เชื้อราบนผิวหนัง เป็นสาเหตุของปัญหาที่อาจทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคือง แดง เป็นผื่นคันได้ โดยเฉพาะหากเชื้อรามีจำนวนมาก หรือเข้าไปในบาดแผล อาจทำให้ผิวหนังติดเชื้อ หรือลุกลามเป็นโรค เช่น โรคกลาก สังคัง เกลื้อน อย่างไรก็ตาม เชื้อราบนผิวหนังรักษาได้ด้วยการใช้ยาต้านเชื้อรา ทั้งในรูปแบบของยาเม็ดสำหรับรับประทาน หรือผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ทาภายนอก นอกจากนี้ เชื้อราบนผิวหนังยังป้องกันได้ด้วยการรักษาความสะอาดของผิวหนัง การเช็ดตัวให้แห้งหลังอาบน้ำ ลดการเกิดเหงื่อแล้วทิ้งไว้นาน ๆ รวมถึงการเลือกสวมเสื้อผ้าที่ไม่รัดหรือแน่นเกินไป
เชื้อราบนผิวหนัง เกิดขึ้นได้อย่างไร
เชื้อราเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ซึ่งพบได้ทั่วไปทั้งบนพื้นดิน ตามต้นไม้ หรือกระทั่งบนผิวหนังของมนุษย์และสัตว์ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่หากเชื้อราบนผิวหนังเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว หรือเข้าไปในร่างกายผ่านบาดแผลอาจทำให้เกิดการติดเชื้อหรือเป็นโรคต่าง ๆ ได้
โดยทั่วไป เชื้อราเติบโตได้ดีในบริเวณที่อบอุ่นหรือชื้น หากเป็นร่างกายมนุษย์ ก็หมายถึงผิวหนังบริเวณที่ชุ่มเหงื่ออยู่เสมอ หรืออับชื้น เช่น ข้อพับ ขาหนีบ ซอกเท้า (ในกรณีของผู้ที่สวมรองเท้าตลอดทั้งวัน หรือมีความอับชื้น)
ทั้งนี้ เชื้อราแพร่กระจายได้หลายช่องทาง ทั้งจากคนสู่คน สัตว์สู่คน และการใช้สิ่งของรวมกันซึ่งอาจเป็นพาหะของเชื้อราได้อย่างหมอน ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น
เชื้อราบนผิวหนัง เป็นสาเหตุของโรคผิวหนังอะไรบ้าง
เชื้อราบนผิวหนังก่อให้เกิดโรคผิวหนังหลายชนิด ตามแต่ชนิดของเชื้อราที่เป็นสาเหตุ ได้แก่
กลาก
โรคกลาก เป็นโรคที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยจะมีผื่นวงแหวนขึ้นตามลำตัว สะโพก แขน หรือขา รวมถึงผื่นเล็ก ๆ ข้างในผื่นวงแหวนแดง และคันเล็กน้อยบริเวณที่ติดเชื้อ
ปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคกลาก ประกอบด้วย อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อับชื้น ระบายอากาศได้ไม่ดี สัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงที่มีเชื้อรา สวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไป และร่างกายอ่อนแอหรือมีระบบภูมิคุ้มกันที่บกพร่อง
การรักษาโรคกลาก
โรคกลากรักษาได้ด้วยการใช้ยาต้านเชื้อรา ทั้งในรูปแบบของยากินหรือครีม โลชั่น แป้งฝุ่นทาหรือโรยบริเวณที่เป็น เช่น ไอทราโคนาโซล (Itraclonazole) โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) โดยผู้ป่วยต้องใช้ยาดังกล่าวรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2-4 สัปดาห์
ทั้งนี้ ในกรณีของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งภูมิคุ้มกันอ่อนแอมักทำให้การรักษาโรคกลากใช้เวลานานกว่าคนปกติ
เกลื้อน
โรคเกลื้อน เกิดจากเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia) เป็นเชื้อราบนผิวหนังชนิดหนึ่งซึ่งมักอาศัยอยู่ในรูขุมขนของมนุษย์ และกินไขมันในรูขุมขนเป็นอาหาร
อาการของผู้ป่วยโรคเกลื้อน คือ บริเวณผิวหนังที่ติดเชื้อ จะเกิดเป็นผื่นวงกลมหรือวงแหวนมีสีออกขาวหรือสีเข้มกว่าผิวหนังส่วนอื่น ๆ อาจเป็นวนเล็ก ๆ ขนาดเพียง 1 มิลลิเมตร หรืออาจขยายเป็นปื้นใหญ่เห็นได้ชัดเจน ลักษณะของผิวหนังที่เป็นเกลื้อนมักพบบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก เช่น ใบหน้า ต้นคอ หน้าอก แผ่นหลัง และ
ผู้ป่วยมักรู้สึกคันเมื่อเหงื่อออก และหากเอาเล็บขูดผิวหนังบริเวณดังกล่าวจะลอกออกเป็นขุย
โรคเกลื้อนรักษาได้ด้วยวิธีดังนี้
- ใช้ผลิตภัณฑ์ต้านเชื้อราทาภายนอกบริเวณที่เป็น มักอยู่ในรูปแบบของเจลหรือครีมซึ่งมีส่วนผสมของยาชนิดต่าง ๆ เช่น คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ไซโคลพิรอกซ์ (Ciclopirox) หากเป็นเกลื้อนที่หนังศีรษะอาจใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของตัวยาในการรักษาเกลื้อนสำหรับสระผมโดยเฉพาะ
- ใช้ยาต้านเชื้อราสำหรับรับประทาน เช่น ฟลูโคนาโซล (Fluconazole) ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) ซึ่งมีทั้งแบบยาน้ำและยาเม็ด
น้ำกัดเท้า
โรคน้ำกัดเท้า เกิดจากการติดเชื้อรากลุ่มเดอมาโทไฟท์ (Dermatophytes) หรือเชื้อที่ทำให้เกิดโรคกลากนั่นเอง มีการติดเชื้อบริเวณเท้า ทำให้มีแผลพุพอง ผิวหนังแดงหรืออักเสบ มีกลิ่นเท้าแรงกว่าปกติ ผิวแห้งและลอกเป็นขุยหรือแตก รวมถึงอาการคันเท้า โดยเฉพาะเมื่อถอดถุงเท้าออก
ทั้งนี้แผลน้ำกัดเท้ามักเกิดขึ้นบริเวณซอกนิ้วเท้า ก่อนลุกลามไปยังบริเวณอื่นของเท้า
สาเหตุของโรคน้ำกัดเท้า เกิดจากการใส่รองเท้าเป็นเวลานาน และการมีเหงื่อออกเยอะที่เท้าซึ่งทำให้ภายในรองเท้าอับและชื้น เอื้อให้เชื้อราบนผิวหนังเติบโตได้ดี รวมทั้ง
การเดินเท้าเปล่าในที่ชื้นแฉะ เช่น สระว่ายน้ำ ซาวน่า ห้องล็อคเกอร์ ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยและแพร่กระจายของเชื้อรา
การรักษาโรคน้ำกัดเท้า
โรคน้ำกัดเท้ารักษาได้ด้วยการทายาสำหรับใช้ภายนอก อย่าง อีโคนาโซล (econazole) โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ในรูปแบบครีมหรือขี้ผึ้ง ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการเติบโตของเชื้อรา
ในกรณีอาการรุนแรง คุณหมออาจจ่ายยาต้านเชื้อรา ให้คนไข้รับประทานร่วมด้วย โดยตัวยาดังกล่าวมักประกอบด้วย เทอร์บินาฟีน (Terbinafine) และไอทราโคนาโซล (Itraconazole)
สังคัง
โรคสังคัง เกิดจากการติดเชื้อรากลุ่มเดอมาโทไฟท์ ซึ่งก็คือโรคกลากนั่นเอง แต่เกิดขึ้นบริเวณขาหนีบ อวัยวะเพศ หรือก้น มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะกลุ่มนักกีฬา ซึ่งสวมใส่เสื้อผ้าที่ชุ่มเหงื่ออยู่เสมอ
อาการของโรคสังคัง คือ เกิดผื่นแดงเป็นวงบริเวณที่ติดเชื้อ มีอาการคัน
ปัจจัยซึ่งทำให้เสี่ยงเป็นโรคสังคัง ประกอบด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันซึ่งเพิ่มความอับชื้นให้ผิวหนัง อาทิ การสวมกางเกงในรัดแน่น การใส่ชุดออกกำลังกายซึ่งชุ่มเหงื่อเป็นเวลานาน
การรักษาโรคสังคัง
โรคสังคังรักษาได้ด้วยการใช้ยาต้านเชื้อทั้งในรูปแบบยารับประทาน หรือยาทา เช่น ขี้ผึ้ง ครีม หรือโลชั่น
เช่น ไมโคนาโซล (Miconazole) โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) เทอร์บินาฟีน (Terbinafine) ทาภายนอกบริเวณที่เป็นโรค
การป้องกัน เชื้อราบนผิวหนัง
หากปรับพฤติกรรมและดูแลตัวเองตามคำแนะนำต่อไปนี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคผิวหนังต่าง ๆ จากเชื้อราบนผิวหนังได้
- รักษาความสะอาด ด้วยการอาบน้ำสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะวันที่เหงื่อออกมาก แล้วเช็ดตัวให้แห้ง และใส่เสื้อผ้าใหม่ที่ซักสะอาดและแห้งสนิท
- สวมเครื่องแต่งกายที่ไม่รัดแน่น ใส่สบายอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อให้ผิวหนังใต้ร่มผ้าไม่อับชื้นจนเกินไป
- เลี่ยงใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดตัว หมอน เพราะอาจเป็นพาหะของเชื้อราบนผิวหนังทำให้เกิดการติดเชื้อได้
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้สัตว์ติดเชื้อ หรือสัตว์ซึ่งมีอาการคันผิดปกติและผิวลอก โดยเฉพาะแมว ทั้งนี้ หากสัตว์เลี้ยงในบ้านมีอาการดังกล่าว ควรพาไปพบคุณหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษา
- สวมรองเท้าแตะเมื่อต้องเข้าไปในสถานที่ชื้นแฉะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อราที่เท้าหรือเชื้อราบนผิวหนังจากสถานที่ดังกล่าว
[embed-health-tool-heart-rate]