backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ผื่นคัน สาเหตุ อาการ การรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 15/06/2022

ผื่นคัน สาเหตุ อาการ การรักษา

ผื่นคัน เป็นอาการที่เกิดจากโรคผิวหนังต่าง ๆ เช่น โรคกลาก ลมพิษ  ผื่นกุหลาบ ที่ส่งผลให้เกิดผดผื่นขึ้นตามผิวหนังในบางบริเวณ หรือทั่วทั้งร่างกาย และมีอาการคัน ระคายเคือง หากสังเกตเห็นว่ามีผื่นขึ้นที่ผิวหนัง หรือมีอาการเจ็บปวดเมื่อสัมผัส ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมที่สุด

คำจำกัดความ

ผื่นคัน คืออะไร

ผื่นคัน คืออาการคันผิวหนังที่เกิดจากโรคหรือภาวะสุขภาพ เช่น กลาก ผื่นรูปวงแหวน (Granuloma annulare) ไลเคน พลานัส (Lichen Planus) ผื่นกุหลาบ หรือโรซาเซีย (Pityriasis rosea) รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น สารระคายเคือง สารเคมี เชื้อรา ที่ส่งผลให้ผิวหนังอักเสบ พุพอง มีตุ่มนูน หรืออาจมีหนองด้วย ผื่นคันอาจขึ้นทั่วร่างกาย หรือขึ้นบริเวณใดบริเวณหนึ่งของผิวหนัง

อาการ

อาการผื่นคัน

อาการที่พบอาจเป็นไปตามสาเหตุที่ทำให้เกิดผื่นคัน แต่ส่วนใหญ่สามารถสังเกตได้จากสัญญาณดังนี้

  • ผิวแห้งแตกเป็นขุย
  • อาการคัน
  • ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีแดง
  • ตุ่มนูนเล็ก หรือแผลพุพอง ผื่นบางชนิดอาจมีของเหลวใสอยู่ภายใน หรือมีหนอง

สาเหตุ

สาเหตุของผื่นคัน

สาเหตุที่ทำให้เกิดผื่นคัน อาจมาจากโรคต่าง ๆ ดังนี้

  • กลาก เป็นโรคผิวหนังอักเสบที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย มักพบบริเวณข้อพับ ใบหน้า หลังคอ และหนังศีรษะ ผู้ที่เป็นกลากอาจมีอาการคัน ระคายเคืองผิวหนัง ผิวแห้ง และผื่นคันอาจมีของเหลวใสอยู่ภายใน
  • ไลเคนพลานัส (Lichen Planus) คือโรคผิวหนังที่เกิดจากความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำลายเนื้อเยื่อตัวเอง พบได้บ่อยในช่วงอายุ 30-70 ปี โดยสังเกตได้จากผื่นแดงอมม่วง มักปรากฏบนผิวหนังทั่วทั้งร่างกาย เช่น คอ ในช่องปาก ข้อเท้า ขา หลัง
  • ผื่นรูปวงแหวน เป็นโรคทางผิวหนังเรื้อรัง ลักษณะของผื่นจะเป็นรูปวงแหวนหรือวงกลม พร้อมมีอาการคันเล็กน้อย
  • ผื่นกุหลาบ เป็นผื่นผิวหนังที่อาจเกิดจากเชื้อไวรัส แต่ไม่ก่อให้เกิดอาการรุนแรง และไม่สามารถแพร่กระจายได้ โดยผื่นกุหลาบสามารถสังเกตได้จากมีอาการคัน และมีผื่นสีชมพูหรือสีแดงขนาดใหญ่บริเวณหน้าอก คอ หลัง หน้าท้อง ต้นแขนและขา
  • ลมพิษ เป็นผื่นผิวหนังที่เกิดจากสารฮีสตามีนในร่างกายตอบสนองต่อสารระคายเคือง เนื่องจากฮีสตามีนเป็นโปรตีนที่มีบทบาทสำคัญช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียและไวรัส จึงอาจส่งผลให้เกิดลมพิษขึ้น

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงผื่นคัน

นอกจากโรคผิวหนังแล้ว ยังมีปัจจัยรอบตัวที่อาจก่อให้เกิดผื่นคันได้ ดังนี้

  • สารระคายเคืองในผลิตภัณฑ์ เช่น โลชั่น ครีม น้ำหอม สบู่ น้ำยาปรับผ้านุ่ม แชมพู
  • สารเคมีจากเครื่องประดับ เช่น โลหะ นิกเกิล
  • สารเคมีอื่น ๆ เช่น กาว ยาทาเล็บ สารเคมีการเกษตร
  • แสงแดด

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยผื่นคัน

การวินิจฉัยผื่นคัน คุณหมออาจทดสอบด้วยการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อ หรือผิวหนังที่เป็นขุยไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเฉพาะทาง

การรักษาผื่นคัน

การรักษาผื่นคัน อาจขึ้นอยู่กับผลการวินิจฉัย และสาเหตุที่ทำให้เกิดผื่นคัน ดังนี้

  • กลาก อาจรักษาด้วยการบำบัดด้วยแสงอัลตราไวโอเลตเอ (UVA) และอัลตราไวโอเลตบี (UVB) ร่วมกับการใช้ยาหรือครีม เช่น ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) ยูคริซา (Eucrisa) ดูพิเซน (Dupixent)
  • ไลเคนพานัส โรคผิวหนังชนิดนี้อาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่อาจบรรเทาอาการระคายเคืองได้ ด้วยยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) เพรดนิโซโลน (Prednisolone) เป็นต้น
  • ผื่นรูปวงแหวน คุณหมออาจสั่งจ่ายยาสเตียรอยด์หรือครีม บางกรณีอาจรักษาด้วยความเย็น เช่น การแช่ไนโตรเจนเหลว หรืออาจบำบัดด้วยแสงอัลตราไวโอเลตตามอาการของผื่นที่เกิดขึ้นแต่ละบุคคล
  • ผื่นกุหลาบ อาการของผื่นกุหลาบอาจหายไปได้เองตามการดูแล และคุณหมออาจให้รับประทานยาแก้แพ้ เช่น ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) และหลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดด
  • ลมพิษ หากมีอาการไม่รุนแรง ผื่นที่เกิดขึ้นอาจหายไปได้เองภายใน 6 สัปดาห์ แต่หากมีอาการอื่น ๆ  ด้วย เช่น คอบวม หายใจลำบาก ควรเข้ารับการรักษาจากคุณหมอทันที

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันผื่นคัน

วิธีต่อไปนี้ อาจช่วยป้องกัน หรือลดความเสี่ยงในการเกิดผื่นคันได้

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารระคายเคือง และสารเคมี เช่น สบู่ที่มีฤทธิ์กัดกร่อน เสื้อผ้าที่ทำจากขนสัตว์
  • ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน
  • สวมเสื้อผ้าเบาสบาย และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ร้อนจัด เพื่อป้องกันเหงื่อออกมาก
  • ใช้ยารักษาตามที่คุณหมอแนะนำอย่างสม่ำเสมอ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 15/06/2022

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา