backup og meta

วิธีรักษาปัญหาผดร้อน ที่เกิดขึ้นในช่วงหน้าร้อน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 16/04/2022

    วิธีรักษาปัญหาผดร้อน ที่เกิดขึ้นในช่วงหน้าร้อน

    ผดร้อน หรือผื่นคันหน้าร้อน เป็นโรคผิวหนังอักเสบที่มีสาเหตุมาจากต่อมเหงื่ออุดตัน ทำให้เหงื่อถูกกักอยู่ใต้ผิวหนังไม่สามารถระบายออกมาข้างนอกได้ จึงเกิดการอักเสบและเกิดเป็นผด มักเกิดบริเวณลำคอ ไหล่ หน้าอก บริเวณรอยพับผิวหนัง โดยสามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แม้ผดร้อนจะเป็นปัญหาผิวหนังที่ไม่อันตราย แต่อาจส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตได้ ดังนั้น วิธีรักษาปัญหาผดร้อน อาจช่วยบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นได้

    ผดร้อน คืออะไร

    ผดร้อน (Miliaria) เป็นโรคผิวหนังอักเสบที่มีสาเหตุมาจากต่อมเหงื่ออุดตัน ทำให้เหงื่อถูกกักอยู่ใต้ผิวหนังไม่สามารถระบายออกมาข้างนอกได้ จึงเกิดการอักเสบและเกิดเป็นผด มักเกิดบริเวณลำคอ ไหล่ หน้าอก บริเวณรอยพับผิวหนัง เช่น รักแร้ รวมไปถึงบริเวณที่เสื้อผ้าเสียดสีกับผิวหนังเป็นประจำ โดยผดร้อนอาจพบได้บ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็ก เนื่องจาก ต่อมเหงื่อยังพัฒนาไม่เต็มที่ ผิวหนังไม่คุ้นชินกับอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่คนวัยอื่นก็สามารถเป็นผดร้อนได้เช่นกัน

    อาการของผดร้อน

    อาการทั่วไปของผดร้อนอาจมีดังนี้

    • มีตุ่มแดงเล็ก ๆ ขึ้นตามผิวหนัง
    • รู้สึกคัน หรือเจ็บ ๆ คัน ๆ ที่ผิวหนัง
    • ผิวหนังเป็นตุ่มแดง หรือบวมแดง

    สาเหตุของผดร้อน

    ผดร้อนเกิดจากต่อมเหงื่ออุดตันจนอักเสบและเป็นผด โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้รูขุมขนอุดตันอาจมีดังนี้

    • อากาศร้อนชื้น
    • การออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออกมาก
    • ร่างกายร้อนจัดจนเหงื่อออกมาก เพราะใส่เสื้อผ้าหนาเกินไป หรือห่มผ้าห่มหนาเกินไป
    • นอนอยู่บนเตียงหรือที่นอนนานเกินไป เช่น นอนพักฟื้น โดยเฉพาะผู้ที่มีไข้หรือตัวร้อน
    • ใส่เสื้อผ้าที่รัด หรือคับเกินไป จนผ้าเสียดสีกับผิวหนังตลอดเวลา
    • ทาครีมหรือโลชั่นบำรุงผิวที่เนื้อมากเกินไป จนทำให้ต่อมเหงื่ออุดตัน

    โดยผู้ที่เสี่ยงที่จะเป็นผดร้อน ได้แก่ เด็กแรกเกิด เด็กทารก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน เพราะมักมีบริเวณที่ผิวหนังพับหรือทับกัน เช่น ใต้ราวนม หน้าท้องหรือพุง

    วิธีป้องกันผดร้อน

    หากต้องการป้องกันการเกิดผดร้อน อาจทำได้ดังนี้

  • แต่งตัวตามสภาพอากาศ อาจเป็นหนึ่งในวิธีรักษาปัญหาผดร้อน โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อน หรือช่วงที่อากาศร้อนจัด ควรหลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่หนาเกินไป เช่น เสื้อกันหนาวไหมพรม เสื้อแจ็คเก็ตยีนส์เนื้อหนา ควรหันมาใส่เสื้อผ้าตัวหลวมที่เนื้อผ้าเบา สบาย ระบายอากาศได้ดี เช่น เสื้อผ้าคอตตอน หรือผ้าฝ้าย
  • ไม่ใส่เสื้อผ้ารัด หรือคับจนเกินไป เช่น สกินนี่ยีนส์ เลกกิ้ง เพราะอาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง และต่อมเหงื่ออุดตันได้
  • หลีกเลี่ยงการออกแดดในช่วงที่อากาศร้อนจัด เพื่อป้องกันไม่ให้เหงื่อออกมากเกินไป ควรอยู่ในที่ร่ม อากาศเย็น หากไม่มีเครื่องปรับอากาศ ควรเปิดพัดลมเพื่อช่วยให้อากาศถ่ายเทได้ดีขึ้น
  • นอนหลับในที่ ๆ อากาศเย็นและอากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ห่มผ้าห่มที่หนาเกินไป
  • อาบน้ำเย็นและใช้สบู่หรือครีมอาบน้ำที่อ่อนโยน ช่วยให้ผิวชุ่มชื้น ไม่ทำให้ผิวแห้ง และซับเบา ๆ หรือปล่อยให้ผิวแห้งเองตามธรรมชาติ
  • ไม่ใช้ครีมทาผิวที่ผสมปิโตรเลียม หรือมิเนอรัล ออยล์ เพื่อป้องกันรูขุมขนและต่อมเหงื่ออุดตัน
  • ดื่มน้ำเปล่าให้มาก ๆ เพื่อให้ร่างกายและผิวหนังชุ่มชื้น และป้องกันภาวะขาดน้ำ
  • วิธีรักษาผดร้อน

    ส่วนใหญ่แล้ว ผดร้อนอาจหายได้เองภายในเวลา 2-3 วัน แต่อาจช่วยให้ผดร้อนหายเร็วขึ้นได้ ด้วยวิธีเหล่านี้

    • ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นบิดหมาด หรือผ้าห่อน้ำแข็งประคบเย็นในบริเวณที่เป็นผดร้อน โดยต้องไม่ประคบนานเกิน 20 นาที
    • ไม่ฉีดน้ำหอมในบริเวณที่เป็นผดร้อน
    • ห้ามเกาผดร้อนโดยเด็ดขาด
    • ทาครีม หรือรับประทานยา ตามคำแนะนำของคุณหมอหรือเภสัชกร

    เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    • ผดร้อนไม่หายไปภายใน 3-4 วัน หรืออาการแย่ลง
    • บริเวณที่เป็นผดร้อนเริ่มติดเชื้อ
    • ผดร้อนมีสีแดงจัด หรือเริ่มแตก
    • มีผดร้อนหลังจากคุณเริ่มรับประทานยาปฏิชีวนะ หรือยาตัวใหม่
    • มีไข้หรือตัวร้อน โดยเฉพาะหากเป็นเด็กทารก หรือเด็กเล็ก ควรรีบปรึกษาคุณหมอทันที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 16/04/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา