หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่า เป็นฝีบ่อย บ่ง บอก อะไร ซึ่งการเป็นฝีบ่อยอาจเป็นการดื้อต่อการรักษาแบบเดิม หรืออาจเป็นสัญญาณของโรคเรื้อรังแฝงที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง และการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต หรือเชื้อราภายในร่างกาย เช่น โรคเบาหวาน โรคระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง การติดเชื้อเอชไอวี วัณโรค ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว อย่างไรก็ตาม หากพบว่าตนเองเป็นฝีบ่อย ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการวินิจฉัยแยกโรคเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เป็นฝีบ่อย
[embed-health-tool-bmr]
ฝี เกิดจากอะไร
สาเหตุของฝีส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟฟิโลคอกคัส (Staphylococcus) ที่เข้าสู่ร่างกาย รองลงมาอาจเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต และเชื้อรา โดยระบบภูมิคุ้มกันจะส่งเซลล์เม็ดเลือดขาวไปต่อสู่กับเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งกระบวนการนี้ทำให้เกิดการอักเสบและทำให้เนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงตาย ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการก่อตัวเป็นก้อนฝีขึ้น และมีหนองตามมา
เป็นฝีบ่อย บ่ง บอก อะไร
สำหรับบางคนที่เป็นฝีบ่อยอาจมีข้อสงสัยว่า เป็นฝีบ่อยบ่งบอกอะไร ซึ่งในกรณีนี้อาจเป็นการดื้อต่อการรักษาแบบเดิม หรือเป็นการกลับมาเป็นซ้ำของฝี เนื่องจากการติดเชื้อภายในครอบครัวหรือชุมชน อย่างไรก็ตาม การเป็นฝีบ่อยยังอาจเป็นการแสดงอาการของโรคเรื้อรังที่แฝงอยู่ เช่น โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง โรคเบาหวาน มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว การติดเชื้อเอชไอวี วัณโรค เนื้อปอดตาย (Necrotising Pneumonia) เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งเป็นโรคแฝงที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบภูมิคุ้มและการติดเชื้อภายในร่างกาย ส่งผลทำให้เกิดฝีได้บ่อยครั้งมากขึ้น
การรักษาฝี
หากพบว่าตนเองเป็นฝีบ่อย หรือมีอาการไข้ บวมแดง และเจ็บปวดร่วมด้วย ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการวินิจฉัยอาการและวินิจฉัยแยกโรคที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เป็นฝีบ่อย เพื่อที่คุณหมอจะได้ทำการรักษาเฉพาะโรคที่เป็นสาเหตุหลักของการเป็นฝีบ่อยได้อย่างเหมาะสม ร่วมกับวิธีการรักษาฝี ดังนี้
- ยาปฏิชีวนะ เช่น ไดคลอกซาซิลลิน (Dicloxacillin) อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
- การผ่าตัดเพื่อระบายเอาหนองออก จากนั้นจะขจัดเอาเนื้อเยื่อที่ตายแล้วออก ทำความสะอาด และปิดแผล
การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการเกิดฝี
ฝีส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่บาดแผล ร่วมกับการอุดตันของรูขุมขนจนเกิดเป็นก้อนฝี ดังนั้น วิธีที่จะช่วยป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังและการอุดตันของรูขุมขน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำใหเป็นฝีบ่อย อาจทำได้ด้วยการดูแลสุขภาพผิวให้สะอาด
นอกจากนี้ ยังมีวิธีที่สามารถช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียไปสู่ผิวหนังบริเวณอื่นและสู่ผู้อื่น ดังนี้
- อาบน้ำเป็นประจำทุกวัน เพื่อขจัดเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนังที่อาจทำให้เกิดฝี
- ล้างมือเป็นประจำและส่งเสริมให้คนในครอบครัวล้างมือเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังจากกลับมาจากข้างนอก หรือใช้มือหยิบจับวัสดุที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรค
- ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว หมอน หวี เสื้อผ้า มีดโกน เพราะอาจปนเปื้อนเชื้อและแพร่กระจายสู่กันได้
- หากพบว่าตัวเองเป็นฝีควรทำการรักษาจนกว่าฝีจะหายขาด ก่อนที่จะเข้าใช้พื้นที่หรืออุปกรณ์ส่วนรวม เช่น เครื่องออกกำลังกาย ซาวน่า สระว่ายน้ำ
- ห้ามบีบหัวฝีเพื่อระบายหนองออกด้วยตัวเอง เพราะจะทำให้เชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่นของผิวหนัง หรือหากใช้กระดาษทิชชูเช็ดหนองควรทิ้งลงถังขยะและล้างมือทันที เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น
- หากใช้มีดโกนโกนขน ควรระมัดระวังไม่ให้เกิดบาดแผลและความระคายเคือง ที่อาจทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่บาดแผลได้ง่าย
- หากพบมีก้อนซีสต์ของผิวหนัง ควรไปพบแพทย์ เพื่อพิจารณาผ่าตัดออกกรณีเสี่ยวต่อการอักเสบแล้วติดเชื้อตามมา
- ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง โดยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันที่ช่วยปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อ และลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ได้อีกด้วย