สิวขึ้นหน้าอก คือ ปัญหาผิวหนังที่อาจเกิดขึ้นเมื่อรูขุมขนอุดตันจากน้ำมันส่วนเกิน เซลล์ผิวที่ตายแล้ว และสิ่งสกปรก โดยอาจสังเกตได้จากอาการตุ่มนูนแดง สิวมีหนอง อาการเจ็บปวดบริเวณสิว ควรเร่งรักษาสิวที่เกิดขึ้น และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลผิวให้เหมาะสม เพื่อช่วยให้ผิวกลับมาเรียบเนียนดังเดิม
[embed-health-tool-heart-rate]
สิวขึ้นหน้าอก เกิดจากอะไร
สิวขึ้นหน้าอก เกิดจากการอุดตันของรูขุมขน เนื่องจากน้ำมันส่วนเกินและเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว จนอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว (Propionibacterium Acne หรือ P. acnes) นำไปสู่การเกิดสิวอักเสบ สิวหัวดำ หรือสิวเสี้ยน ในบริเวณหน้าอก
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่อาจกระตุ้นการเกิดสิว หรือทำให้อาการสิวแย่ลง ดังนี้
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เมื่อร่างกายผลิตแอนโดรเจน (Androgen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายที่มีอยู่ในร่างกายทั้งในผู้ชายและผู้หญิงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยแรกรุ่น ฮอร์โมนนี้อาจทำให้ต่อมไขมันขยายและสร้างไขมันส่วนเกินมากขึ้นซึ่งนำไปสู่การเกิดสิว
- อาหาร การเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมัน และคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น มันฝรั่งทอด ขนมปังขาว เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง อาจทำให้สิวมีอาการแย่ลง เนื่องจากอาหารเหล่านี้ อาจกระตุ้นให้ต่อมไขมันให้ผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นจนอุดตันในรูขุมขน
- ความเครียด อาจกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจน ซึ่งอาจส่งผลให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น ซึ่งนำไปสู่การอุดตันในรูขุมขน และอาจพัฒนาเป็นสิวอักเสบ
- ยาบางชนิด เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ เทสโทสเตอโรน ลิเทียม (Lithium) อาจส่งผลให้กระตุ้นการผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจน และผลิตน้ำมันส่วนเกิน
- พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวไม่เหมาะกับสภาพผิว ทำกิจกรรมที่กระตุ้นให้เหงื่อออกมาก การรักษาสุขอนามัยไม่ดี สาเหตุเหล่านี้อาจทำให้ผิวระคายเคือง รูขุมขนอุดตัน และอาจนำไปสู่การเกิดสิว
วิธีรักษาสิวขึ้นหน้าอก
วิธีรักษาสิวขึ้นหน้าอก คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยา ดังต่อไปนี้
- เรตินอยด์ เป็นยากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ ที่ช่วยป้องกันการอุดตันในรูขุมขน เป็นยาทาเฉพาะที่ในรูปแบบครีม โลชั่น เจล เช่น อะดาพาลีน (Adapalene) ทาซาโรทีน (Tazarotene) ควรใช้ยานี้ในช่วงเวลากลางคืน เพราะเรตินอยด์อาจทำให้ผิวไวต่อแดด ผิวแห้ง ในระยะแรกควรใช้ 3 ครั้ง/สัปดาห์ จนกว่าผิวจะปรับตัวเข้ากับยา จึงจะสามารถใช้ได้ทุกวัน สำหรับยาเรตินอยด์ในรูปแบบรับประทาน เช่น ไอโซเตรติโนอิน (Isotretinoin) อาจเหมาะกับผู้ที่เป็นสิวระดับปานกลางถึงรุนแรง ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในกรณีที่ไม่มีการตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ
- ยาปฏิชีวนะ ใช้เพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ลดรอยแดง และบรรเทาอาการอักเสบของสิว ในช่วง 2-3 เดือนแรกของการรักษา อาจจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะแบบทาเฉพาะที่ในช่วงเช้า และใช้ยาเรตินอยด์ตอนกลางคืนควบคู่กัน นอกจากนี้ ยาปฏิชีวนะมีในรูปแบบรับประทานเพื่อรักษาสิว ได้แก่ เตตราไซคลีน (Tetracycline) แมคโครไลด์ (Macrolides) สตรีตั้งครรภ์และเด็กที่อายุต่ำกว่า 8 ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเตตราไซคลีน เพราะอาจทำให้ฟันเปลี่ยนสีถาวร และเกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์
- แดพโซน (Dapsone) คือ ยาทาเฉพาะที่ในรูปแบบเจล เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวอักเสบ ควรทาวันละ 2 ครั้ง หรือตามคำแนะนำของคุณหมอ
- กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) มีคุณสมบัติช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันการอุดตันของรูขุมขน สามารถเลือกใช้ได้ทั้งแบบทาทิ้งไว้ข้ามคืนหรือทาแล้วล้างออก ควรทาวันละ 1-2 ครั้ง หรือตามดุลพินิจของคุณหมอ
- ยาคุมกำเนิด ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินและเอสโตรเจน ที่อาจช่วยรักษาสิว ลดฮอร์โมนแอนโดรเจนที่มีส่วนทำให้ต่อมน้ำมันขยายและผลิตน้ำมันส่วนเกิน ควรใช้ร่วมกับยารักษาสิวอื่น ๆ ในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก
- สารต้านแอนโดรเจน เป็นยาที่ช่วยปิดกั้นการทำงานของฮอร์โมนแอนโดรเจนที่กระตุ้นการผลิตต่อมน้ำมัน ซึ่งนำไปสู่การเกิดสิว
- การกดสิว คุณหมออาจใช้อุปกรณ์สำหรับกดสิวเพื่อกำจัดสิวหัวขาวออก ซึ่งวิธีนี้ควรให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการกดสิวเป็นคนรักษาเท่านั้น ไม่ควรกดหรือบีบสิวเอง เพราะอาจก่อให้เกิดการอักเสบและรอยแผลเป็น
- การฉีดสเตียรอยด์ เป็นการรักษาด้วยการฉีดสเตียรอยด์เข้าสู่สิวโดยตรง ที่อาจช่วยลดอาการบวมแดง และการเจ็บปวดของสิว แต่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น ผิวหนังบาง ผิวหนังบริเวณที่รักษาเปลี่ยนสี
การป้องกันสิวขึ้นหน้าอก
การป้องกันสิวขึ้นหน้าอก อาจทำได้ ดังนี้
- ทำความสะอาดร่างกาย โดยเฉพาะหลังจากทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรก เช่น เหงื่อ ฝุ่น ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่อ่อนโยนต่อผิว หรือเลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ช่วยรักษาสิวและไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองผิว อีกทั้งยังควรอาบน้ำด้วยน้ำอุ่น หลีกเลี่ยงน้ำร้อนหรือน้ำเย็นมากเพราะอาจทำให้สิวมีอาการแย่ลง
- ควรเลือกใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว และหลีกเลี่ยงการใช้ครีมหรือ โลชั่นที่มีส่วนประกอบของสารเคมี น้ำหอมและ น้ำมัน เพราะอาจก่อให้เกิดการอุดตันในรูขุมขน และระคายเคืองผิว ทำให้เกิดสิวขึ้น
- ไม่บีบสิว หรือแกะสิวเอง เพราะอาจทำให้สิวอักเสบ ควรให้คุณหมอด้านผิวหนังเป็นคนทำเท่านั้น
- ปกป้องผิวจากแสงแดด โดยการใช้ครีมกันแดดก่อนออกจากบ้าน เพราะแสงแดดอาจทำให้ผิวแห้ง อักเสบ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดสิวใหม่ซ้ำ ๆ อีกทั้งยารักษาสิวบางชนิดอาจไวต่อแสง ส่งผลให้ผิวไหม้ และอาการสิวแย่ลง
- หลีกเลี่ยงการให้ผิวถูกเสียดสี เช่น การขัดผิว การเสียดสีจากเสื้อผ้าที่รัดแน่น เพราะทำให้ผิวระคายเคืองได้
- ใช้ยารักษาสิวที่คุณหมอแนะนำเป็นประจำอย่างเคร่งครัด เพื่อลดอาการอักเสบของสิว และฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวขึ้นบนหน้าอกซ้ำ