เกลื้อน เป็นโรคผิวหนังที่อาจเกิดขึ้นจากการติดเชื้อรา ที่ทำให้เกิดรอยด่างที่มีสีแตกต่างจากสีผิวปกติ ไม่ใช่โรคติดต่อหรืออันตรายแต่อย่างใด และสามารถรักษาเกลื้อนให้หายขาดได้ ด้วยการใช้ยาฆ่าเชื้อรา หรือใช้ วิธีรักษาเกลื้อน โดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ทั่วไป เช่น เบกกิ้งโซดา กระเทียม สะเดา อย่างไรก็ตาม หากอาการเกลื้อนยังคงไม่หายไปแม้ว่าจะทำการรักษาแล้ว ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาทางจัดการเกลื้อนที่เหมาะสม
[embed-health-tool-heart-rate]
เกลื้อน เป็นอย่างไร
โรคเกลื้อน หรือเกลื้อน (Tinea versicolor) คือ โรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อราในผิวหนังที่ชื่อ Malassezia ส่งผลให้กระบวนการสร้างเม็ดสีของผิวหนังผิดปกติ เกิดเป็นรอยด่างที่มีสีเข้มหรือสีอ่อนกว่าสีผิวปกติ รอยด่างเกลื้อนมักเกิดขึ้นในบริเวณผิวหนังที่มีต่อมไขมันอยู่มาก อย่างไรก็ตาม โรคเกลื้อนไม่ใช่โรคติดต่อ และสามารถรักษาให้หายขาดได้ ข้อสำคัญคือควรรักษาความสะอาดของร่างกายอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้เกิดการหมักหมม เพื่อป้องกันไม่ให้ เป็นเกลื้อน หรือเป็นโรคผิวหนังอื่น ๆ
ปัจจัยที่อาจกระตุ้นการเกิดเกลื้อน
เกลื้อนอาจปรากฏขึ้นเมื่อเจอปัจจัยกระตุ้น ดังนี้
- สภาพอากาศที่ร้อนและชื้น
- ผิวมัน
- เหงื่อ
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
- ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
ปัจจัยเหล่านี้ อาจสามารถเร่งการเจริญเติบโตของเชื้อราบนผิวหนัง แล้วทำให้เกิดเป็นอาการของเกลื้อนได้ในที่สุด
วิธีรักษาเกลื้อน ด้วยตัวเอง
เกลื้อนสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยาทาที่มีสรรพคุณในการฆ่าเชื้อราหรือต้านเชื้อรา เช่น คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ไซโคลพิรอกซ์ (Ciclopirox) หรือคุณหมออาจสั่งจ่ายเป็นยาเม็ดสำหรับฆ่าเชื้อรา เช่น ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) นอกจากนี้ ยังสามารถใช้วิธีธรรมชาติในการช่วยรักษาเกลื้อนได้ ดังนี้
1. เบกกิ้ง โซดา
แม้จะไม่ใช่สารสกัดจากธรรมชาติ แต่เบกกิ้งโซดาก็เป็นวัตถุดิบที่ใช้งานในครัวเรือนอยู่บ่อย ๆ เช่นเดียวกับวัตถุดิบจากธรรมชาติอื่น ๆ และถือเป็นวิธีง่าย ๆ วิธีหนึ่งที่สะดวกและเห็นผล เนื่องจากเบกกิ้งโซดามีสภาพเป็นกรด ในขณะที่เชื้อราไม่สามารถอาศัยสภาวะที่เป็นกรดได้ ดังนั้น เบกกิ้งโซดาจึงสามารถช่วยฆ่าเชื้อราที่ผิวหนังได้ดี โดยสามารถใช้เบกกิ้งโซดาในการรักษาเกลื้อนได้ ดังนี้
- ผสมเบกกิ้งโซดา 2-3 ช้อนชา กับน้ำสะอาดประมาณ 2-3 หยด
- เมื่อผสมจนเข้ากันแล้วให้นำไปทาบริเวณผิวหนังที่ เป็นเกลื้อน ทิ้งไว้ 20-30 นาที จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาด
- ทำติดต่อกันเป็นประจำทุกวัน และหมั่นสังเกตอาการ
2. กระเทียม
กระเทียม เป็นพืชที่มีสรรพคุณทางยาในการต้านเชื้อราได้เป็นอย่างดี เพราะอุดมไปด้วยสารแอลลิซิน (Allicin) ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านเชื้อรา สามารถใช้รักษาอาการกลากหรือเกลื้อนได้ดี โดยสามารถใช้กระเทียมในการรักษาเกลื้อนได้ ดังนี้
- นำกระเทียมไปตำหรือทุบให้ละเอียด แยกเอาน้ำออก ใช้แต่ส่วนที่เป็นเนื้อละเอียด
- นำเนื้อกระเทียมที่ตำละเอียดแล้วไปทาพอกผิวหนังบริเวณที่ เป็นเกลื้อน ทิ้งไว้ 20-30 นาที จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาด
- ทำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น และหมั่นสังเกตอาการ
3. แอปเปิ้ลไซเดอร์
แอปเปิ้ลไซเดอร์ หรือน้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิ้ล มีกรดแอซิติก (Acetic acid) ที่มีสรรพคุณต้านการอักเสบและการติดเชื้อได้ดี โดยสามารถใช้แอปเปิ้ลไซเดอร์ในการรักษาเกลื้อนได้ ดังนี้
- ผสมแอปเปิ้ลไซเดอร์ลงในน้ำสะอาด 1 ถ้วย
- นำสำลีมาจุ่มแอปเปิ้ลไซเดอร์ที่ผสมน้ำสะอาด จากนั้นนำไปทาผิวหนังบริเวณที่ เป็นเกลื้อน
- ทำวันละ 2-3 ครั้ง และหมั่นสังเกตอาการ
4. สะเดา
สะเดา ผักพื้นบ้านที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าเป็นผักเคียงจิ้มน้ำพริก เพราะสะเดาเป็นพืชที่มีสรรพคุณทางยา ใช้รักษาและบรรเทาอาการของโรคผิวหนังได้หลายชนิดโดยเฉพาะกลากและเกลื้อน โดยสามารถใช้สะเดาในการรักษาเกลื้อนได้ ดังนี้
- ใช้ใบสะเดาประมาณ 1 กำมือ ปั่นหรือตำผสมกับน้ำสะอาดเล็กน้อยให้ละเอียด
- นำใบสะเดาที่ปั่นละเอียดมาพอกแปะผิวหนังบริเวณที่ เป็นเกลื้อน ทิ้งไว้ 20-30 นาที จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาด
- ทำวันละ 3-4 ครั้ง และหมั่นสังเกตอาการ
5. ใบชุมเห็ดเทศ
ชุมเห็ดเทศ เป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้านที่หลายคนน่าจะรู้จักกันดี จากผลการศึกษาที่ได้รับการเผยแพร่ใน Ethnopharmacology เมื่อปี พ.ศ. 2537 เผยว่า ใบชุมเห็ดเทศมีสรรพคุณในการรักษาโรคผิวหนัง เช่น กลากหรือเกลื้อนได้ โดยสามารถใช้สะเดาในการรักษาเกลื้อนได้ ดังนี้
- ใช้ใบชุมเห็ดเทศประมาณ 1 กำมือ ตำผสมกับน้ำมันมะกอกเล็กน้อยให้ละเอียด
- นำใบชุมเห็ดเทศที่ตำละเอียดมาพอกแปะผิวหนังบริเวณที่ เป็นเกลื้อน ทิ้งไว้ 20-30 นาที จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาด
- ทำวันละ 2-3 ครั้ง และหมั่นสังเกตอาการ
เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ
โดยทั่วไปแล้ว เป็นเกลื้อน ไม่จำเป็นต้องไปพบคุณหมอ เพราะโรคเกลื้อนนั้นไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ ต่อร่างกาย สามารถาซื้อยาครีมฆ่าเชื้อราสำหรับรักษาโรคเกลื้อน ที่ได้รับคำแนะนำจากเภสัชกรมาใช้ได้เลย
- เกลื้อนไม่ลดลงแม้จะได้พยายามรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ มาระยะหนึ่งแล้ว
- เป็นเกลื้อน และหายแล้ว แต่กลับมาเป็นอีกครั้ง
- รอยด่างของเกลื้อนขยายเป็นดวงใหญ่ผิดปกติ