สิวหัวช้างเป็นสิวอักเสบชนิดรุนแรง มีลักษณะเป็นตุ่มแดงขนาดใหญ่ มีหนองอยู่ข้างใน เมื่อสัมผัสโดนจะรู้สึกเจ็บ หากถามว่า สิวหัวช้างเกิดจากอะไร คำตอบคือ สิวหัวช้างเกิดจากน้ำมันบนใบหน้าและเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วเข้าไปอุดตันในรูขุมขน ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงของสิวหัวช้าง คือ ระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgens) เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ต่อมใต้ผิวหนังผลิตน้ำมันออกมามากขึ้น ทำให้รูขุมขนอุดตันและเป็นสิวได้ง่ายขึ้น
[embed-health-tool-bmr]
สิวหัวช้างเกิดจากอะไร
สิวหัวช้าง เป็นสิวอักเสบชนิดรุนแรง เกิดจากเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วและน้ำมันบนผิวหนังที่ผลิตออกมามากเกินไปอุดตันรูขุมขน หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในผิวหนังชั้นหนังแท้
ลักษณะของสิวหัวช้างจะเป็นก้อนนูนแดงขนาดใหญ่ มีหนองอยู่ข้างใน และเมื่อสัมผัสโดนจะทำให้รู้สึกเจ็บ
ปกติแล้ว สิวหัวช้างพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่มักพบบ่อยในผู้ที่มีผิวมัน วัยรุ่น และผู้หญิง และมักสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนแอนโดรเจน เช่น ระหว่างมีประจำเดือน ใช้ยาคุมกำเนิด ตั้งครรภ์ ซึ่งฮอร์โมนแอนโดรเจนจะไปกระตุ้นให้ต่อมใต้ผิวหนังผลิตน้ำมันออกมามากกว่าปกติ
เป็นสิวหัวช้าง ควรดูแลตัวเองอย่างไร
เมื่อทราบแล้วว่า สิวหัวช้างเกิดจากอะไร ควรดูแลตัวเองเพื่อบรรเทาอาการและลดความเสี่ยงอาการรุนแรง ตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ล้างหน้าวันละ 2 ครั้ง หรือหลังจากเหงื่อออกมาก ด้วยน้ำสะอาดอุณหภูมิห้อง
- หลีกเลี่ยงการขัดผิว หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่อาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง
- ไม่กดหรือบีบสิว เพราะจะทำให้การติดเชื้อแพร่กระจาย และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดแผลเป็นหลังสิวหายได้
- หลีกเลี่ยงอาหารกลุ่มแป้งและน้ำตาล รวมถึงอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง เพราะอาจมีผลต่อระดับฮอร์โมนในร่างกาย และทำให้ต่อมใต้ผิวหนังผลิตน้ำมันออกมามากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับแสงแดด
- ดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม ด้วยการออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ
สิวหัวช้าง รักษาได้อย่างไร
เนื่องจากสิวหัวช้างเป็นสิวชนิดรุนแรง การรักษาด้วยยาแต้มสิวหรือผลิตภัณฑ์รักษาสิวโดยทั่วไปจึงไม่ได้ผล ทั้งนี้ เมื่อไปพบคุณหมอ คุณหมอมักจ่ายยาต่อไปนี้
- ไอโซเทรติโนอิน (Isotretinoin) เป็นยาในกลุ่มวิตามินเอ ออกฤทธิ์กดการทำงานของต่อมไขมันใต้ผิวหนัง และลดจำนวนเชื้อแบคทีเรียในรูขุมขนที่เป็นสาเหตุของสิวหัวช้าง โดยทั่วไป คุณหมอนิยมจ่ายยาไอโซเทรติโนอินให้ผู้ที่เป็นสิวรับประทานเฉพาะในกรณีที่รักษาด้วยยาตัวอื่นแล้วไม่ได้ผล
- เรตินอยด์ (Retinoid) เป็นยากลุ่มเดียวกับไอโซเทรติโนอิน แต่อยู่ในรูปแบบยาทา เจล หรือครีม มีคุณสมบัติลดการอุดตันของเม็ดสิว และป้องกันสิ่งสกปรกไม่ให้เข้าไปอุดตันในรูขุมขน ทั้งนี้ ยากลุ่มเรตินอยด์ประกอบด้วยอะดาพาลีน (Adapalene) ดิฟเฟอริน (Differin) และเรติน-เอ (Retin-A)
- สไปโรโนแลคโตน (Spironolactone) เป็นยาสำหรับรับประทาน มีคุณสมบัติทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจนน้อยลง ซึ่งส่งผลให้ต่อมใต้ผิวหนังผลิตน้ำมันน้อยลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม สไปโรโนแลคโตนไม่เหมาะกับหญิงตั้งครรภ์ เพราะอาจเป็นสาเหตุให้ทารกในครรภ์เกิดความผิดปกติแต่กำเนิดได้
- ยาคุมกำเนิด ใช้รับประทานเพื่อลดการแปรปรวนของฮอร์โมนในเพศหญิง ซึ่งช่วยให้ต่อมใต้ผิวหนังผลิตน้ำมันน้อยลง บางครั้ง คุณหมอจะจ่ายยาคุมกำเนิดให้รับประทานร่วมกับยาสไปโรโนแลคโตน
- เบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) เป็นยาสำหรับทา มีฤทธิ์กำจัดแบคทีเรียบนผิวหนังที่เป็นสาเหตุของสิว โดยทั่วไป คุณหมอจะแนะนำให้ผู้ที่เป็นสิวทาเบนโซอิล เพอร์ออกไซด์วันละ 1-2 ครั้ง
- เพรดนิโซโลน (Prednisolone) เป็นยากลุ่มสเตียรอยด์ซึ่งออกฤทธิ์รักษาอาการต่าง ๆ ได้กว้าง มีคุณสมบัติลดการอักเสบของสิวหัวช้าง ซึ่งส่งผลให้สิวหัวช้างยุบตัวลง