backup og meta

ยาสระผม ควรเลือกอย่างไร ให้เหมาะกับสภาพของเส้นผม

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    ยาสระผม ควรเลือกอย่างไร ให้เหมาะกับสภาพของเส้นผม

    ยาสระผม เป็นผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมและหนังศีรษะ ช่วยชำระล้างสิ่งสกปรก ฝุ่นละออง เหงื่อไคล และรักษาความชุ่มชื้น ทั้งนี้ สภาพผมที่แตกต่างกันควรใช้ยาสระผมที่มีส่วนผสมต่างกัน เช่น ผมแห้ง ควรใช้ยาสระผมที่มีส่วนผสมของซิลิโคน น้ำมัน หรือกลีเซอรอล (Glycerol) เพราะช่วยรักษาความชุ่มชื้นของเส้นผมไว้ได้มากกว่า ผมมัน ควรใช้ยาสระผมที่ผสมสารที่มีฤทธิ์ทำความสะอาดสูง เพราะจะช่วยกำจัดน้ำมันบนเส้นผมและหนังศีรษะได้ดีกว่ายาสระผมสูตรทั่วไป

    ยาสระผม มีประโยชน์อย่างไร

    การสระผมด้วยยาสระผม มีประโยชน์ต่อเส้นผมและหนังศีรษะดังต่อไปนี้

  • ช่วยรักษาความสะอาดและสุขภาพของเส้นผม และทำให้หนังศีรษะสะอาดปราศจากคราบเหงื่อไคล น้ำมันจากต่อมใต้ผิวหนัง ฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกต่าง ๆ
  • กระตุ้นการเติบโตของเส้นผม วิตามินและสารสกัดจากธรรมชาติที่เป็นส่วนผสมต่าง ๆ ในยาสระผมมักมีคุณสมบัติช่วยให้รูขุมขนสะอาด เส้นผม และรากผมแข็งแรง และยังช่วยกระตุ้นการเติบโตของเส้นผมได้ เช่น ลาเวนเดอร์ อัลมอนด์ โสม ตะไคร้ โจโจ้บา (Jojoba)
  • ป้องกันสีผมจางลง สำหรับผู้ที่ย้อมผม น้ำมันและซิลิโคนในยาสระผมมักมีคุณสมบัติป้องกันสีผมจางลง ด้วยการเคลือบเส้นผมไว้เพื่อรักษาความชุ่มชื้นซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้สีผมติดทนนาน
  • ช่วยป้องกันและกำจัดรังแคบนหนังศีรษะ ยาสระผมที่มีส่วนผสมของสารบางชนิด เช่น กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ออกฤทธิ์ในการกำจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วให้หลุดออกจากหนังศีรษะได้ ซีลีเนียมซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) ออกฤทธิ์ป้องกันหรือชะลอการเจริญเติบโตของเชื้อราบนหนังศีรษะ
  • การเลือก ยาสระผม ให้เหมาะกับสภาพเส้นผมและหนังศีรษะ

    เนื่องจากแต่ละคนมีสภาพเส้นผมและหนังศีรษะแตกต่างกัน จึงควรเลือกใช้ยาสระผมให้เหมาะกับสภาพเส้นผมและหนังศีรษะ ตามคำแนะนำต่อไปนี้

    1.เลือกยาสระผมตามสภาพเส้นผม

    • ผมมัน ผู้ที่มีเส้นผมมันหรือหนังศีรษะผลิตน้ำมันมากเกินไป ควรใช้ยาสระผมที่ผสมสารโซเดียม ลอริล ซัลเฟต (Sodium Lauryl Sulfate) หรือซัลโฟซักซิเนต (Sulfosuccinate) เพราะมีฤทธิ์ในการกำจัดสิ่งสกปรกได้ดี ช่วยกำจัดน้ำมันส่วนเกินบนศีรษะ นอกจากนั้น ควรหลีกเลี่ยงยาสระผมที่ผสมซิลิโคน เซราไมด์ (Ceramide) ซิสทีน (Cystine) รวมถึงสารที่จะช่วยให้ผมนุ่มเพราะอาจทำให้เส้นผมและหนังศีรษะมันมากกว่าเดิมแม้ล้างออกแล้ว
    • ผมแห้ง ผมย้อมสี ผู้ที่มีเส้นผมแห้งหรือย้อมสีผม ควรเลือกยาสระผมที่มีฤทธิ์ทำความสะอาดระดับปานกลาง และมีซิลิโคน น้ำมัน หรือกลีเซรอลเป็นส่วนประกอบ เพราะสารเหล่านี้จะช่วยเคลือบเส้นผมไว้เพื่อป้องกันเส้นผมสูญเสียความชุ่มชื้น
    • ผมปกติ ผู้ที่มีเส้นผมสภาพปกติ ไม่แห้งหรือมันเกินไป ควรเลือกยาสระผมที่ไม่ผสมสารกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันเส้นผมถูกทำลายจากสารต่าง ๆ

    2.เลือกยาสระผมตามสภาพหนังศีรษะ

    • เป็นรังแค รังแค หมายถึง เซลล์ผิวจากหนังศีรษะที่หลุดลอกเป็นขุยหรือสะเก็ดสีขาว มักพบหากหนังศีรษะแห้ง ติดเชื้อรา หรือเป็นโรคผิวหนังบางชนิด ทั้งนี้ เมื่อเป็นรังแค ควรเลือกใช้ยาสระผมที่ผสมสารยาต้านเชื้อราอย่างซีลีเนียม ซัลไฟด์ คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) หรือซิงค์ ไพริไธโอน (Zinc Pyrithione) เพราะจะช่วยลดการติดเชื้อหรือบรรเทาอาการโรคผิวหนังให้ทุเลาลงได้
    • ผมร่วง ผมบาง เกิดได้จากหลายสาเหตุ และอาจบรรเทาได้ด้วยการใช้ยาสระผมที่มีไฟโตคาเฟอีน (Phyto-caffeine) ยาไมนอกซิดิล (Minoxidil) วิตามินบี 3 น้ำมันมะพร้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน วิตามินบี 5 วิตามินซี หรือวิตามินอี เป็นส่วนประกอบ เพื่อช่วยส่งเสริมให้รากผมแข็งแรงและกระตุ้นการเติบโตของเส้นผม

    คำแนะนำในการดูแลเส้นผม

    การดูแล เส้นผม อาจลองปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • หากผมมัน หรือเหงื่อออกมาก ควรสระผมทุกวันเพื่อกำจัดน้ำมันส่วนเกินออกจากหนังศีรษะ
  • หากต้องการสระผมทุกวัน ควรใช้ยาสระผมที่มีฤทธิ์อ่อนหรือยาสระผมสำหรับเด็ก
  • เมื่อสระผมเสร็จแล้ว ควรล้างยาสระผมออกให้หมด โดยเฉพาะบริเวณหนังศีรษะ เพราะหากยาสระผมตกค้างอาจทำให้เกิดรังแค
  • ควรใช้ครีมนวดผมทุกครั้งหลังสระผม เพื่อช่วยให้ผมเงางาม แข็งแรง และทนต่อรังสีอัลตราไวโอเลตมากขึ้น ทั้งนี้ ครีมนวดผมที่ใช้ควรเป็นสูตรที่เหมาะกับสภาพเส้นผมหรือหนังศีรษะ
  • ก่อนว่ายน้ำ ควรชโลมผมให้เปียก ใช้ครีมนวดผมนวดผมแล้วล้างออก หรือสวมหมวกสำหรับว่ายน้ำ เพื่อป้องกันเส้นผมถูกทำลายจากสารคลอรีนในสระว่ายน้ำ เนื่องจากคลอรีนอาจให้น้ำมันบนเส้นผมลดลง และยังเป็นสาเหตุหนังศีรษะระคายเคืองได้ด้วย
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา