backup og meta

สิวฮอร์โมน รักษา ได้อย่างไรบ้าง และมีสาเหตุมาจากอะไร

สิวฮอร์โมน รักษา ได้อย่างไรบ้าง และมีสาเหตุมาจากอะไร

สิวฮอร์โมน เป็นสิวที่ขึ้นบริเวณใบหน้า หรือแผ่นหลัง โดยเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งส่งผลให้ต่อมใต้ผิวหนังผลิตน้ำมันมากเกินไป จนทำให้หน้ามัน รูขุมขนอุดตันและเป็นสิว ทั้งนี้ สิวฮอร์โมน รักษา ได้หลายวิธี อย่างการรับประทานยาคุมกำเนิดเพื่อปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกายการรับประทานอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตให้น้อยลง เป็นต้น

[embed-health-tool-ovulation]

สิวฮอร์โมน คืออะไร

สิวฮอร์โมนเป็นสิวที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกาย อย่างเทสโทสเตอโรน (Testosterone) เอสโตรเจน (Estrogen) หรือโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ซึ่งจะไปกระตุ้นให้ต่อมใต้ผิวหนังผลิตน้ำมันมากกว่าปกติ และเมื่อรวมกับเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วจะก่อให้เกิดการหมักหมมมากขึ้นจนทำให้รูขุมขนอุดตันและเกิดเป็นสิว

นอกจากนี้ เมื่อต่อมใต้ผิวหนังผลิตน้ำมันมากกว่าปกติมักทำให้แบคทีเรียซี แอ็คเน่ (Cutibacterium Acnes หรือ C.acnes) บนผิวหนังเพิ่มจำนวน ซึ่งเป็นสาเหตุของผิวหนังอักเสบและสิว

ทั้งนี้ สิวฮอร์โมนมีลักษณะเหมือนสิวทั่ว ๆ ไป คือมีทั้งสิวหัวดำ สิวหัวขาว สิวหัวหนอง หรือสิวหัวช้าง โดยในช่วงวัยรุ่น สิวฮอร์โมนมักเกิดบริเวณทีโซน (T-zone) หรือหน้าผาก จมูก และคาง ในขณะที่วัยผู้ใหญ่ สิวฮอร์โมนมักปรากฏบริเวณแก้มและขากรรไกร

ปกติแล้ว สิวฮอร์โมนจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในช่วงวัยต่าง ๆ มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นระหว่างตั้งครรภ์ มีประจำเดือน เข้าสู่วัยทอง หรือหลังจากหยุดใช้ยาคุมกำเนิด

สำหรับปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจทำให้เป็นสิวฮอร์โมน มีดังนี้

  • พันธุกรรม
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ (Steroids)
  • อาการป่วย เช่น ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ
  • ความเครียด
  • การนอนน้อย

สิวฮอร์โมน รักษา อย่างไร

สิวฮอร์โมนอาจรักษาให้อาการดีขึ้นได้หลายวิธี ดังนี้

  • รับประทานยาคุมกำเนิด ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนสังเคราะห์ ซึ่งมีส่วนช่วยลดการแปรปรวนของฮอร์โมนในร่างกายและทำให้ผิวหนังผลิตน้ำมันน้อยลงจึงอาจช่วยลดการเกิดสิวได้ อย่างไรก็ตาม การรับประทานยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนเดี่ยว หรือยาที่ประกอบด้วยโปรเจสเตอโรนสังเคราะห์เพียงอย่างเดียว มักให้ผลตรงกันข้าม คือทำให้ฮอร์โมนแปรปรวนเพิ่มขึ้นและทำให้อาการของสิวแย่ลง
  • รับประทานยาต้านแอนโดรเจน (Anti-androgen Drugs) เช่น สไปโรโนแลคโตน (Spironolactone) ที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูง อาจทำให้ฮอร์โมนแอนโดรเจนอย่างเทสโทสเตอโรนลดลง และมีผลให้หน้าหายมันหรือสิวลดลงได้ ทั้งนี้ สไปโรโนแลคโตนมีผลข้างเคียงคืออาจทำให้หน้าอกของผู้ชายใหญ่ขึ้น จึงนิยมใช้รักษาสิวฮอร์โมนในผู้หญิงมากกว่า
  • ลดการบริโภคอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต เพราะอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต เช่น แป้ง ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง กระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งฮอร์โมนอินซูลินเข้าสู่กระแสเลือด และเมื่ออินซูลินในกระแสเลือดสูงขึ้น ฮอร์โมนแอนโดรเจนและฮอร์โมนอินซูลิน-ไลค์ โกรท แฟคเตอร์ 1 (Insulin-like Growth Factor 1) จะสูงขึ้นตาม ส่งผลให้ต่อมใต้ผิวหนังผลิตน้ำมันออกมามากกว่าเดิม และเพิ่มความเสี่ยงเป็นสิว
  • ทาครีม เจล หรือโลชั่น ที่มีส่วนผสมอย่างเรตินอยด์ (Retinoids) ซึ่งมีคุณสมบัติป้องกันรูขุมขนอุดตัน หรือกรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha Hydroxy Acid) ซึ่งออกฤทธิ์กำจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วที่อุดตันอยู่ในรูขุมขน
  • ทาครีมที่มีส่วนผสมของโพลิฟีนอล (Polyphenols) เนื่องจากโพลิฟีนอลมีคุณสมบัติช่วยลดการผลิตน้ำมันจากต่อมใต้ผิวหนัง งานวิจัยเรื่องประสิทธิภาพของโพลิฟีนอลต่อน้ำมันบนผิวหนังและสิว ตีพิมพ์ในวารสาร Antioxidants ปี พ.ศ. 2560 อ้างอิงข้อมูลจากผลการศึกษาหลาย ๆ ชิ้นได้ข้อสรุปว่า สารโพลิฟีนอลที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ทาผิว อาจช่วยลดการผลิตน้ำมันจากต่อมใต้ผิวหนัง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการรักษาสิว นอกจากนี้ โพลิฟีนอลเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจพบได้ในอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ชา ไวน์ ช็อกโกแลต ถั่ว ผัก ผลไม้

สิวฮอร์โมน รักษา ด้วยการดูแลตัวเองอย่างไร

เมื่อเป็นสิวฮอร์โมนควรรักษาและบรรเทาอาการ โดยสามารถดูแลตัวเองตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ล้างหน้าให้สะอาดอย่างเบามือ วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น หรือหลังทำกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออกมาก เช่น หลังออกกำลังกาย แตไม่ควรล้างหน้าบ่อยเกินไปและควรล้างหน้าด้วยน้ำอุณหภูมิห้อง
  • เลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าที่อ่อนโยน ปราศจากน้ำหอมเพื่อลดการระคายเคือง
  • หลีกเลี่ยงการใช้สครับหรือการขัดผิวหน้าอย่างรุนแรง เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคืองหรืออักเสบ และอาจทำให้สิวอาการแย่ลงได้
  • หลีกเลี่ยงการแต่งหน้าหรือใช้เครื่องสำอาง หรือหากจำเป็นควรเลือกผลิตภัณฑ์สูตรน้ำ (Water-based Cosmetics) ที่ไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน อักเสบ หรือระคายเคือง
  • พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนและชื้น หรือสภาวะที่จะทำให้เหงื่อออกมากขึ้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Green Tea and Other Tea Polyphenols: Effects on Sebum Production and Acne Vulgaris. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5384166/. Accessed October 7, 2022

STUBBORN ACNE? HORMONAL THERAPY MAY HELP. https://www.aad.org/public/diseases/acne/derm-treat/hormonal-therapy. Accessed October 7, 2022

Birth Control for Acne. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/acne/birth-control-for-acne-treatment. Accessed October 7, 2022

Diet and acne update: carbohydrates emerge as the main culprit. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/24719062/. Accessed October 7, 2022

Cutibacterium acnes (formerly Proprionibacterium acnes) and Shoulder Surgery. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6874694/#:~:text=4-,C.,to%20the%20knee%20and%20hip. Accessed October 7, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

23/11/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

สิว ยีสต์ คืออะไร รักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง

หน้าใส ไร้สิวและจุดด่างดำ มีวิธีการดูแลอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 23/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา