เป็นสิวเพราะสวมหน้ากากอนามัย อาจเป็นปัญหาที่สร้างความกังวลใจให้หลายคน แม้การสวมหน้ากากอนามัยจะทำหน้าที่หลักในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 แต่ผลกระทบข้างเคียงของการสวมหน้ากากอนามัย ต่อผิวหนังก็ยังมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการทำให้เกิดผื่น รอยแดง ตุ่มแดงที่ใบหน้า หรืออาจทำให้เป็นสิว
เป็นสิวเพราะสวมหน้ากากอนามัย
ในขณะที่สวมหน้ากากอนามัยยังจำเป็นที่จะต้องมีการหายใจเข้าและหายใจออกอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกับตอนที่ไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัย การหายใจเข้าออกขณะที่สวมหน้ากากอนามัยอาจเพิ่มอุณหภูมิและความชื้นภายในหน้ากากอนามัยให้สูงขึ้น ทำให้แบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณผิวหนังที่มีหน้ากากอนามัยปกปิดอยู่ เช่น จมูก ปาก คาง แก้ม เจริญเติบโตได้ดี เนื่องจาก แบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ต่าง ๆ เจริญเติบโตได้ที่ในที่อับชื้นและไม่มีอากาศถ่ายเท จนก่อให้เกิดการอุดตันของรูขุมขนและทำให้เกิดสิว ซึ่งผู้ที่เสี่ยงจะเกิดสิวจากการสวมหน้ากากอนามัย คือ ผู้ที่มีผิวบอบบาง หรือผู้ที่กำลังอยู่ในช่วงระหว่างการรักษาสิว
วิธีป้องกันสิวจากการสวมหน้ากากอนามัย
สิว อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งสกปรก การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย อาการแพ้สารต่าง ๆ การมีผิวบอบบางระคายเคืองง่าย ตลอดจนการสวมหน้ากากอนามัย เนื่องจาก ก่อให้เกิดความอับชื้นที่ผิว จนทำให้มีการอุดตันของรูขุมขนและกลายเป็นสิวในที่สุด ซึ่งวิธีที่อาจช่วยป้องกันสิวจากการสวมหน้ากากอนามัยมีดังนี้
- ทำความสะอาดใบหน้าหลังการใส่หน้ากากอนามัย หากจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดทั้งวัน เมื่อกลับมาถึงบ้านควรถอดหน้ากากอนามัย และล้างทำความสะอาดใบหน้าทันที
- บำรุงผิว ถึงแม้ว่าต้องสวมหน้ากากอนามัยเป็นประจำ แต่หลังการทำความสะอาดใบหน้าก็ควรบำรุงผิวด้วยมอยส์เจอไรเซอร์
- หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์บำรุงผิวบางประเภท ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวบางประเภทหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิว
- ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ และไม่ควรนำมือมาสัมผัสกับใบหน้าบ่อย ๆ ลดการสัมผัสใบหน้าให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นตอนที่กำลังสวมหน้ากากอนามัย หรือตอนที่ถอดหน้ากากอนามัยทิ้งไปแล้วก็ตาม
- แต่งหน้าให้น้อยลง เพราะการแต่งหน้าและสวมหน้ากากอนามัยอาจยิ่งเป็นการเพิ่มความชื้นและความเสี่ยงต่อการอุดตันของรูขุมขนในบริเวณที่สวมหน้ากากอนามัย ดังนั้น ควรแต่งหน้าเฉพาะเวลาจำเป็นเท่านั้น
- ถอดหน้ากากอนามัยเพื่อลดความอับชื้น หากอยู่ในบริเวณที่ปลอดผู้คน หรือพื้นที่ที่มีความเป็นส่วนตัว อาจถอดหน้ากากอนามัย เพื่อให้ผิวหนังบริเวณใบหน้าได้รับอากาศที่ถ่ายเท และอาจมีการซับใบหน้าด้วยกระดาษซับหน้ามัน หรือล้างทำความสะอาดใบหน้าหากเป็นไปได้
- ปรึกษาคุณหมอ หากสังเกตเห็นว่าอาการสิวเกิดขึ้นจากการสวมหน้ากากอนามัยเป็นเวลานาน และไม่มีทีท่าว่าอาการจะดีขึ้น ควรปรึกษากับคุณหมอเฉพาะทาง ไม่ควรซื้อยามาใช้เอง
แม้ว่าการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อของโรคโควิด-19 จะเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นต้องใส่ใจอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรมองข้ามการดูแลผิวและดูแลสุขภาพในส่วนอื่น ๆ ด้วย เพราะหากปล่อยปละหรือละเลย อาจส่งผลให้เกิดปัญหาผิวหนังที่รุนแรงและอาจทำให้เกิดความยุ่งยากในการรักษาตามมาได้ ดังนั้น หากสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรค ก็ควรที่จะดูแลและทำความสะอาดผิวหนังหลังจากที่สวมหน้ากากอนามัยมาตลอดทั้งวันให้สะอาดด้วย