สิวที่หลังเกิดจากความผิดปกติของต่อมไขมันที่ผลิตไขมันมากเกินไป ทำให้รูขุมขนเกิดการอุดตัน สิวที่หลังที่อาจพบได้บ่อย ได้แก่ สิวหัวขาว สิวหัวดำ สิวผด ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล การรักษาสิวที่หลัง มีหลากหลายวิธี โดยอาจรักษาได้เองที่บ้าน หรือควรพบคุณหมอหากมีอาการรุนแรง
สิวที่หลังเกิดจากอะไร
โดยปกติร่างกายจะมีต่อมไขมันที่ผลิตน้ำมันที่เรียกว่า “ซีบัม” ซึ่งช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว หากน้ำมันถูกผลิตมากเกินไป และไปรวมกับเซลล์ผิวที่ตายแล้ว อาจทำให้รูขุมขนอุดตัน จนเกิดเป็นสิวที่หลัง รวมถึงเชื้อแบคที่เรีย Propionibacterium Acne หรือ P.Acnes ที่อยู่ภายในต่อมไขมัน ก็อาจทำให้เกิดสิวได้เช่นกัน นอกจากนั้น สิวที่หลังยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น
- เหงื่อ หากเหงื่อออกหลังจากออกกำลังกาย แล้วไม่อาบน้ำ อาจทำให้สิ่งสกปรกหมักหมมในรูขุมขน รวมถึงน้ำมันที่อุดตัน ทำให้เกิดเป็นสิวได้
- ยา ผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยารักษาซึมเศร้า ยารักษาโรควิตกกังวล ยาสเตียรอยด์
- ฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่อาจเกิดจากระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยในการผลิตน้ำมันซีบัม ทำให้อาจเกิดการบวมของรูขุมขนและเกิดการอุดตัน มักเกิดในช่วงก่อนมีประจำเดือน และระหว่างมีประจำเดือน
- กรรมพันธุ์ หากบุคคลในครอบครัวมีสภาพผิวมันและเป็นสิวเยอะ อาจส่งผลให้มีโอกาสเป็นสิวได้มากกว่า เนื่องจากลักษณะของพันธุกรรมอาจทำให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมามากเกินไปและถูกส่งผ่านรุ่นต่อรุ่น
- ความเครียด อาจส่งผลให้การผลิตฮอร์โมนต่าง ๆ เช่น คอร์ติซอล ฮอร์โมนความเครียดทำงานบกพร่อง อาจส่งผลให้ต่อมไขมันทำงานหนักและผลิตซีบัมออกมามากเกินไป หากผสมกับเซลล์ผิวที่ตายอาจทำให้เกิดสิว
- อาหารบางชนิด เช่น ช็อกโกแลต อาหารมัน ๆ ขนมปังขาว มันฝรั่งทอด อาจเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดสิว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการวิจัยบ่งชี้แน่ชัดว่าอาหารเป็นสาเหตุในการเกิดสิว
8 วิธีรักษาสิวที่หลัง
การรักษาสิวที่หลังอาจสามารถทำได้โดยการปรับพฤติกรรมประจำวัน รวมถึงวิธีอื่น ๆ ดังต่อไปนี้
- สวมเสื้อผ้าหลวม ๆ เพื่อช่วยให้ระบายเหงื่อได้ดีขึ้น การสวมเสื้อผ้าที่คับแน่นขณะออกกำลังกาย อาจทำให้สิ่งสกปรกและเหงื่อเข้าไปอุดตันในรูขุมขน จนทำให้เกิดสิว หรืออาจทำให้สิวอักเสบเพิ่มเติมได้ นอกจากนั้น ควรอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าหลังออกกำลังกายหรือหลังจากที่ทำกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออก
- หลีกเลี่ยงผิวจากแสงแดด เพราะรังสีอัลตร้าไวโอเลตของแสงแดด นอกจากจะทำลายผิวแล้ว ยังอาจทำให้ผิวดำ คล้ำ และทำให้เป็นสิวเรื้อรัง ดังนั้น เมื่อจำเป็นต้องโดนแสงแดด หรือต้องอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน อาจเลือกใช้ครีมกันแดด ทั้งนี้ ครีมกันแดดที่มันเกินไปอาจทำให้รูขุมขนอุดตันได้ จึงควรเลือกครีมกันแดดที่เหมาะกับสภาพผิวของตนเอง
- รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น อาหารที่มีน้ำตาลสูง ขนมปังขาว อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และอาจทำให้สิวที่เป็นอยู่แย่ลง การรับประทานผัก ผลไม้ เช่น มะนาว แตงโม มะเขือเทศ แอปเปิ้ลเขียว อาจช่วยรักษาสิวที่หลังได้ เพราะอุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินที่ช่วยบำรุงผิวพรรณ
- ลดความเครียด เนื่องจากซีบัมส่งผลโดยตรงจากความเครียด หากเครียดมากระดับคอร์ติซอลจะเพิ่มขึ้น และทำให้ต่อมไขมันทำงานหนัก การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอจะ ช่วยให้ฮอร์โมนในร่างกายทำงานได้อย่างปกติและไม่ผลิตซีบัมมากเกินไป อาจหากิจกรรมเพื่อผ่อนคลายความเครียด เช่น ออกกำลังกาย ฟังเพลง
- ใช้ยาทาเฉพาะที่ ผลิตภัณฑ์ที่มีเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ซึ่งเป็นยาทาสำหรับรักษาสิว มีสรรพคุณต้านเชื้อแบคทีเรีย ควรทาอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง อาจส่งผลให้สิวที่หลังจางลง หากเป็นสิวที่หลังเพียงเล็กน้อยหรือปานกลาง สิวอาจหายภายใน 4-8 สัปดาห์
- รับประทานยา เช่น
- ยาคุมกำเนิด ที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจนเตอโรนเป็นส่วนประกอบ ทำให้อาจช่วยลดการผลิตน้ำมันซีบัมใต้ผิวหนัง อาจใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนจึงจะเห็นผล นอกจากนี้ บุคคลที่ยังไม่ถึงวัยเจริญพันธ์ุ หรือยังไม่มีประจำเดือน ไม่ควรใช้ยาคุม เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการตกไข่
- ยาปฏิชีวนะ เช่น แมคโครไลด์ (Macrolide) เตตราไซคลีน (Tetracyclines) เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียและลดการอักเสบ บางครั้งคุณหมอจะสั่งจ่ายยาควบคู่ไปกับยาเฉพาะที่ อาจใช้เวลารักษา 2-6 เดือน
- ไอโสเตรติโนอิน (Isotretinoin) ยาจะทำหน้าที่ยับยั้งสาเหตุของการเกิดสิว โดยกดการทำงานของต่อมไขมัน ทำให้ผลิตซีบัมลดลง สำหรับสตรีตั้งครรภ์หรือผู้ที่วางแผนตั้งครรภ์ ไม่ควรใช้ไอโสเตรติโนอิน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
- บำบัดด้วยเลเซอร์ โดยใช้รังสีพลังงานสูงที่อาจช่วยลดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวที่อาศัยอยู่ที่ต่อมไขมัน
วิธีป้องกันการเกิดสิวที่หลัง
เคล็ดลับ ในการลดความเสี่ยงของการเกิดสิวที่หลัง อาจได้แก่
- หลีกเลี่ยงการบีบสิว เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดแผลเป็นและระคายเคืองผิวหนัง ทั้งยังอาจทำให้ผิวหนังติดเชื้อได้
- หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีส่วนผสมด้วยสารเคมี น้ำหอม หรือน้ำมัน ที่อาจทำให้การระคายเคืองผิวหนัง
- สวมเสื้อผ้าที่สบายไม่คับแน่นเกินไป และเนื้อผ้าระบายอากาศได้ดี เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียดสีของผิวหนัง
- อาบน้ำหลังออกกำลังกายทุกครั้ง เพราะแบคทีเรียที่เกิดจากเหงื่อที่สะสมในเสื้ออาจเป็นสาเหตุของการเกิดสิว
- ซักผ้าปูที่นอนและปลอกหมอน รวมถึงผ้าเช็ดตัวอยู่เสมอ เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่สะสม