backup og meta

อยากเผยผิวแต่ มีสิวที่หลัง จัดการอย่างไรได้บ้าง

อยากเผยผิวแต่ มีสิวที่หลัง จัดการอย่างไรได้บ้าง

มีสิวที่หลัง ถือเป็นหนึ่งในปัญหาสิวที่พบได้บ่อย รองจากสิวบนใบหน้า และทำให้หลายคนหมดความมั่นใจ ในเวลาที่ต้องสวมใส่เสื้อผ้าที่โชว์แผ่นหลัง อย่างไรก็ตาม การมีสิวที่หลังสามารถป้องกันและรักษาได้ไม่ยาก เพียงแต่ต้องหมั่นดูแลรักษาความสะอาด สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี และอย่ามองข้ามความสะอาดของเส้นผม

[embed-health-tool-bmi]

มีสิวที่หลัง เกิดจากอะไร

ผิวหนังทั่วร่างกายรวมไปถึงบริเวณแผ่นหลัง จะมีต่อมไขมัน (Sebaceous Gland) ที่เชื่อมต่อกับรูขุมขน คอยหลั่งน้ำมันที่เรียกว่า ซีบัม (Sebum) หรือไขผิวหนังออกมาเพื่อช่วยให้ผิวหนังและเส้นขนชุ่มชื้นอยู่เสมอ แต่หากต่อมไขมันผลิตซีบัมมากเกินไป ประกอบกับมีแบคทีเรียและเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วอยู่บนแผ่นหลัง อาจทำให้รูขุมขนอุดตันจนเกิดเป็นสิวชนิดต่าง ๆ เช่น สิวอักเสบ สิวหัวหนอง รวมไปถึงเป็นสิวหัวขาวที่แผ่นหลัง ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นสิวหัวดำได้เมื่อทำปฏิกิริยากับออกซิเจนนอกรูขุมขน

สิวที่หลังนั้นสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อยได้แก่

  • กรรมพันธุ์ แม้การเกิดสิวจะไม่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่สภาพผิวหนังที่ทำให้เป็นสิวง่าย เช่น รูขุมขนกว้าง หน้ามัน นั้นสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
  • การใช้ยา ยาบางชนิด เช่น ยาต้านซึมเศร้า (antidepressants) อาจส่งผลข้างเคียงทำให้ผู้ใช้เกิดสิวได้
  • ฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนถือเป็นสาเหตุหลักของการเกิดสิวในช่วงวัยรุ่น และสำหรับผู้หญิง ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในช่วงมีประจำเดือนหรือช่วงตั้งครรภ์ ก็สามารถทำให้เกิดเป็นสิวได้
  • เหงื่อ เมื่อมีเหงื่อออก โดยเฉพาะหากสวมเสื้อผ้ารัด ๆ ก็สามารถทำให้เกิดสิว หรือทำให้ปัญหาสิวที่หลังแย่ลงได้
  • ความเครียด แม้จะไม่ได้เป็นสาเหตุของสิวโดยตรง แต่ก็สามารถทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายแปรปรวน เช่น ทำให้ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง จนทำให้เกิดสิวได้เช่นกัน
  • อาหาร การรับประทานอาหารบางชนิด เช่น ธัญพืชขัดสี น้ำตาล ผลิตภัณฑ์นม อาหารฟาสต์ฟู้ด ช็อกโกแลต ในปริมาณมากเกินไปอาจเป็นตัวการกระตุ้นให้เกิดสิว

มีสิวที่หลัง สามารถรักษาและป้องกันได้

หากไม่อยากมีสิวที่หลัง หรืออยากรักษาสิวที่เป็นอยู่ และป้องกันสิวใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อาจลองปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้

  • อาบน้ำทันทีหลังออกกำลังกายเสร็จ

หากออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออกมาก ควรรีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทันที หรือให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อป้องกันเชื้อโรคและสิ่งสกปรกหมักหมมที่ผิวหนัง จนเกิดเป็นสิวที่แผ่นหลัง หรือทำให้สิวที่เป็นอยู่แล้วแย่ลง นอกจากนี้ ไม่ควรทิ้งเสื้อผ้าที่ชุ่มเหงื่อเอาไว้ แต่ควรซักทันที เพื่อป้องกันเชื้อโรคเชื้อราสะสมในผ้า

  • สวมเสื้อผ้าหลวม ๆ

การสวมเสื้อผ้าคับหรือรัดเกินไปทั้งในขณะออกกำลังกาย หรือใช้ชีวิตประจำวัน จะยิ่งกระตุ้นให้เกิดสิวที่หลัง เพราะทำให้เหงื่อและสิ่งสกปรกเสียดสีกับผิวหนังได้มากขึ้น ดังนั้น ควรสวมใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ หรือเนื้อผ้าที่โปร่งสบาย ระบายอากาศได้ดี ไม่ระคายเคืองผิวหนัง เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน

  • ดูแลผิวอย่างเหมาะสม

หากเป็นสิวที่หลัง ควรทำความสะอาดผิวด้วยผลิตภัณฑ์อาบน้ำที่มีส่วนผสมของซาลิไซลิก แอซิด (Salicylic Acid) และหลีกเลี่ยงการสครับผิว ซึ่งอาจเป็นการรบกวนผิวมากเกินไป บำรุงผิวเป็นประจำด้วยครีมหรือโลชั่นที่อ่อนโยนต่อผิว และไม่มีส่วนผสมที่อุดตันรูขุมขน รวมไปถึงห้ามบีบ หรือแกะเกาสิวที่หลังเด็ดขาด เพราะจะทำให้ผิวหนังอักเสบกว่าเดิม และอาจเป็นแผลเป็นหรือรอยดำหลงสิวหาย

  • อย่าละเลยเรื่องเส้นผม

สำหรับคนที่ผมยาว หากเส้นผมสัมผัสผิวหนังบริเวณแผ่นหลังบ่อย ๆ สิ่งสกปรกหรือน้ำมันที่ติดอยู่บนเส้นผมอาจทำให้เกิดสิวที่หลังได้ ควรสระผมให้สะอาดและเป่าให้แห้งทันที และหากต้องออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่มีเหงื่อออกเยอะ ก็ควรรวบผมให้เรียบร้อย ไม่ให้เส้นผมโดนหลัง นอกจากนี้ ควรเลือกยาสระผมหรือครีมนวด ที่ไม่มีส่วนผสมที่อาจทำให้เกิดการอุดตันรูขุมขน เมื่อสระผม ควรล้างผมและผิวหนังให้สะอาด ไม่ให้มีผลิตภัณฑ์ตกค้างบนผิวหนัง

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

อาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาล glycemic index (GI) หรือปริมาณน้ำตาลสูง รวมไปถึงธัญพืชขัดสี อย่าง ขนมปังขาว ข้าวขาว และอาหารทอด สามารถกระตุ้นให้เกิดสิวได้ ควรงดหรือลดอาหารเหล่านี้ และหันมารับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อไก่ เนื้อปลา ธัญพืชไม่ขัดสี ให้มากขึ้น

  • รักษาสิวที่หลังด้วยยา

วิธีรักษาสิวที่หลังที่ได้รับความนิยมที่สุดวิธีหนึ่งก็คือ การใช้ยาทาและยารับประทาน หากเป็นสิวชนิดไม่รุนแรง สามารถซื้อครีมหรือยาทาสิวที่มีส่วนผสมของ ซาลิไซลิก แอซิด หรือเบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) จากร้านขายยาหรือร้านค้าที่ได้รับการรับรองมารักษาเองได้ โดยทายาเป็นประจำวันละ 1-2 ครั้ง จะช่วยให้สิวที่หลังลดลงและหายได้ภายใน 4-8 สัปดาห์

หากเป็นสิวที่หลังชนิดรุนแรง รวมถึงมีสิวซีสต์ หรือสิวอักเสบแบบเป็นก้อน (Nodules) ควรปรึกษาปัญหาสิวจากแพทย์ผิวหนัง โดยแพทย์อาจให้รับประทานยาที่สามารถรักษาสิวได้ เช่น

  1. ยาปฏิชีวนะ เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียและลดอาการอักเสบของสิว โดยอาจต้องรับประทานยาชนิดนี้เป็นเวลา 2-6 เดือนจึงจะเห็นผล
  2. ยาคุมกำเนิด หรือยาที่ส่งผลกับฮอร์โมน เพื่อช่วยลดปริมาณซีบัมหรือน้ำมันที่ผิวหนัง โดยอาจต้องใช้เวลา 3-4 เดือนจึงจะเห็นผล อย่างไรก็ตาม ยาจำพวกนี้อาจรบกวนการตกไข่ จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง
  3. ยาไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) จัดเป็นยารักษาสิวประสิทธิภาพสูง ที่สามารถป้องกันสิวได้ถึง 2 ปีหลังหยุดรับประทานยา แต่ยาชนิดนี้สามารถเป็นอันตรายกับทารกในครรภ์ได้ จึงไม่เหมาะกับหญิงที่ตั้งครรภ์ หรือผู้ที่วางแผนมีลูก อีกทั้งยังอาจทำให้ผู้ที่ใช้ยาเกิดอาการซึมเศร้า รวมไปถึงมีผิวแห้ง โดยเฉพาะบริเวณริมฝีปาก ผู้ป่วยที่จะรับยาชนิดนี้ จึงต้องตรวจเลือด และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อความปลอดภัย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

How to get rid of acne on the back. https://www.medicalnewstoday.com/articles/318548.php. Accessed December 31, 2022.

How to Get Rid of Back Acne: Overnight Treatments, Natural Remedies, and More. https://dermcollective.com/how-to-get-rid-of-back-acne/. Accessed December 31, 2022.

Back Acne – Causes and Treatment: The Ultimate Guide. https://www.bioclarity.com/pages/how-to-treat-back-acne. Accessed December 31, 2022.

How to Treat Back Acne and Body Acne. https://www.verywellhealth.com/treating-back-acne-15636. Accessed December 31, 2022.

BACK ACNE: HOW TO SEE CLEARER SKIN. https://www.aad.org/public/diseases/acne/DIY/back-acne. Accessed December 31, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/12/2022

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีดูแลผิวหนัง ให้ผิวแข็งแรง ดูสุขภาพดี

เลเซอร์สิวที่หลัง ช่วยรักษาสิวได้จริงหรือไม่


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 31/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา