สิวขึ้นหัว หรือสิวที่เกิดขึ้นบริเวณหนังศีรษะ มีสาเหตุมาจากการอุดตันของรูขุมขน และการติดเชื้อบริเวณหนังศีรษะ อาจดูแลให้อาการดีขึ้นได้ด้วยการเลือกใช้ยาสระผมที่ผสมตัวยาสำหรับดูแลหนังศีรษะติดเชื้อ นอกจากนี้ สิวขึ้นหัวยังป้องกันได้ด้วยการดูแลรักษาความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะอยู่เสมอ
[embed-health-tool-bmr]
สิวขึ้นหัว เกิดจากอะไร
สิวขึ้นหัวหรือสิวบริเวณหนังศีรษะ มีสาเหตุเช่นเดียวกับสิวที่ขึ้นตามบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย ดังนี้
- รูขุมขนอุดตัน เนื่องจากน้ำมันจากต่อมใต้ผิวหนังที่ผลิตออกมามากเกินไป หรือเกิดการสะสมของเหงื่อไคลหรือสิ่งสกปรกต่าง ๆ บนหนังศีรษะ
- รูขุมขนอักเสบ เนื่องจากเชื้อราหรือแบคทีเรียต่าง ๆ เช่น สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) คิวติแบคทีเรียม แอคเน่ (Cutibacterium Acnes หรือ C.Acne)
- การใช้ผลิตภัณฑ์ไม่เหมาะกับสภาพเส้นผมและหนังศีรษะ อย่างแชมพู ครีมนวดผม หรือสเปรย์ เพราะผลิตภัณฑ์บางชนิดอาจทำให้หนังศีรษะมันง่ายกว่าปกติและรูขุมขนอุดตันหรืออักเสบได้ง่ายขึ้น
- ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgens) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่น โดยฮอร์โมนนี้จะกระตุ้นต่อมใต้ผิวหนังให้ผลิตน้ำมันมากขึ้น และอาจทำให้เกิดสิวได้
สิวขึ้นหัว มีลักษณะอย่างไร
สิวที่พบบนหนังศีรษะนั้น มีลักษณะเหมือนกับสิวโดยทั่วไป โดยอาจแบ่งได้ตามระดับความรุนแรงออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
สิวรุนแรงเล็กน้อย
- สิวหัวขาว เป็นสิวอุดตันแบบหัวปิด ลักษณะเป็นตุ่มสีขาวเล็ก ๆ
- สิวหัวดำ เป็นสิวอุดตันแบบหัวเปิด โดยส่วนที่เป็นสีดำเกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันระหว่างเม็ดสีผิวกับออกซิเจนในอากาศ
สิวรุนแรงปานกลาง
- สิวตุ่มนูน (Papule) เป็นสิวอักเสบที่เป็นตุ่มหนองเล็ก ๆ อาจทำให้รู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัสหรือถูกเสียดสี
- สิวหัวหนอง (Pustule) เป็นสิวอักเสบอีกแบบหนึ่ง ลักษณะคล้ายสิวตุ่มนูน แต่มีหนองสะสมอยู่ภายในเม็ดสิวมากกว่า และมักเห็นบริเวณรอบ ๆ สิวเป็นสีแดงอย่างชัดเจน
สิวรุนแรงมาก
- สิวอักเสบ (Nodule) เป็นสิวหัวปิด ลักษณะเป็นตุ่มนูนที่ใหญ่และแข็ง
- สิวซีสต์ (Cyst) เป็นสิวที่รุนแรงที่สุด มีลักษณะเป็นก้อนหนองขนาดใหญ่ซึ่งมักทำให้รู้สึกเจ็บปวด
สิวขึ้นหัว รักษาได้อย่างไร
สิวบริเวณหนังศีรษะนั้น อาจดูแลตนเองเบื้องต้นได้ด้วยการใช้ครีมหรือแชมพูที่ผสมตัวยาต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) เป็นตัวยาที่พบบ่อยในผลิตภัณฑ์รักษาสิว มีคุณสมบัติช่วยขจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วออก ทำให้ไม่เกิดการอุดตันในรูขุมขน
- กรดไกลโคลิค (Glycolic Acid) มีฤทธิ์ช่วยผลัดเซลล์ผิว ซึ่งช่วยในการกำจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว น้ำมัน หรือแบคทีเรีย ที่อุดตันในรูขุมขน
- คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) เป็นยาต้านเชื้อรา ใช้สำหรับรักษาสิวที่เกิดจากการติดเชื้อราบนศีรษะ นอกจากนี้ ยาต้านเชื้ออีกชนิดที่พบได้ในผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมและหนังศีรษะ คือไซโคลพิรอกซ์ (Ciclopirox)
ทั้งนี้ หากสิวขึ้นหัวมีสาเหตุมาจากการใช้แชมพูหรือผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมต่าง ๆ ให้หยุดใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทันที โดยสิวมักจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 6 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม หากรักษาสิวขึ้นหัวด้วยวิธีข้างต้นใช้ไม่ได้ผล หรือสิวมีอาการอักเสบรุนแรงถึงขั้นทำให้ผมร่วงควรไปพบคุณหมอ โดยคุณหมออาจจ่ายยาฤทธิ์แรง อย่างสเตรียรอยด์หรือยาไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) ให้ทาบริเวณที่เป็นสิว
การป้องกัน สิวขึ้นหัว ทำได้อย่างไร
สิวบริเวณหนังศีรษะ อาจป้องกันได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้
- สระผมทันทีหลังออกกำลังกาย หรือเมื่อออกไปเผชิญแดดจนทำให้เหงื่อออกมาก เพราะหากปล่อยให้หนังศีรษะชื้นเป็นเวลานานมักทำให้เชื้อราบนหนังศีรษะเพิ่มจำนวนขึ้นและอาจนำไปสู่ปัญหาผิวหนังที่รุนแรงกว่าสิวได้
- ล้างยาสระผมและครีมนวดผมออกจากศีรษะให้เกลี้ยง เพราะหากมีสารเคมีตกค้างจะยิ่งเพิ่มโอกาสให้รูขุมขนอุดตันได้ง่ายยิ่งขึ้น
- เลือกใส่หมวก หรืออุปกรณ์ป้องกันศีรษะที่ไม่รัดแน่นจนเกินไป ควรถอดออกเมื่อไม่จำเป็น
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมที่ปราศจากน้ำมัน หรือไม่ทำให้เกิดอาการแพ้
- ทำความสะอาดของใช้ที่ต้องสัมผัสกับศีรษะหรือเส้นผมเป็นประจำ อย่างปลอกหมอน หมวก ผ้าปูที่นอน หรือผ้าห่ม