช่วยบรรเทาภาวะขาหนีบดำได้ แต่ก็อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน ดังนั้น จึงควรปรึกษาคุณหมอ เภสัชกร หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจใช้ครีมบำรุงผิวเพื่อแก้ปัญหาขาหนีบดำ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาการแพ้หรือผลข้างเคียง

    วิธีป้องกัน ขาหนีบดำ

    วิธีเหล่านี้อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะขาหนีบดำได้

    • สวมใส่เสื้อผ้าทรงหลวม ไม่คับแน่นจนเกินไป และควรเป็นเนื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน
    • เวลาออกกำลังกาย โดยเฉพาะกิจกรรมที่ขยับขามาก ๆ เช่น การวิ่ง การปั่นจักรยาน ควรสวมกางเกงผ้าไนลอน หรือกางเกงสำหรับปั่นจักรยานหรือวิ่งโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันผิวหนังเสียดสีจนระคายเคือง และเกิดภาวะขาหนีบดำ
    • รักษาความสะอาดและผลัดเซลล์ผิวบริเวณขาหนีบเป็นประจำ เพื่อป้องกันการสะสมของเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว และทาครีมบำรุงบ่อย ๆ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง
    • หลีกเลี่ยงการโกนขนหรือแว็กซ์ขนบริเวณนั้นบ่อยเกินไป เพื่อป้องกันการระคายเคือง
    • ทาครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟอย่างน้อย 30 เมื่อต้องออกแดด โดยเฉพาะเวลาสวมชุดว่ายน้ำ และควรหลีกเลี่ยงแสงแดดหากทำได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 12/03/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา