สิวที่หู เกิดจากเซลล์ผิวเก่าที่ตายแล้ว และน้ำมันส่วนเกินอุดตันในรูขุมขน ที่นำไปสู่การเกิดสิวชนิดต่าง ๆ เช่น สิวหัวดำ สิวอักเสบ สิวหัวขาว สิวหัวหนอง บริเวณภายในหู หรือรอบนอกหู หากสังเกตว่ามีตุ่มนูน อาการเจ็บปวดตุ่มสิวเมื่อสัมผัส สามารถเข้ารับการตรวจโดยคุณหมอด้านผิวหนังและรักษาด้วยวิธีที่คุณหมอแนะนำ
คำจำกัดความ
สิวที่หู คืออะไร
สิวที่หู หมายถึง ตุ่มนูนที่เกิดขึ้นภายในช่องหู หรือบริเวณโดยรอบหู เนื่องจากการอุดตันของรูขุมขน สามารถเกิดขึ้นได้ทุกช่วงวัย โดยเฉพาะช่วงวัยรุ่น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนแอนโดรเจนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต่อมไขมันขยายและสร้างน้ำมันออกมาปริมาณมาก ที่อาจกระตุ้นให้เกิดสิวมากขึ้น
อาการ
อาการสิวที่หู
อาการสิวที่หูอาจมีลักษณะที่แตกต่างกันตามประเภทของสิว ดังนี้
- สิวหัวขาว คือสิวอุดตันหัวปิดที่ก่อให้เกิดตุ่มนูนเป็นจุดสีขาวบนผิวหนัง และอาจสามารถพัฒนาไปสู่สิวอักเสบได้
- สิวหัวดำ เป็นสิวอุดตันหัวเปิด ที่เกิดขึ้นต่อเมื่อน้ำมันส่วน เซลล์ผิวที่ตายแล้ว แบคทีเรีย โดนออกซิเจน ส่งผลให้ไขมันใต้รูขุมขนเปลี่ยนสี ก่อให้เกิดสิวหัวดำ
- สิวตุ่มนูนแดง คือสิวอักเสบที่ไม่มีหัว อาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดเมื่อถูกสัมผัส
- สิวตุ่มหนอง เป็นสิวอักเสบที่มีลักษณะเป็นตุ่มนูนมีหนองสีขาวตรงกลาง และมีผิวสีแดงโดยรอบ
- สิวอักเสบ เป็นสิวก้อนขนาดใหญ่อยู่ใต้ผิวหนัง ที่อาจทำให้รู้สึกเจ็บปวด
- ซีสต์ เป็นก้อนหนองขนาดใหญ่ที่พัฒนามาจากสิว อาจเสี่ยงต่อการเกิดแผลเป็นถาวร
หากสังเกตว่าสิวที่หูมีอาการแย่ลง หรือมีอาการเรื้อรังเป็นเวลานาน ควรเข้ารับการรักษาโดยคุณหมอด้านผิวหนังในทันที
สาเหตุ
สาเหตุของสิวที่หู
สิวที่หูเกิดจากการอุดตันของน้ำมันส่วนเกินที่ผลิตจากต่อมไขมัน เซลล์ผิวที่ตายแล้ว และสิ่งสกปรกอื่น ๆ ร่วมกับเชื้อแบคทีเรีย ส่งผลให้เกิดการอักเสบที่นำไปสู่การเกิดสิว นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดสิว หรือทำให้สิวมีอาการแย่ลง ได้แก่
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ฮอร์โมนแอนโดรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายอาจเพิ่มขึ้น และกระตุ้นให้ต่อมไขมันขยายและผลิตน้ำมันออกมามากขึ้น สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง
- อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและไขมันสูง เช่น ขนมปังขาว มันฝรั่งทอด อาจไม่ก่อให้เกิดสิวโดยตรง แต่อาจส่งผลให้อาการสิวที่เป็นแย่ลงได้
- ยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ลิเทียม (Lithium) ที่อาจส่งผลกระตุ้นฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) นำไปสู่การผลิตน้ำมันมากขึ้นจนอุดตันรูขุมขน
- ความเครียด อาจทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่ส่งผลให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันส่วนเกิน นำไปสู่การอุดตันรูขุมขนจนก่อให้เกิดสิว และอาจทำให้อาการสิวที่เป็นอยู่แย่ลง
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นสิวที่หู
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นสิวที่หู ได้แก่
- อายุ สิวอาจเกิดขึ้นกับทุกช่วงวัย แต่อาจพบได้บ่อยในช่วงวัยรุ่นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
- ครอบครัว หากคนในครอบครัวเป็นสิว อาจได้รับจากพันธุกรรมที่มีแนวโน้มทำให้เป็นสิวได้เช่นกัน
- สิ่งสกปรก เช่น เหงื่อ อาหาร หรือขี้หูก็อาจก่อให้เกิดการอุดตันรูขุมขนที่นำไปสู่การเกิดสิวได้
- แรงเสียดสี ผิวที่ถูกเสียดสีจากพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น การปั่นหูรุนแรง อาจส่งผลให้ผิวอักเสบ และกระตุ้นให้เกิดสิวได้
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยสิวที่หู
สิวที่หูอาจสังเกตได้ยากกว่าสิวที่ใบหน้า ดังนั้น จึงควรเข้ารับการวินิจฉัยจากคุณหมอด้านผิวหนัง โดยคุณหมออาจใช้ไฟส่องตรวจดูในช่องหู เพื่อดูอาการและชนิดของสิวก่อนแนะนำวิธีรักษา
การรักษาสิวที่หู
สิวที่หู อาจรักษาได้ด้วยการใช้ยา ดังนี้
- เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) เป็นยาทาเฉพาะที่รูปแบบครีม เจล โฟม หรือโลชั่น เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวที่หูระดับปานกลาง โดยอาจเลือกใช้เป็นยาเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ 5% หรือตามดุลพินิจของคุณหมอ
- เรตินอยด์ คือยากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอในรูปแบบครีม เจล หรือโลชั่น ใช้ทาเฉพาะที่เพื่อป้องกันการอุดตันในรูขุมขน ส่วนใหญ่คุณหมอมักแนะนำให้ใช้เป็นเตรทติโนอิน (Tretinoin)
- ยาปฏิชีวนะ เช่น มิโนไซคลีน (Minocycline) ด็อกซีไซคลีน (Doxycycline) มีคุณสมบัติช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียของสิว ซึ่งควรใช้ควบคู่กับยารักษาสิวชนิดอื่น ๆ เพื่อป้องกันการดื้อยา
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันสิวที่หู
วิธีป้องกันสิวขึ้นที่หู อาจทำได้ด้วยการรักษาสุขอนามัย เช่น ทำความสะอาดหูฟังบ่อย ๆ เพื่อลดการสะสมของสิ่งสกปรก และทำความสะอาดภายในช่องหู รอบใบหู ด้วยผลิตภัณฑ์ล้างหน้า สบู่ ที่ปรับความสมดุลของค่า pH และให้ความอ่อนโยนต่อผิวบริเวณหู
นอกจากนี้ ควรปั่นหูขจัดขี้หูออกด้วยแรงเบาเพื่อลดการเสียดสี และไม่ควรบีบสิวที่หูด้วยตนเองหรือนำมือไปสัมผัสบ่อย ๆ เพราะอาจก่อให้เกิดการอักเสบเพิ่มขึ้น