backup og meta

การติดเชื้อราที่ผิวหนัง ปัญหาผิวใกล้ตัว

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

    การติดเชื้อราที่ผิวหนัง ปัญหาผิวใกล้ตัว

    การติดเชื้อราที่ผิวหนัง อาจทำให้เกิดผื่นหรือมีอาการคันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และอาจติดต่อกันได้ เนื่องจากเชื้อราเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มีอยู่ทั่วไปในอากาศ ในน้ำ และในร่างกายมนุษย์ ควรรักษาความสะอาดและดูแลตนเองอยู่เสมอ นอกจากนั้น เชื้อราบางชนิดอาจเป็นอันตรายและอาจส่งผลให้เกิดโรคผิวหนังที่รุนแรงได้ จึงควรเรียนรู้วิธีป้องกัน ประเภทการติดเชื้อรา และการรักษาเพื่อให้สามารถรับมือกับโรคได้

    การติดเชื้อราที่ผิวหนัง

    เชื้อราบางชนิดเป็นอันตรายและอาจส่งผลทำให้เกิดการติดเชื้อราที่ผิวหนังซึ่งอาจทำให้เกิดผื่นและอาการคัน อีกทั้งยังติดต่อผ่านการสัมผัสโดยตรงได้ เช่น การยืมรองเท้าหรือเสื้อผ้า เชื้อราอาจสัมผัสกับผิวหนังและทำให้เกิดการติดเชื้อ หรืออาจเกิดจากการติดต่อจากสัตว์สู่คนได้เช่นกัน

    ประเภทการติดเชื้อราที่ผิวหนัง

    การติดเชื้อราบนผิวหนัง เกิดขึ้นได้ทุกที่ในร่างกาย ซึ่งอาจแบ่งประเภทของการติดเชื้อราที่ผิวหนังได้ ดังนี้

    • โรคน้ำกัดเท้า เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด มักเกิดจากการเดินเท้าเปล่าในแอ่งน้ำขัง หรือในห้องน้ำสาธารณะ โดยผิวหนังระหว่างนิ้วเท้าจะเริ่มซีดและลอก อีกทั้งเชื้ออาจแพร่กระจายต่อได้
    • เชื้อราที่เล็บ เป็นอาการที่อาจทำให้เล็บเท้าเปลี่ยนสี เล็บเปราะ และแตก ซึ่งมักเกิดขึ้นที่บริเวณเล็บเท้า
    • สังคัง มักเกิดผื่นที่ขาหนีบ มีอาการคัน ส่วนใหญ่พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
    • กลากที่หนังศีรษะ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเด็ก และมักทำให้ผมร่วง
    • กลากเกลื้อน เป็นเชื้อราที่อาศัยอยู่ตามเนื้อเยื้อที่ตายแล้ว ผิวหนัง หนังศีรษะ และเล็บ อาจทำให้เกิดอาการคัน มีตุ่ม และผื่นรูปวงแหวน

    ปัจจัยเสี่ยง

    ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิด การติดเชื้อบนผิวหนัง ดังนี้

    • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
    • ใช้ยาปฏิชีวนะระยะยาว
    • มีน้ำหนักเกิน
    • เป็นโรคเบาหวาน
    • เปลี่ยนผลิตภัณฑ์ดูแลผิวชนิดใหม่
    • เหงื่อออกมาก
    • กำลังตั้งครรภ์

    อาการ

    อาการของผู้ที่ติดเชื้อราในผิวหนัง มักแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับประเภทของ เชื้อรา ซึ่งอาการโดยทั่วไปได้แก่

    • ระคายเคือง
    • ผิวเป็นสะเก็ด
    • มีรอยแดง
    • คัน
    • บวม
    • เกิดแผลพุพอง

    ควรพบคุณหมอเมื่อใด

    การติดเชื้อราบนผิวหนัง ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง แต่ควรพบคุณหมอเมื่อมีอาการ เพื่อจะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะอาการเหล่านี้

    • มีผื่นขึ้นทั่วร่างกาย
    • ผื่นเกิดขึ้นอย่างกะทันหันและลุกลามอย่างรวดเร็ว
    • มีอาการเจ็บ พุพอง หรือติดเชื้อ
    • ผื่นเกิดขึ้นพร้อมกับมีไข้

    การรักษา 

    การรักษา เชื้อราที่ผิวหนัง ได้แก่

    • การใช้ยาต้านเชื้อราชนิดยาใช้ภายนอก เช่น ครีม เจล โลชั่น แชมพู
    • ยาตามใบสั่งแพทย์
    • ยารับประทานหากมีอาการติดเชื้อรุนแรง

    ผู้ที่มีอาการเชื้อราที่ผิวหนังควรหมั่นคอยสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอ หากอาการรุนแรงขึ้นหลังจากผ่านไป 2 สัปดาห์ ให้รีบพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาในขั้นต่อไป

    การป้องกัน

    เชื้อราที่ผิวหนัง อาจกลับมาเป็นซ้ำได้ เพื่อหยุดการแพร่กระจายและกลับมาเป็นซ้ำ วิธีเหล่านี้อาจช่วยป้องกันได้ ดังนี้

    • ดูแลให้ผิวสะอาดและแห้ง
    • สวมรองเท้าทุกครั้งเมื่ออยู่นอกบ้าน
    • เปลี่ยนถุงเท้าและชุดชั้นในทุกวัน
    • หลีกเลี่ยงการใช้เสื้อผ้าหรือของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
    • ล้างมือด้วยสบู่ หลังจากเล่นกับสัตว์เลี้ยงและก่อนรับประทานอาหาร
    • ตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา