ผื่น เป็นการอักเสบของผิวหนัง ซึ่งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจนบริเวณผิวหนังหรือสีผิว ผื่นอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การแพ้ต่าง ๆ การติดเชื้อไวรัส เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ซึ่งทำให้ผิวเกิดอาการคัน ระคายเคือง บวมแดง หรือเป็นสะเก็ด ดังนั้น จึงควรเข้าพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุของผื่นที่แน่ชัดและรับการรักษาที่เหมาะสม
[embed-health-tool-bmr]
ผื่น คืออะไร
ผื่น คือ การอักเสบของผิวหนังที่อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การแพ้ต่าง ๆ การติดเชื้อ ซึ่งอาจเห็นความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนบริเวณผิวหนังหรือสีผิว นอกจากนั้นยังอาจทำให้ผิวหนังเกิดอาการคัน ระคายเคือง เป็นสะเก็ด ผื่นมีด้วยกันหลายประเภท ที่พบบ่อย มีดังนี้
- ผิวหนังอักเสบ หรือ โรคผื่นแพ้อักเสบ อาจเกิดจากการที่ผิวหนังไปสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ เช่น สารเคมีต่าง ๆ ในเสื้อผ้า รวมถึงสีย้อมผ้า เครื่องสำอาง ผงซักฟอก สบู่ สารเคมีในผลิตภัณฑ์พลาสติก ยาง หรือน้ำยาง การเปลี่ยนแปลงของอากาศและสภาพแวดล้อม ผู้ที่เป็นโรคผื่นแพ้อักเสบ เกิดจากผิวหนังที่ไวต่อสภาพแวดล้อม ทำให้เกิดอาการคัน บวมแดง หรือผิวหนังแตกเป็นสะเก็ด
- งูสวัด เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella Virus) ซึ่งเป็นไวรัสตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดอีสุกอีใส งูสวัดอาจทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณผิวหนัง มีผื่นแดงขึ้นบริเวณที่ปวดมีไข้ ผื่นอาจมีลักษณะเป็นตุ่มใสเรียงกันเป็นกลุ่ม หรือเป็นแถวยาวตามแนวเส้นประสาท เมื่อผื่นแตกก็อาจเป็นแผล และตกสะเก็ด งูสวัดอาจหายได้เองใน 2 สัปดาห์
- โรคเซ็บเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่เกิดจากต่อมไขมัน ผื่นที่เกิดขึ้นอาจมีลักษณะเป็นสะเก็ดหรือรอยแดงรอบปาก จมูก คิ้ว ตา หลังใบหู แต่หากเกิดบริเวณหนังศีรษะอาจเรียกว่า รังแค ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในทารกและผู้ใหญ่
- แผลพุพอง (Impetigo) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเสตร็ปโตคอสคัสชนิดเอ (Streptococcus group A) และเชื้อแบคทีเรียสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) บริเวณหนังกำพร้า อาจส่งผลทำให้ผิวเกิดแผลพุพองและเป็นหนอง โดยอาจพบได้บ่อยในเด็ก ผื่นกุหลาบ (Pityriasis Rosea) เป็นผื่นผิวหนังทั่วไปที่เกิดจากเชื้อไวรัส ช่วงเริ่มต้นอาจทำให้ผิวหนังเป็นสีชมพู ซึ่งอาจเกิดขึ้นเป็นหย่อม ๆ บริเวณหน้าอกหรือหลัง ซึ่งขนาดและบริเวณที่เกิดผื่นจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล อาการที่เกิดขึ้นอาจทำให้ผิวหนังเกิดผื่นแดง อักเสบ และมีอาการคัน
- โรคสะเก็ดเงิน อาจเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายผิดปกตินำไปสู่การกระตุ้นเพิ่มจำนวนเซลล์ผิวรวดเร็วจนเกินไป ทำให้เกิดเป็นสะเก็ดหนาปกคลุมผิวหนังทั่วร่างกาย รวมถึงหนังศีรษะ มีผื่นขึ้นตามลำตัว ทำให้เกิดอาการคัน แสบร้อน ผิวแห้งแตก
อาการของผื่น
อาการของผื่นจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล และสาเหตุของการเกิดผื่น อาการที่อาจพบได้ทั่วไป อาจได้แก่
- เกิดตุ่มใสขนาดเล็ก เมื่อเกาหรือมีรอยขีดข่วนจะทำให้ของเหลวที่อยู่ภายในตุ่มซึมออกมา
- การติดเชื้อบริเวณผิวที่มีความบอบบาง
- ผิวแดง
- มีอาการคัน ระคายเคือง
- ผิวแห้ง เป็นขุย หากเกาเป็นระยะเวลานาน ๆ อาจทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นเป็นแผล และเปลี่ยนเป็นหนังหนา ๆ หรือมีลักษณะเป็นสะเก็ด
แม้ผื่นจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ผื่นก็อาจบ่งบอกถึงโรคร้ายแรงอื่น ๆ ได้ ดังนั้น ควรไปพบคุณหมอทันทีหากมีอาการต่าง ๆ เหล่านี้
- มีไข้ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
- เจ็บคอ
- ปวดตามข้อ
- หน้าบวม
- หายใจไม่ออก
- วิงเวียนศีรษะ
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
- อาเจียน หรือท้องเสียซ้ำ ๆ
- เกิดอาการเจ็บปวดบริเวณที่เกิดผื่น
- มีผื่นขึ้นทั่วร่างกาย
- มีผื่นเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และมีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว
- ผื่นเป็นสีม่วงที่ดูเหมือนรอยฟกช้ำ
- ผื่นเริ่มเป็นแผลพุพอง
สาเหตุของผื่น
ผื่นอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
- ยา ผื่นที่เกิดขึ้นในบางคนอาจเป็นผลข้างเคียงของยา หรืออาการแพ้ยาบางชนิดรวมถึงยาปฏิชีวนะ เช่น ซัลฟา เพนิซิลลิน ผื่นเหล่านี้อาจทำให้ผิวหนังไวต่อแสงแดดมากขึ้น ทั้งยังอาจทำให้ผิวหนังมีลักษณะคล้ายกับการถูกแดดเผา
- ผื่นแพ้สัมผัส เป็นสาเหตุที่อาจพบได้บ่อยในการเกิดผื่น อาจเกิดการที่ผิวหนังมีปฏิกิริยากับสิ่งกระตุ้น เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม พลาสติก ยาง น้ำยา สีย้อมในเสื้อผ้า จนทำให้ผิวหนังเกิดอาการอักเสบ เกิดผื่นแดง
- โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Autoimmune Diseases) เมื่อระบบภูมิคุ้มกันส่งผลต่อเนื้อเยื่อที่สุขภาพดี อาจทำให้เกิดผื่นขึ้นได้ โดยโรคแพ้ภูมิตัวเอง ได้แก่ โรคลูปัส (Lupus) ซึ่งเป็นภาวะที่ส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย รวมทั้งผิวหนังด้วย จนทำให้เกิดผื่นรูปผีเสื้อบนใบหน้า
- การติดเชื้อ การติดเชื้อจากเชื้อรา ไวรัส แบคทีเรีย อาจทำให้เกิดผื่นได้ โดยผื่นจะแตกต่างกันไปตามประเภทของการติดเชื้อ เช่น เชื้อราแคนดิดาซี (Candidiasis) อาจทำให้เกิดผื่นคันบริเวณรอยพับของผิวหนัง เชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella Virus) อาจทำให้เกิดผื่นลักษณะเป็นตุ่มใส่ ทั้งยังอาจทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนัง และเชื้อแบคทีเรียเสตร็ปโตคอสคัสชนิดเอ (Streptococcus group A) อาจส่งผลทำให้ผิวหนังกำพร้าเกิดแผลพุพอง
การวินิจฉัยผื่น
คุณหมออาจตรวจผิวหนังรวมถึงสอบถามอาการที่เกิดขึ้น นอกจากนั้น ยังอาจมีการตรวจบริเวณผิวหนังที่แข็งกระด้าง หรือเป็นขุยรวมถึงการทดสอบภูมิแพ้ การตรวจเลือด การตรวจชิ้นเนื้อที่ผิวหนัง และเศษผิวหนัง เพื่อแยกแยะโรคผิวหนังหรือการติดเชื้ออื่น ๆ
การรักษาผื่น
การรักษาผื่นอาจทำได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
- ใช้มอยเจอไรเซอร์ที่ปราศจากน้ำหอม และมีส่วนผสมอื่น ๆ เช่น น้ำมันแร่ (Mineral Oil) กลีเซอรีน เซราไมด์ รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอาง หรือทาโลชั่นลงบนผื่นโดยตรง
- ยา ครีม หรือขี้ผึ้งที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา
- ครีมคอร์ติโซน (Cortisone) ซึ่งต้องสั่งจ่ายโดยคุณหมอ
- รับประทานยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาโรคผิวหนังติดเชื้อ
- รับประทานยาแก้แพ้ เพื่อควบคุมอาการคัน
- การรักษาด้วยการส่องไฟ (Phototherapy) เป็นการรักษาด้วยคลื่นแสงอัลตราไวโอเลต ไม่ว่าจะเป็น UVA หรือ UVB ซึ่งพบได้ในแสงแดด แต่การรักษาด้วยวิธีนี้อาจทำให้ผิวแห้ง ผิวเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควร ฝ้า กระ เกิดอาการคันบริเวณผิวหนัง
วิธีการดูแลตัวเอง
สำหรับวิธีการดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้เป็นผื่น หรือทำให้อาการต่าง ๆ ของผื่นดีขึ้น อาจทำได้ดังนี้
- ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว
- หลีกเลี่ยงวัสดุที่อาจทำให้เกิดรอยขีดข่วน เช่น ผ้าขนสัตว์
- หลีกเลี่ยงสารเคมีต่าง ๆ เช่น สารซักฟอก สบู่ที่มีฤทธิ์รุนแรง
- ใช้สบู่อ่อน ๆ ไม่แต่งกลิ่น เช่น สบู่สำหรับทารก
- หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เหงื่อออก และร้อนเกินไป
- ลดความเครียดด้วยกิจกรรมต่าง ๆ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง
- หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิหรือความชื้นอย่างกะทันหัน