backup og meta

งูสวัดเกิดจากอะไร วิธีป้องกันโรคงูสวัด ทำได้อย่างไร

งูสวัดเกิดจากอะไร วิธีป้องกันโรคงูสวัด ทำได้อย่างไร

โรคงูสวัดเป็นโรคที่สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก อาการปวดมักรุนแรงและเจ็บปวดได้หลายแบบ งูสวัดเกิดจากอะไร ความจริงแล้วโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อว่า ไวรัสวาริเซลลา (Varicella Virus) ซึ่งเป็นเชื้อเดียวกับโรคสุกใสหรือโรคอีสุกอีใส อีกทั้งเป็นไวรัสที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับไวรัสเริมติดต่อได้ง่ายเหมือนโรคสุกใส แต่โรคนี้ก็ยังมีวิธีรักษาและลดความรุนแรงของโรคงูสวัดได้ด้วย 

[embed-health-tool-heart-rate]

งูสวัดเกิดจากอะไร 

โรคงูสวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา ติดต่อทางการหายใจเอาเชื้อไวรัสเข้าไปภายในร่างกาย หรือสัมผัสน้ำเหลืองที่แผล เมื่อติดเชื้อครั้งแรกจะเป็นโรคอีสุกอีใส จนได้รับการรักษาโรคอีสุกอีใส เมื่อหายดีแล้ว ไวรัสไม่ได้หายไปแต่เชื้อไวรัสจะหลบซ่อนอยู่ในปมประสาท ไม่ได้แสดงอาการอะไร จนกระทั่งสุขภาพแย่ลง ภูมิต้านทานต่อไวรัสลดลง ไวรัสจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวน โดยอาจมีปัจจัยเสี่ยงมาจากพฤติกรรมและการใช้ชีวิต เช่น ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย อ่อนเพลีย มีความเครียด โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน และผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้ยาเคมีบำบัด 

อาการของโรคงูสวัด

อาการที่พบได้บ่อยของโรคงูสวัดมีดังนี้

  • ปวดแสบปวดร้อนที่บริเวณผิวหนัง 
  • ผื่นแดง
  • มีตุ่มน้ำในลักษณะเป็นกลุ่ม เรียงตัวตามแนวเส้นประสาท ตุ่มน้ำสามารถกลายเป็นตุ่มหนองและแตกเป็นแผล หรือเป็นสะเก็ด และอาจมีแผลเป็นได้ 
  • เมื่ออาการทางผิวหนังหายแล้ว จะเกิดอาการปวด โดยอาการแทรกซ้อนของงูสวัด คือ ปวดเส้นประสาท 
  • อาการปวดเกิดขึ้นได้ทั้งก่อนมีผื่น หรือแม้แต่ตอนผื่นหายแล้ว ลักษณะการปวดจะแตกต่างกันไป ในบางรายจะปวดแสบปวดร้อน คล้ายเข็มแทงหรือมีดกรีดบนร่างกาย บางรายมีอาการคัน หรือชาได้
  • ภาวะแทรกซ้อนอื่น เช่น ติดเชื้อแบคทีเรีย ตาอักเสบ หรือภาวะแทรกซ้อนทางหู กล้ามเนื้ออ่อนแรง

วิธีรักษาโรคงูสวัด

เนื่องจากสาเหตุของโรคงูสวัดคือ เชื้อไวรัส แพทย์อาจให้ผู้ป่วยบางรายรับประทาน ยาต้านไวรัส เช่น Acyclovir ภายใน 48-72 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ เพื่อลดความรุนแรงของโรค ลดภาวะแทรกซ้อน อาจทำให้รอยโรคทางผิวหนังหายเร็ว สำหรับการรักษาโรคงูสวัดและวิธีดูแลผู้ป่วยโรคงูสวัด มีดังนี้

  • รับประทานยาแก้ปวด เพราะโรคงูสวัดหายเองได้ ในกรณีผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันปกติ หรือให้ยาพาราเซตตามอล ยาระงับการปวดปลายประสาท เมื่อมีอาการปวดหลังการติดเชื้อ
  • บรรเทาแผลจากโรคงูสวัด ด้วยการประคบแผลด้วยน้ำเกลือ 10 นาที  3-4 ครั้งต่อวัน 
  • ในรายที่ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนต้องได้รับยาปฏิชีวนะชนิดทาหรือรับประทาน
  • หากมีอาการปากเปื่อยลิ้นเปื่อยให้ใช้น้ำเกลือกลั้วปาก

ข้อควรระวังสำหรับผู้ป่วยโรคงูสวัด 

ไม่ควรพ่นหรือทายาที่ซื้อมาเอง เช่น ยาสมุนไพรพื้นบ้าน เพราะการใช้ยาบริเวณตุ่มน้ำ อาจทำให้ติดเชื้อแบคทีเรีย ส่งผลให้แผลหายช้า อาจเกิดเป็นแผลเป็นได้ 

วิธีป้องกัน ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดที่สามารถกระตุ้นภูมิต้านทานในผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ ให้สูงขึ้น ช่วยลดโอกาสการเกิดโรคงูสวัดและลดความรุนแรงของโรคได้ ส่วนผู้ที่เคยเป็นโรคสุกใสแล้ว ในร่างกายจะมีเชื้ออยู่แล้ว ถ้ารับเชื้อเพิ่มก็ไม่ได้ส่งผลให้เกิดผื่น

เมื่อทราบแล้วว่า งูสวัดเกิดจากอะไร ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ หมั่นดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ หากสงสัยว่าเป็นโรคงูสวัด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

โรคงูสวัด (Herpes Zoster, Shingles). https://www2.si.mahidol.ac.th/km/cop/clinical/derma/7875/. Accessed March 27, 2023.

โรคงูสวัด (Herpes Zoster, Shingles). https://www.si.mahidol.ac.th/Th/healthdetail.asp?aid=1085. Accessed March 27, 2023.

“โรคงูสวัด”เพิ่มขึ้น 10 %. https://www.rajavithi.go.th/rj/?tag=โรคงูสวัด. Accessed March 27, 2023.

แพทย์ผิวหนังเผยโรคงูสวัด ป้องกันได้. https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/161345. Accessed March 27, 2023.

แพทย์แนะฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดในผู้สูงอายุ. https://pr.moph.go.th/index.php?url=pr/detail/2/02/129882/. Accessed March 27, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/04/2023

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

รอยแผลเป็นจากอีสุกอีใส รักษาด้วยวิธีไหนได้ผลดีที่สุด

งูสวัดกี่วันหาย อาการ สาเหตุ และการรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 24/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา