backup og meta

สิวผด คืออะไร รักษา และป้องกันอย่างไร

สิวผด คืออะไร รักษา และป้องกันอย่างไร

สิวผด เป็นสิวตุ่มเล็ก ๆ ขึ้นตามบริเวณใบหน้า หน้าอก แผ่นหลัง ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น ความร้อน การแพ้เหงื่อ เชื้อแบคทีเรีย รา บางชนิด รวมถึงไขมันส่วนเกิน ทั้งนี้ สิวผด รักษา ได้หลายวิธี เช่น การทายา การรับประทานยาปฏิชีวนะ การประคบเย็น  รวมทั้งสามารถดูแลตนเองง่าย ๆ เพื่อป้องกันการเกิดสิวผด

[embed-health-tool-bmr]

สิวผด คืออะไร

สิวผดเป็นปัญหาผิวหนังชนิดหนึ่ง มักพบในผู้ที่มีอายุระหว่าง 20-40 ปี มีลักษณะเป็นตุ่มบวมแดงขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2-4 มิลลิเมตร และมักเกิดขึ้นพร้อมกันเป็นจำนวนมาก

โดยทั่วไป สิวผดมักขึ้นตามหน้าผาก คาง รวมถึงบริเวณผิวหนังที่ต้องเผชิญกับแสงแดดและความอับชื้นหมักหมมของเหงื่อและเชื้อโรค เช่น ใบหน้าหน้าอก แผ่นหลัง

สิวผด เกิดจากอะไร

สาเหตุหลักของสิวผด คือ ความร้อนและแสงแดดซึ่งทำให้ร่างกายมีเหงื่อออกมากจนผิวหนังไม่สามารถระบายเหงื่อออกได้หมด ส่งผลให้เกิดการอุดตันรูขุมขนจนเป็นตุ่มสิวเล็ก ๆไม่มีหนองหรือหัวสิว

สิวผดมักผุดขึ้นตามผิวหนังหลังจากโดนแสงแดดเป็นเวลานาน หรือในช่วงที่อากาศร้อนจัด โดยจะปรากฏขึ้นตามผิวหนังหลังออกแดดไปแล้วประมาณ 24-72 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม สิวผดสามารถหายเองได้ แต่อาจใช้เวลานานหลายสัปดาห์ มักไม่ค่อยทิ้งรอยแผลเป็นไว้ ยกเว้นในกรณีที่ผู้เป็นสิวผด แคะ แกะ หรือเกา จนเม็ดสิวติดเชื้อและเกิดการอักเสบ

ทั้งนี้ สิวผดยังเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ได้ เช่น

  • การแพ้สารประกอบในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ เครื่องสำอาง ครีมกันแดด น้ำหอม รวมถึงการทำปฏิกิริยาของเครื่องสำอางหรือครีมกันแดดกับผิวหนัง เมื่อสัมผัสโดนแสงแดด (Photo Allergic Reaction)
  • การทำความสะอาดใบหน้าผิดวิธี อย่างการล้างหน้าบ่อย ๆ รวมถึงการเช็ดหน้าอย่างรุนแรง สามารถทำให้ใบหน้าระคายเคืองและเป็นสิวผดได้
  • เชื้อราพิไทโรสโพรัมโอวาเล (Pityrosporum Ovale) ซึ่งพบได้ทั่วไปบนผิวหนังมนุษย์ เมื่ออากาศร้อนจัด เชื้อรานี้จะเพิ่มจำนวน เนื่องจากไขมันบนใบหน้าที่หลั่งออกมาเยอะ ทำให้เกิดสิวผด และอาจนำไปสู่การติดเชื้อได้
  • การแพ้มลภาวะต่าง ๆ เช่น น้ำ ฝุ่น ควันพิษ
  • ร่างกายมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เมื่อผิวหนังสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้อาจก่อให้เกิดสิวผดได้
  • พันธุกรรม หากสมาชิกในบ้านมีประวัติเกิดสิวผด มีแนวโน้มที่คนอื่น ๆ ในบ้านจะเกิดสิวผดได้
  • ความเครียดเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดสิวผดได้ เนื่องจากอาจทำให้ฮอร์โมนเกิดการเปลี่ยนแปลง

สิวผด รักษา อย่างไร

สิวผด รักษา ได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้

  • ยาปฏิชีวนะสำหรับทาภายนอก เช่น ยาทากลุ่มวิตามิน A ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยป้องกันการก่อตัวของสิว รวมถึงลดอาการบวมและอักเสบที่ผิวหนัง ลดจำนวนสิวผด เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย และกำจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว ไม่ให้อุดตันรูขุมขนหรือต่อมเหงื่ออันเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดสิวผด
  • สารสกัดจากคาโมมายล์ ช่วยลดการระคายเคืองหรืออักเสบของสิวผด รวมทั้งป้องกันการอุดตันของผิวหนัง บริเวณต่อมเหงื่อและรูขุมขน
  • ยาแก้แพ้ เป็นวิธีบรรเทาอาการคันซึ่งบางครั้งเกิดพร้อมกับสิวผด
  • ประคบเย็น สามารถช่วยลดอาการบวมแดงบริเวณผิวหนังที่เป็นสิวผดได้

นอกจากนี้ เมื่อเป็นสิวผดแล้ว ไม่ควรเกาหรือบีบเม็ดสิว เนื่องจากอาจทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิม และเสี่ยงติดเชื้อได้

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การรักษาและป้องกันสิวผดให้ได้ผล ควรปฏิบัติร่วมกับการดูแลตัวเอง ตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ทาครีมกันแดดทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่มีโอกาสสัมผัสกับแสงแดด เช่น ใบหน้า ลำคอ แขน ขา โดยครีมกันแดดควรมีค่า SPF 30 ขึ้นไป นอกจากนี้ หากกังวลว่าจะมีอาการแพ้ หรือเกิดการอุดตันรูขุมขน อาจใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติปราศจากสารเคมี เนื้อบางเบา ไม่มีส่วนผสมของน้ำมัน
  • หลีกเลี่ยงการออกแดดเป็นเวลานาน และหากจำเป็นต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง ควรสวมหมวกปีกกว้าง กางร่ม ใส่ผ้าคลุมศีรษะ สวมแว่นตากันแดด เพื่อป้องกันแสงแดดแผดเผาผิวหนังและกระตุ้นให้เหงื่อออกจำนวนมาก ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงเป็นสิวผด
  • ทำความสะอาดใบหน้าและร่างกายอย่างถูกวิธี ล้างหน้าและอาบน้ำด้วยน้ำสะอาดอุณหภูมิปกติ หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อน ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิว นอกจากนี้ ควรค่อย ๆ ซับผิวหนังให้แห้งอย่างเบามือ เพื่อป้องกันผิวระคายเคืองอันเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดสิวผดได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน: สิวเชื้อรา และการรักษาhttps://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/272/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%A7-%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B2/. Accessed April 20, 2022

Malassezia-Associated Skin Diseases, the Use of Diagnostics and Treatment. https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fcimb.2020.00112/full. Accessed April 20, 2022

Emulsifier. https://www.britannica.com/science/emulsifier.  Accessed April 20, 2022

คลังข้อมูลยา. https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/QA_full.php?id=2147.  Accessed April 20, 2022

Acne aestivalis. https://en.wikipedia.org/wiki/Acne_aestivalis#:~:text=Acne%20aestivalis%20also%20known%20as,there%20is%20less%20sun%20light. Accessed April 20, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

23/06/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

มีตุ่มขึ้นตามตัว คล้ายสิว เกิดจากอะไร ควรรักษาอย่างไร

เลเซอร์รอยดำจากสิว ประโยชน์และข้อควรระวัง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 23/06/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา