backup og meta

ลูปัสที่ผิวหนัง (cutaneous lupus) สาเหตุ อาการ การรักษา

ลูปัสที่ผิวหนัง (cutaneous lupus) สาเหตุ อาการ การรักษา

ลูปัสที่ผิวหนัง (Skin lupus หรือ cutaneous lupus) เป็นหนึ่งในโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ โรคพุ่มพวง เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ จนทำให้เกิดอาการทางผิวหนังต่าง ๆ  เช่น ผื่นแดง แผลตกสะเก็ด อาการคัน ซึ่งในแต่ละคนอาการรุนแรงมากน้อยแตกต่างกัน บางรายรักษาหายได้แต่ในบางรายอาจกลับมาเป็นอีก

คำจำกัดความ

ลูปัสที่ผิวหนัง คืออะไร

ลูปัสที่ผิวหนัง (Skin lupus หรือ cutaneous lupus) เป็นหนึ่งในโรคแพ้ภูมิตัวเอง ที่เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ และสารแอนติบอดี้เข้าโจมตีเซลล์ผิวหนังที่แข็งแรงภาย ทำให้เกิดเป็นอาการทางผิวหนังต่าง ๆ เช่น ผื่นแดง แผลตกสะเก็ด อาการคัน

โรคลูปัสที่ผิวหนัง สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก ดังต่อไปนี้

  1. ผื่นดีสคอยด์ หรือผื่นดีแอลอี (Discoid lupus erythematosus) เป็นผื่นเรื้อรังที่มีลักษณะเป็นวงกลม มักพบในบริเวณหนังศีรษะและใบหน้า
  2. ผื่นชนิดกึ่งเฉียบพลัน (Subacute cutaneous lesions) เป็นผื่นที่มีลักษณะเป็นวงแหวน พร้อมอาการแผลตกสะเก็ด มักเกิดขึ้นในบริเวณที่โดนแสงแดด เช่น แขน มือ ใบหน้า ลำคอ ลำตัว แผลชนิดนี้มักจะไม่มีอาการคัน และไม่กลายเป็นแผลเป็น
  3. ผื่นชนิดเฉียบพลัน (Acute cutaneous lupus lesions) เป็นผื่นที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันเมื่อเริ่มมีอาการของโรคลูปัสที่ผิวหนัง มีลักษณะคือ เป็นผื่นแดงคล้ายกับโดนแดดเผา คล้ายกับผีเสื้อสีแดงที่แก้มทั้งสองข้าง

โรคลูปัสที่ผิวหนัง พบบ่อยแค่ไหน

โรคลูปัสที่ผิวหนังเป็นโรคที่ค่อนข้างหายาก แต่ผู้ป่วยโรคเอสแอลอีประมาณ 2 ใน 3 มักจะมีอาการของโรคลูปัสที่ผิวหนังร่วมด้วย นอกจากนี้ โรคนี้ยังพบได้มากในผู้หญิงวัยกลางคน ช่วง 20-50 ปี มากกว่าช่วงอายุอื่น ๆ

อาการ

อาการของโรคลูปัสที่ผิวหนัง

อาการทั่วไปของ โรคลูปัสที่ผิวหนัง มีดังนี้

  • มีผื่นแดงบนผิวหนัง โดยเฉพาะในบริเวณที่โดนแสงแดด เช่น ใบหน้า แขน มือ ลำคอ ขา
  • มีผื่นแดงรูปคล้ายผีเสื้อบริเวณแก้มและจมูก
  • เกิดแผลตกสะเก็ด
  • มีตุ่มพุพอง
  • ผมร่วง
  • มีแผลภายในปากและริมฝีปาก
  • ผิวไวต่อแสงแดด

นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดข้อ ปวดหัว เหนื่อยล้า

ควรไปพบหมอเมื่อใด

หากสังเกตพบอาการทางผิวหนังที่ผิดปกติ เช่น ผื่นแดง แผลตกสะเก็ด ผื่นเรื้อรัง โดยเฉพาะสัมพันธ์กับการโดนแดด เช่นใบหน้า แขนด้านนอก หรือมีอาการอื่น ๆ ที่กล่าวมา ควรไปหาคุณหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง และทำการรักษาต่อไป

สาเหตุ

สาเหตุของลูปัสที่ผิวหนัง

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของ โรคลูปัสที่ผิวหนัง แต่นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐษนว่า โรคนี้อาจเกิดขึ้นจากความผิดปกติของยีน ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ และทำร้ายเซลล์ผิวหนังที่สุขภาพดีในร่างกายของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไป เพื่อสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของ โรคลูปัสที่ผิวหนัง

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคลูปัสที่ผิวหนัง ได้แก่

  • กรรมพันธุ์ภายในครอบครัว
  • ความผิดปกติของฮอร์โมน
  • ปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน
  • ความเครียด
  • แสงแดด
  • การสูบบุหรี่
  • สิ่งแวดล้อมและสภาพที่อยู่อาศัย

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยโรคลูปัสที่ผิวหนัง

การวินิจฉัยโรคลูปัสที่ผิวหนังค่อนข้างทำได้ยาก เนื่องจากอาการของโรคลูปัสที่ผิวหนังอาจมีความคล้ายคลึงกับโรคผิวหนังอื่น ๆ แต่คุณหมออาจขอตรวจตัวอย่างชิ้นส่วนผิวหนัง เพื่อตรวจคัดกรองโรคผิวหนังอื่น ๆ ที่อาจเป็นไปได้นอกจากนี้ อาจตรวจสุขภาพด้านอื่น ๆ เช่น ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด ร่วมด้วยเช่นกัน

การรักษาโรคลูปัสที่ผิวหนัง

คุณหมออาจพิจารณาให้ผู้ป่วยใช้ยาที่รักษาอาการทางผิวหนัง ดังต่อไปนี้

  • ยาคอติโคสเตอรอยด์ (corticosteroids)
  • ยาปรับภูมิคุ้มกัน (Immune modulators) เช่น เมโธเทรกเซท (methotrexate)
  • ยาต้านมาลาเรีย

นอกจากนี้ ในระหว่างการรักษา ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงแสงแดด สวมเสื้อแขนยาว สวมหมวก และทาครีมกันแดดที่มีค่า spf สูง ๆ เมื่อต้องเผชิญแสงแดด

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับ โรคลูปัสที่ผิวหนัง

การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์เหล่านี้ อาจช่วยให้อาการโรคลูปัสที่ผิวหนังดีขึ้นหรือไม่แย่ลงกว่าเดิม  ได้แก่

  • หลีกเลี่ยงแสงแดด พยายามปกป้องผิวจากแสงแดด ไม่ว่าจะเป็นการทาครีมกันแดด สวมเสื้อแขนยาว ขายาว สวมแว่นกันแดด สวมหมวก และพยายามอยู่ในที่ร่ม เพื่อลดโอกาสที่แสงแดดจะโดนผิวหนังให้มากที่สุด
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่อ่อนโยนต่อผิว ผิวของผู้ป่วยโรคลูปัสที่ผิวหนังมักจะบอบบางกว่าปกติ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงสารเคมีที่อาจทำให้เกิดความระคายเคือง ทั้งน้ำหอม สบู่แรง ๆ รวมไปจนถึงผงซักฟอก ควรเลือกสูตรที่อ่อนโยนต่อผิวและไม่ทำให้เกิดความระคายเคือง
  • เลิกสูบบุหรี่ เพราะสารนิโคตินในบุหรีเป็นตัวการทำลายผิวหนังและระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้อ่อนแอลง
  • จัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม ออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What is cutaneous lupus?. https://www.lupus.org/resources/cutaneous-lupus. Accessed March 30, 2022.

SKIN LUPUS (CUTANEOUS LUPUS). https://healthcare.utah.edu/dermatology/services/autoimmune-skin-diseases/skin-lupus.php. Accessed March 30, 2022.

Cutaneous lupus erythematosus. https://dermnetnz.org/topics/cutaneous-lupus-erythematosus/. Accessed March 30, 2022.

ลูปัสที่ผิวหนัง. https://www2.si.mahidol.ac.th/km/download/6179/. Accessed March 30, 2022.

How Lupus Affects Your Body. http://www.webmd.com/lupus/guide/how-lupus-affects-your-body. Accessed March 30, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/06/2023

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผื่นในฤดูหนาว ปัญหาผิวหนัง ที่มาพร้อมกับความเย็น

อาหารที่ไม่เป็นมิตรต่อระบบภูมิคุ้มกัน ที่รู้แล้วก็ไม่ควรกินบ่อยๆ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 14/06/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา