backup og meta

โรคหัดเยอรมัน สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง วิธีรักษาและการป้องกัน

โรคหัดเยอรมัน สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง วิธีรักษาและการป้องกัน

โรคหัดเยอรมัน (Rubella หรือ German Measles) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสรูเบลล่า (Rubella) ทำให้เกิดผื่นแดงทั่วร่างกาย มีไข้อ่อน ๆ ปวดศีรษะ เจ็บคอ คัดจมูก ปวดตามข้อต่อ ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรงหรือบางคนอาจไม่มีอาการเลย อย่างไรก็ตาม โรคนี้อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ได้ จึงควรฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคหัดเยอรมันตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะผู้ที่วางแผนตั้งครรภ์

[embed-health-tool-vaccination-tool]

โรคหัดเยอรมัน คืออะไร

โรคหัดเยอรมัน เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสรูเบลล่า สามารถถ่ายทอดจากคนสู่คนได้ผ่านการรับเชื้อที่แพร่กระจายทางอากาศเมื่อผู้ติดเชื้อไอหรือจาม หรือจากสัมผัสสารคัดหลั่งจากจมูกและลำคอของผู้ติดเชื้อโดยตรง เมื่อร่างกายได้รับเชื้อไวรัสรูเบลล่า เชื้อจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 14-21 วัน และสามารถเริ่มแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 7 วันก่อนเริ่มมีผื่นขึ้น และหลังมีผื่นขึ้นอีก 14 วัน

คนส่วนใหญ่ที่เป็นโรคหัดเยอรมันมักมีอาการป่วยเล็กน้อย โดยมีอาการไข้ต่ำ เจ็บคอ และมีผื่นแดงขึ้นตามผิวหนัง เริ่มจากบริเวณใบหน้าและอาจลุกลามไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ในเด็กเล็กอาจเริ่มจากมีผื่นก่อนแล้วตามมาด้วยอาการอื่น ๆ ส่วนในเด็กและผู้ใหญ่ อาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นก่อน จากนั้น 2-3 วันจึงเริ่มมีผื่นแดง

โรคหัดเยอรมันสามารถถ่ายทอดจากคุณแม่ไปยังทารกในครรภ์ และอาจถ่ายทอดผ่านน้ำนมหรือสารคัดหลั่งของคุณแม่ไปยังทารกแรกเกิดได้อีกด้วย หากหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโรคหัดเยอรมันอาจทำให้เสี่ยงเกิดภาวะแท้งหรือทารกเกิดกลุ่มความพิการแต่กำเนิด เช่น หูหนวก สมองฝ่อ

กลุ่มเสี่ยงโรคหัดเยอรมัน

  • ผู้ที่เดินทางไปยังพื้นที่ที่ไม่มีการฉีดวัคซีนหัดเยอรมัน
  • ผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคเยอรมันมาก่อน
  • ทารกในครรภ์ที่คุณแม่มีภูมิคุ้มกันโรคหัดเยอรมันต่ำหรือไม่มีเลย

อาการของโรคหัดเยอรมัน

โรคหัดเยอรมันอาจมีอาการแสดงดังต่อไปนี้

  • มีไข้เล็กน้อย
  • ปวดศีรษะ
  • น้ำมูกไหล
  • เจ็บตา ตาแดง
  • เจ็บคอ
  • มีผื่นแดง
  • ต่อมน้ำเหลืองบวม

ภาวะแทรกซ้อนของโรคหัดเยอรมัน อาจมีดังนี้

  • ปวดตามข้อต่อ อาการปวดข้อนิ้วมือ ข้อมือ และหัวเข่า ที่เกิดจากโรคหัดเยอรมันอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์หรืออาจเป็นเดือนจนกว่าจะหาย
  • หูชั้นกลางอักเสบ (Otitis Media) มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหลังจากติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจส่วนบน จนหูชั้นกลางบวม แดง และอักเสบ
  • โรคไข้สมองอักเสบ (Encephalitis) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียภายในสมอง จนทำให้เนื้อสมองอักเสบ อาจส่งผลให้ปวดศีรษะ เป็นไข้ มีอาการชัก หรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

หากทารกในครรภ์ติดเชื้อโรคหัดเยอรมันที่ส่งผ่านมาจากเลือดของคุณแม่ตั้งแต่ในช่วง 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ อาจทำให้เสี่ยงแท้งหรือทารกเสียชีวิตในครรภ์ หรือทำให้ทารกเสี่ยงเกิดโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิด (Congenital Rubella Syndrome) ที่ทำให้มีภาวะสุขภาพต่อไปนี้

  • เจริญเติบโตล่าช้า
  • อวัยวะพัฒนาผิดปกติ
  • ต้อกระจก ต้อหิน
  • หูหนวก
  • หัวใจพิการแต่กำเนิด
  • พัฒนาการด้านสติปัญญาและการเรียนรู้ผิดปกติ

วิธีรักษา โรคหัดเยอรมัน

โรคหัดเยอรมันไม่มีวิธีรักษาเฉพาะเจาะจง ส่วนใหญ่จะรักษาและดูแลตามอาการด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • รับประทานยาลดไข้ เช่น อะซิตามิโนเฟน (Acetaminophen) หรือพาราเซตามอล (Paracetamol) หากอายุต่ำกว่า 16 ปีไม่ควรรับประทานยาแอสไพริน  (Aspirin) เพราะอาจทำให้เสี่ยงเกิดโรคเรย์ซินโดรม (Reye’s syndrome)
  • นอนหลับพักผ่อนให้มาก ๆ
  • ดื่มน้ำและของเหลวให้เพียงพอ
  • แยกตัวออกจากคนรอบข้างจนกว่าจะหายดี เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และงดใช้สิ่งของและภาชนะร่วมกับผู้อื่น เช่น ช้อนส้อม ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า

หากหญิงตั้งครรภ์เป็นโรคหัดเยอรมัน จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแท้งบุตร ภาวะตายคลอด (Stillbirth) และภาวะทารกพิการแต่กำเนิดที่อาจกระทบต่อพัฒนาการของทารกหลาย ๆ ด้านในระยะยาว เช่น หูหนวก ต้อกระจก ความเสียหายของตับและม้าม โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ภาวะทารกน้ำหนักตัวน้อย โรคผื่นผิวหนังในทารกแรกเกิด ความบกพร่องทางสติปัญญา

สำหรับผู้หญิงที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน คุณหมออาจแนะนำให้ฉีดวัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ (MMR) ที่ป้องกันการติดเชื้อโรคหัด โรคหัดเยอรมัน และโรคคางทูม เพื่อป้องกันการติดเชื้อก่อนตั้งครรภ์ และควรหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์อย่างน้อย 4 สัปดาห์หลังจากได้รับวัคซีน ทั้งนี้ ควรฉีดวัคซีนเอ็มเอ็มอาร์หลังจากคลอดบุตรแล้วเท่านั้น ไม่แนะนำให้ฉีดขณะตั้งครรภ์โดยไม่มีเหตุจำเป็น แต่หากหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อหัดเยอรมันและไม่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ คุณหมออาจฉีดวัคซีนอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) เพื่อบรรเทาอาการและลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับพัฒนาการของทารกในครรภ์

การป้องกันโรคหัดเยอรมัน

การป้องกันโรคหัดเยอรมันสามารถทำได้ด้วยการฉีดวัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ ซึ่งถือเป็นวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็ก โดยทั่วไป สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยและกระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้เด็กไทยทุกคนฉีดวัคซีนเอ็มเอ็มอาร์เมื่อเด็กมีอายุ 9-12 เดือน และ 2 ปี 6 เดือน ไม่ควรให้ฉีดก่อนอายุครบ 9 เดือนเนื่องจากในร่างกายของเด็กยังมีแอนติบอดีจากน้ำนมแม่ที่ขัดขวางการออกฤทธิ์ของวัคซีน จึงอาจกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่เต็มที่ และอาจทำให้วัคซีนไม่สามารถป้องกันเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับผู้ใหญ่ที่ยังไม่เคยเข้ารับการฉีดวัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ หรือไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนของตัวเอง รวมไปถึงอยู่ในช่วงที่มีการระบาดของโรคคางทูม โรคหัด และโรคหัดเยอรมัน ควรฉีดวัคซีน 2 เข็ม ห่างกันประมาณ 28 วัน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Rubella (German Measles). https://www.cdc.gov/rubella/index.html#:~:text=Rubella%20is%20a%20contagious%20disease,the%20rest%20of%20the%20body. Accessed November 3, 2022

Rubella. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/rubella/symptoms-causes/syc-20377310. Accessed November 3, 2022

Rubella (german measles). https://www.nhs.uk/conditions/rubella/. Accessed November 3, 2022

Rubella (German Measles). https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/17798-rubella. Accessed November 3, 2022

Rubella. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/rubella. Accessed November 3, 2022

วัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็ก-สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. https://www.pidst.or.th/A746.html. Accessed November 3, 2022

โรคหัด โรคคางทูม และโรคหัดเยอรมัน. https://sriphat.med.cmu.ac.th/th/knowledge-464. Accessed November 3, 2022

Pregnancy and Rubella. https://www.cdc.gov/rubella/pregnancy.html. Accessed November 3, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

05/01/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคหัดเยอรมัน ทำร้ายทารกในครรภ์ ป้องกันอย่างไรได้บ้าง

หัดเยอรมัน อาการ สาเหตุ วิธีรักษาและวิธีป้องกัน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 05/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา