backup og meta

วิธีทำให้สิวหาย ทำได้อย่างไร เพื่อสุขภาพผิวที่ดี

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 17/11/2022

    วิธีทำให้สิวหาย ทำได้อย่างไร เพื่อสุขภาพผิวที่ดี

    วิธีทำให้สิวหาย และป้องกันการเกิดสิวขึ้นซ้ำ ๆ อาจทำได้ด้วยการดูแลผิวที่ถูกต้อง โดยการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่ส่งผลกระตุ้นให้เกิดสิว เช่น เลือกผลิตภัณฑ์ดูแลผิวให้เหมาะสม การทำความสะอาดผิว การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หากสิวยังมีอาการแย่ลง ควรขอคำปรึกษาจากคุณหมอด้านผิวหนัง เพื่อรับการรักษาอย่างตรงจุด

    สิว เกิดจากอะไร

    สิว เกิดจากการสะสมของเซลล์ที่ตายแล้ว แบคทีเรีย และน้ำมันส่วนเกินที่ผลิตจากต่อมไขมันหรือที่เรียกว่า ซีบัม (Sebum) ออกมามากเกินไป ส่งผลให้เกิดการอุดตันในรูขุมขน จนนำไปสู่การอักเสบ กลายเป็นสิวชนิดต่าง ๆ เช่น สิวหัวขาว สิวหัวหนอง สิวอักเสบแดงนูน นอกจากนี้ ยังอาจมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดสิว และกระตุ้นให้สิวมีอาการแย่ลง ดังนี้

    • พันธุกรรม หากคนในครอบครัวเป็นสิว ก็อาจส่งผลให้มีแนวโน้มเป็นสิวได้เช่นกัน
    • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับช่วงวัยรุ่นที่มีการเพิ่มระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อ จึงทำให้ต่อมไขมันขยายและผลิตไขมันออกมามากกว่าเดิม จนเกิดการอุดตันในรูขุมขนซึ่งนำไปสู่การเกิดสิว
    • พฤติกรรมการดูแลผิว การขัดผิวอย่างรุนแรง และการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมี อาจส่งผลให้สิวมีอาการแย่ลงได้ เนื่องจาก ผิวอาจได้รับการอุดตัน และระคายเคือง
    • แต่งหน้า หากเลือกใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของน้ำมัน ก็อาจเป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดการอุดตันในรูขุมขนจนก่อให้เกิดสิว ดังนั้น ควรเลือกเครื่องสำอางที่ไม่มีส่วนประกอบของน้ำมัน และทำความสะอาดใบหน้าให้สะอาดทุกครั้ง
    • ความเครียด จากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ตีพิมพ์ในวารสารโรคผิวหนังระบุว่า ความเครียดอาจทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่ส่งผลให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันส่วนเกินนำไปสู่การอุดตันในรูขุมขนจนก่อให้เกิดสิว หรือทำให้อาการสิวแย่ลง
    • อาหารที่มีไขมันสูง อาหารที่ประกอบด้วยไขมัน คาร์โบไฮเดรต เช่น ของทอด ขนมปัง ช็อกโกแลต อาจทำให้สิวมีอาการแย่ลง อักเสบมากขึ้น หรืออาจกระตุ้นก่อให้เกิดสิวเพิ่มได้
    • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ลิเทียม (Lithium) ยาเทสโทสเตอโรน (Testosterone)

    วิธีทำให้สิวหาย

    วิธีทำให้สิวหายอาจทำได้ ดังนี้

    ปรับพฤติกรรมการดูแลผิวในชีวิตประจำวัน

    หากอยากให้สิวหายควรดูแลสุขภาพผิวอย่างเหมาะสม ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

    • ใช้ยารักษาสิวสม่ำเสมอ ตามที่คุณหมอกำหนด เพื่อป้องกันสิวดื้อยา
    • ควรล้างหน้าวันละ 2 ครั้ง เวลาตื่นนอน และก่อนเข้านอน ไม่ควรล้างหน้าบ่อย เพราะอาจก่อให้เกิดการระคายเคือง ทำให้สิวมีอาการแย่ลง ยกเว้นกรณีที่มีเหงื่อออกมากบริเวณใบหน้า เพราะจำเป็นต้องขจัดสิ่งสกปรกที่อาจทำให้รูขุมขนอุดตัน
    • ไม่ขัดผิวหน้าแรง เพราะการเสียดสีอาจทำให้อาการของสิวแย่ลง และเกิดการอักเสบมากกว่าเดิม
    • เลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และเครื่องสำอางที่ปราศจากน้ำมัน เพื่อป้องกันการอุดตันบริเวณรูขุมขน และควรล้างเครื่องสำอางบนใบหน้าให้สะอาดก่อนนอน
    • ผ่อนคลายความเครียด เช่น ออกกำลังกาย ทำจิตใจให้ผ่อนคลายด้วยกิจกรรมที่ตนเองชอบ
    • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะการอดหลับอดนอน อาจทำให้ร่างกายกระตุ้นฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่เป็นฮอร์โมนความเครียดผลิตน้ำมันอุดตันในรูขุมขนก่อให้เกิดสิว

    ใช้ยารักษาสิวสม่ำเสมอ

    คุณหมออาจแนะนะยารักษาสิวที่เหมาะกับสภาพผิว ดังนี้

    • เรตินอยด์ เป็นยากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ ที่มีในรูปแบบครีม เจล โลชั่น ส่วนใหญ่คุณหมอแนะนำให้ใช้เป็นเตรทติโนอิน (Tretinoin) อะดาพาลีน (Adapalene) และทาซาโรทีน (Tazarotene) ควรใช้สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ก่อนนอน เพื่อป้องกันการอุดตันในรูขุมขน ยานี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง คือ ผิวแห้งกร้าน ระคายเคือง ไวต่อแดด จึงเหมาะกับผู้ที่เป็นสิวในระดับปานกลาง เช่น สิวหัวดำ สิวหัวขาว สิวหนอง 
    • กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) เป็นกรดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติมีคุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคทีเรียที่อาจก่อให้เกิดสิว ป้องกันการอุดตันในรูขุมขน ยานี้อาจมีผลข้างเคียงต่อผิว เช่น ระคายเคือง ผิวหนังแดง 
    • แดปโซน (Dapsone) คือ ยาทาเฉพาะที่ในรูปแบบเจล เหมาะสำหรับใช้รักษาสิวอักเสบ โดยทาวันละ 2 ครั้ง ผลข้างเคียงของยานี้อาจส่งผลให้ผิวแดง และแห้งกร้าน
    • กลุ่มยาสไปโรโนแลคโตน (Spironolactone) คือ ยาที่อาจมีส่วนช่วยปรับฮอร์โมนแอนโดรเจน เพื่อลดการผลิตน้ำมันที่ทำให้รูขุมขนอุดตัน
    • ยาคุมกำเนิดลดสิว ยาคุมมีส่วนประกอบของฮอร์โมนโปรเจสตินและเอสโตรเจน ซึ่งอาจช่วยรักษาสิว แต่อาจต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานาน ดังนั้น จึงควรรักษาควบคู่กับวิธีการรักษาสิวอื่น ๆ การรับประทานยาคุมกำเนิดอาจส่งผลให้น้ำหนักเพิ่ม เจ็บหน้าอก คลื่นไส้ เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก ปัญหาหัวใจและหลอดเลือด เพื่อความปลอดภัยควรขอคำปรึกษาจากคุณหมอก่อนใช้
    • ยาปฏิชีวนะ อาจมีส่วนช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ลดรอยแดง บรรเทาอาการสิวอักเสบ ส่วนใหญ่ยาปฏิชีวนะไม่ควรใช้ทาเฉพาะที่เพียงชนิดเดียว ควรใช้ควบคู่กับยาชนิดอื่น ๆ เพื่อป้องกันการดื้อยา เช่น
  • คลินดามัยซิน (Clindamycin) กับเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide)
  • อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) กับเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide)
  • สำหรับยาปฏิชีวนะในรูปแบบรับประทาน คุณหมออาจแนะนำยาเตตราไซคลีน (Tetracycline) แต่อาจไม่เหมาะสำหรับสตรีตั้งครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี ซึ่งคุณหมออาจสั่งจ่ายยากลุ่มแมคโครไลด์ (Macrolide) แทน เพื่อความปลอดภัย

    เทคนิคการรักษาสิวอื่น ๆ

    เนื่องจากปัญหาผิวหน้าของแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน คุณหมอจึงอาจแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะกับแต่ละบุคคล ดังนี้

    • ฉีดสเตียรอยด์ คุณหมออาจฉีดยาสเตียรอยด์เข้าสู่สิวโดยตรง เพื่อบรรเทาอาการอักเสบ แต่อาจส่งผลข้างเคียงทำให้ผิวบางได้
    • ผลัดเซลล์ผิว วิธีนี้อาจเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวในระดับไม่รุนแรง โดยคุณหมออาจใช้กรดซาลิไซลิก กรดไกลโคลิก และกรดเรติโนอิก ซึ่งอาจจำเป็นต้องรักษาหลายครั้ง
    • การกดสิว คุณหมออาจใช้อุปกรณ์กดสิวเพื่อกำจัดสิวหัวขาว และสิวหัวดำโดยการนำหนองที่อุดตันในรูขุมขนออก แต่อาจก่อให้เกิดรอยแผลเป็นจากการกดเล็กน้อย

    สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อสิวขึ้น

    สำหรับพฤติกรรมที่ไม่ควรทำเมื่อเป็นสิว เพราะอาจทำให้อาการของสิวแย่ลง อาจมีดังนี้

    • เปลี่ยนการรักษาสิวเองบ่อย ๆ พฤติกรรมนี้อาจทำให้ผิวระคายเคือง ที่อาจส่งผลให้สิวขึ้นมากกว่าเดิมได้
    • ใช้อุปกรณ์แต่งหน้า เช่น แปรงปัดแก้ม รวมถึงเครื่องสำอางร่วมกับผู้อื่น
    • ไม่ล้างเครื่องสำอางบนใบหน้าให้สะอาดก่อนนอน
    • การขัดผิวแรง และการล้างหน้าบ่อยเกินไป เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคือง ผิวแห้ง นำไปสู่การเกิดสิว
    • บีบสิวด้วยตัวเอง เป็นพฤติกรรมที่อาจส่งผลให้สิวอักเสบกว่าเดิม และก่อให้เกิดแผลเป็นได้
    • ไม่ทำความสะอาดสิ่งที่สัมผัสกับใบหน้า เช่น โทรศัพท์มือถือ แปรงแต่งหน้า หมอน ผ้าห่ม ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจมีการสะสมของแบคทีเรีย
    • รับประทานอาหารประเภทไขมันและแป้งมากเกินไป

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 17/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา