backup og meta

หัดกุหลาบ สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและการดูแลตัวเอง

หัดกุหลาบ สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและการดูแลตัวเอง

หัดกุหลาบ หรือที่เรียกว่า ผื่นกุหลาบ หรือส่าไข้ (Pityriasis rosea) คือ โรคผิวหนังชนิดไม่ติดต่อที่ทำให้เกิดผื่นสีแดงหรือสีชมพูอ่อน คล้ายสีของดอกกุหลาบ กระจายบนผิวหนังบริเวณใบหน้า หน้าอก หน้าท้อง แผ่นหลัง สาเหตุของโรคยังไม่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิด เช่น ไวรัสเริมบางสายพันธุ์ โรคนี้มักเกิดในหน้าฝน พบได้ในคนทุกวัย แต่พบบ่อยในคนอายุ 10-35 ปี การดูแลตัวเองด้วยการใช้ยาแก้คัน ยาแก้แพ้ ร่วมกับการทามอยส์เจอร์ไรเซอร์เพื่อให้ผิวชุ่มชื้น อาจช่วยให้หัดกุหลาบหายเร็วขึ้น โดยทั่วไป อาการของหัดกุหลาบมักหายไปเองภายใน 10 สัปดาห์ และมักจะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก แต่หากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

[embed-health-tool-bmr]

สาเหตุของ หัดกุหลาบ

สาเหตุของโรคหัดกุหลาบ อาจมีดังนี้

  • การติดเชื้อไวรัส (Viral infections) การติดเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์หรือเอชพีวีชนิดที่ 6 และชนิดที่ 7  รวมไปถึงโรคติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1 (H1N1 influenza A) โรคโควิด-19 (COVID-19) อาจทำให้เกิดหัดกุหลาบได้
  • การตอบสนองต่อยาหรือการแพ้ยา ร่างกายอาจแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อยาหรือมีอาการแพ้ยาบางชนิด เช่น ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาลดความดันโลหิต (ACE inhibitor) ยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) ยาไฮโดรคลอโรไทอาไซด์ (Hydrochlorothiazide) ยาแคปโตพริล (Captopril) ยาโคลนิดีน (Clonidine) ยาไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) จนทำให้เกิดผื่นคันบนผิวหนัง
  • การฉีดวัคซีน การฉีดวัคซีนป้องกันโรค เช่น วัคซีนโควิด-19 วัคซีนนิวโมคอคคัส (Streptococcus) วัคซีนคอตีบ วัคซีนฝีดาษ วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี วัคซีนบีซีจี วัคซีนไข้หวัดใหญ่ อาจทำให้เกิดหัดกุหลาบได้

ปัจจัยเสี่ยงของหัดกุหลาบ อาจมีดังต่อไปนี้

  • พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
  • พบบ่อยในคนอายุ 10-35 ปี
  • มักเกิดในฤดูฝนที่อากาศเปลี่ยนแปลง จนอาจทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลงและติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

หัดกุหลาบ อาการ เป็นอย่างไร

อาการของหัดกุหลาบ อาจแบ่งได้เป็น 2 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 หัดกุหลาบในระยะเริ่มต้นอาจมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เป็นไข้ เจ็บคอ หลังจากนั้นผิวหนังจะเริ่มตกสะเก็ด เกิดเป็นผื่นขุยบาง ๆ สีแดง สีชมพู หรือสีส้ม ลักษณะเป็นวงรีหรือวงกลม อาจมีขนาดใหญ่ได้ถึง 10 เซนติเมตร ส่วนใหญ่มักพบที่บริเวณใบหน้า หน้าอก หน้าท้อง แผ่นหลัง
  • ระยะที่ 2 หลังผิวหนังตกสะเก็ดประมาณ 2-3 วัน อาจสังเกตเห็นตุ่มเล็ก ๆ หรือผื่นคันที่มีสีแดงหรือชมพูอ่อนจาง ๆ แพร่กระจายเป็นวงกว้างบริเวณใบหน้า หน้าอก หน้าท้อง แผ่นหลัง

วิธีรักษา หัดกุหลาบ

การรักษาหัดกุหลาบจะมุ่งเน้นไปที่การควบคุมอาการที่เกิดขึ้น เช่น ผิวแห้งลอกเป็นขุย อาการคัน โดยทั่วไป อาการของหัดกุหลาบมักหายได้ภายใน 8-10 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม วิธีการต่อไปนี้อาจช่วยบรรเทาอาการเมื่อเป็นหัดกุหลาบได้

  • การใช้ยาแก้แพ้ (Antihistamine) เช่น ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) ยาเซทิริซีน (Cetirizine)
  • การใช้ยาแก้คัน เช่น ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ โลชั่นคาลาไมน์ (Calamine lotion)
  • การรักษาด้วยการส่องไฟ (Phototherapy) แสงอัลตราไวโอเลตอย่างยูวีบี อาจช่วยบรรเทาอาการคันและระคายเคืองผิวได้
  • การทามอยส์เจอร์ไรเซอร์ อาจช่วยให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวที่แห้งกร้าน ลดอาการคันและระคายเคือง

วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นหัดกุหลาบ

วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นหัดกุหลาบ อาจมีดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนอบอ้าว เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น
  • อาบน้ำอุณหภูมิปกติ หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นหรือน้ำร้อนขณะเป็นหัดกุหลาบ เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงได้
  • ใช้ผลิตภัณฑ์อาบน้ำที่อ่อนโยนต่อผิว หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ น้ำหอม หรือสารที่อาจระคายเคืองผิว
  • สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เนื้อผ้าบางเบาและไม่รัดแน่นจนเกินไป
  • หลังจากอาบน้ำเสร็จ ควรซับผิวให้เปียกหมาดแล้วทามอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่ไม่มีน้ำหอมหรือสารระคายเคืองผิวเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว
  • งดการทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมากหรือทำให้เหงื่อออกมาก

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What Is Pityriasis Rosea?. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/whats-pityriasis-rosea. Accessed September 27, 2022

Pityriasis rosea. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/pityriasis-rosea/symptoms-causes/syc-20376405#. Accessed September 27, 2022

Pityriasis rosea. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/pityriasis-rosea. Accessed September 27, 2022

Pityriasis rosea. https://dermnetnz.org/topics/pityriasis-rosea. Accessed September 27, 2022

Pityriasis Rosea. https://rarediseases.org/rare-diseases/pityriasis-rosea/. Accessed September 27, 2022

PITYRIASIS ROSEA: TIPS FOR MANAGING. https://www.aad.org/public/diseases/a-z/pityriasis-rosea-self-care. Accessed September 27, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/01/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาแก้แพ้ ผื่นคัน มีอะไรบ้าง และควรดูแลตัวเองอย่างไร

ผื่นกุหลาบ อาการ สาเหตุ และการรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา