backup og meta

หน้าเป็นฝ้า สาเหตุ วิธีรักษาและดูแลตัวเอง

หน้าเป็นฝ้า สาเหตุ วิธีรักษาและดูแลตัวเอง

หน้าเป็นฝ้า เป็นปัญหาผิวที่พบได้บ่อย ผิวหน้าบริเวณที่เป็นฝ้าจะมีสีคล้ำกว่าผิวส่วนอื่นหรือมีลักษณะเหมือนรอยด่างดำ มักเกิดขึ้นบริเวณหน้าผาก โหนกแก้ม สันจมูก คาง และบริเวณที่ถูกแสงแดดเป็นประจำ โดยทั่วไป ฝ้ากระบนผิวหน้าเกิดจากผิวสัมผัสแสงแดดโดยตรง การรับประทานยาคุมกำเนิด และพันธุกรรม และมักพบในช่วงการตั้งครรภ์ด้วยเนื่องจากระดับฮอร์โมนแปรปรวน อย่างไรก็ตาม หน้าเป็นฝ้าไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่อาจส่งผลต่อรูปลักษณ์และความมั่นใจ ภาวะนี้อาจไม่สามารถรักษาหายสนิทได้ แต่อาจทำให้จางลงได้ด้วยการใช้ยาทาหรือเลเซอร์ ทั้งนี้ โดยควรไปพบคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม และควรดูแลตัวเองด้วยการทาครีมกันแดดเป็นประจำเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดฝ้าเพิ่ม

หน้าเป็นฝ้า เกิดจากอะไร

ฝ้าบนใบหน้า เกิดจากร่างกายสร้างเม็ดสีผิวหรือเมลานิน (Melanin) มากผิดปกติ ส่งผลให้เกิดรอยปื้นสีเข้มกว่าผิวบริเวณอื่น เช่น สีน้ำตาล สีเทา สีดำ มักพบที่แก้ม หน้าผาก คาง หรือบริเวณเหนือริมฝีปากบน ในขณะนี้ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของฝ้าได้อย่างชัดเจน แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดได้จากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • แสงแดด แสงแดดจะกระตุ้นให้ผิวหนังบริเวณที่โดนแดดสร้างเม็ดสีผิวหรือเมลานินมากกว่าปกติ จนผิวหนังบริเวณนั้นมีสีเข้มกว่าบริเวณอื่น เมื่อเม็ดสีสะสมในปริมาณมากเป็นเวลานาน และอาจทำให้เกิดฝ้า และแม้ว่าฝ้าจะจางลงแล้ว หากถูกแสงแดดเป็นประจำอีกก็อาจทำให้เกิดฝ้าซ้ำได้อีก
  • การตั้งครรภ์ ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดฝ้า โดยส่วนใหญ่ฝ้าที่เกิดจากระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงมักดีขึ้นตามลำดับหลังจากคลอดบุตร
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยากันชัก ยาปฏิชีวนะบางชนิด ยาลดความดันโลหิตบางชนิด อาจกระตุ้นให้เกิดฝ้าได้
  • พันธุกรรม ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวมีปัญหาหน้าเป็นฝ้า อาจเสี่ยงเกิดฝ้าได้มากกว่าคนทั่วไป

วิธีการรักษา หน้าเป็นฝ้า

ฝ้าอาจไม่สามารถรักษาให้หายถาวร แต่วิธีเหล่านี้อาจช่วยให้ฝ้าจางลงได้

  • ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) เป็นยาที่ใช้ในการรักษาฝ้า โดยมีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสี ช่วยให้ฝ้าดูจางลง ยานี้เป็นยาที่ต้องให้คุณหมอสั่งจ่ายและควรใช้ตามคำแนะนำของคุณหมอและเภสัชกรอย่างเคร่งครัด
  • ครีมรักษาฝ้า (Triple combination cream) เป็นครีมที่มีส่วนผสมของไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) เตรทติโนอิน (Tretinoin) และคอร์ติโคสเตีย์รอยด์ (Corticosteroid) ในตัวเดียว มีประสิทธิภาพในการลดเลือนรอยด่างดำจากฝ้าได้
  • เรตินอล เรตินอลอาจช่วยผลัดเซลล์ผิวและดันชั้นผิวที่คล้ำเสียให้ลอกออก และสร้างเซลล์ผิวใหม่ขึ้นมาทดแทน ทั้งนี้ ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม
  • การผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมี (Chemical peel) เป็นวิธีช่วยลดเลือนฝ้าที่เกิดจากแสงแดดด้วยการใช้สารเคมี เช่น กรดอัลฟาไฮดรอกซีหรือเอเอชเอ (Alpha Hydroxy Acids หรือ AHA) เบตาไฮดรอกซีหรือบีเอชเอ (Beta Hydroxy Acid หรือ BHA) กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) สารละลายกรดไตรคลอโรอะเซติก (Trichloroacetic acid หรือ TCA) ฟีนอล (Phenol) มาผลัดเซลล์ผิวเก่าให้หลุดลอกออก เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่ การรักษาด้วยวิธีนี้ควรให้คุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะจำเป็นต้องประเมินสภาพผิวก่อนรับการรักษา และการผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมีอาจทำให้ผิวหนังอักเสบจนฝ้าหรือรอยด่างดำบนใบหน้าแย่ลงได้ จึงควรดูแลผิวหลังเข้ารับการรักษาตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด
  • การเลเซอร์ คุณหมออาจแนะนำวิธีนี้หากรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล โดยผู้เชี่ยวชาญจะยิงเลเซอร์แทรกซึมเข้าไปในชั้นผิวชั้นนอก ส่งผลให้มีการทำลายเม็ดสีส่วนเกิน และช่วยผลัดเซลล์ผิวใหม่เพื่อให้ผิวสว่างและสม่ำเสมอมากขึ้น

วิธีดูแลเมื่อหน้าเป็นฝ้า

วิธีดูแลตัวเองเมื่อหน้าเป็นฝ้า อาจทำได้ดังนี้

  • เลือกใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของไอเอิร์นออกไซด์ (Iron oxide) ซึ่งสามารถป้องกันแสงธรรมชาติได้มากกว่าครีมกันแดดทั่วไป และควรเลือกครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 ขึ้นไปเพื่อป้องกันรังสียูวี ทั้งรังสี UVA ที่อาจก่อให้เกิดจุดด่างดำเพิ่มขึ้น และรังสี UVB ที่ทำให้ผิวชั้นนอกไหม้แดด และทำลายดีเอ็นเอใต้ผิวหนัง โดยปริมาณครีมกันแดดที่แนะนำสำหรับทาผิวหน้าอยู่ที่ 1-2 กรัม/ครั้ง หรือประมาณ 2 ข้อนิ้ว โดยควรทาครีมกันแดดก่อนออกแดดอย่างน้อย 15-30 นาที และทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง หรือบ่อยกว่านั้นหากเหงื่อออกมากหรือทำกิจกรรมทางน้ำ
  • หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดฝ้าบนใบหน้า เช่น แสงแดด การรับประทานยาคุมกำเนิด
  • เลือกผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่อ่อนโยนและปราศจากน้ำหอม เพื่อลดความเสี่ยงที่ทำให้ผิวระคายเคืองและอาจทำให้ฝ้ารุนแรง
  • หลีกเลี่ยงการแว็กซ์กำจัดขนบริเวณที่มีฝ้า เนื่องจากอาจทำให้ผิวระคายเคืองและทำให้ฝ้าแย่ลงกว่าเดิม

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

How to Fight Dark Spots on Your Skin. https://www.webmd.com/beauty/features/dark-spots-skin-hyperpigmentation. Accessed June 8, 2022

Melasma: Causes. https://www.aad.org/public/diseases/a-z/melasma-causes. Accessed June 8, 2022

Seeing spots? Treating hyperpigmentation. https://www.mayoclinichealthsystem.org/hometown-health/speaking-of-health/seeing-spots-treating-hyperpigmentation. Accessed June 8, 2022

Sun damage. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/adult-health/multimedia/sun-damage/sls-20076973?s=7. Accessed June 8, 2022

MELASMA: SELF-CARE. https://www.aad.org/public/diseases/a-z/melasma-self-care. Accessed June 8, 2022

Melasma Treatment: An Evidence-Based Review. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/31802394/. Accessed June 8, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/07/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

รักษาฝ้า ด้วยสมุนไพรไทย ช่วยให้ใบหน้าสวยใส

Salicylic Acid คือ อะไร มีประโยชน์อย่างไรกับผิวหนัง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/07/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา