backup og meta

ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection)

ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection)

คำจำกัดความ

การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ คืออะไร

การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection หรือ UTI) เกิดขึ้นเมื่อมีเชื้อแบคทีเรียในอวัยวะใดๆ ของทางเดินปัสสาวะ ทางเดินปัสสาวะหมายรวมถึงอวัยวะในการสร้าง เก็บรักษา และขับถ่ายปัสสาวะ ซึ่งได้แก่ ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะมักมีการติดเชื้อมากที่สุด

การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะพบได้บ่อยแค่ไหน

โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่ผู้หญิงมีอัตราการเกิดโรคนี้สูงกว่าผู้ชายเนื่องจากมีท่อปัสสาวะที่สั้นกว่า จึงติดเชื้อได้ง่ายกว่า

อาการ

อาการของการ ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

อาการทั่วไป ได้แก่ ปัสสาวะบ่อย มีอาการเจ็บเวลาปัสสาวะ ไม่สามารถควบคุมปัสสาวะได้ ปัสสาวะขุ่นหรือมีกลิ่นเหม็น และมีหนองหรือเลือดในปัสสาวะ ผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้หญิงจะรู้สึกเจ็บที่หัวหน่าว นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการอื่นๆ อีก ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ติดเชื้อ เช่น

  • หากไตติดเชื้อ ผู้ป่วยอาจมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ตัวสั่น หรือปวดหลัง
  • หากกระเพาะปัสสาวะติดเชื้อ ผู้ป่วยจะรู้สึกถึงแรงกดบริเวณด้านหน้าเชิงกราน (ช่องท้องส่วนล่าง) ปัสสาวะบ่อย และปัสสาวะมีเลือดปน
  • หากท่อปัสสาวะติดเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บเมื่อปัสสาวะ หรือมีสารคัดหลั่งออกจากท่อปัสสาวะ

สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการนอกเหนือจากที่ระบุไว้ข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ โปรดปรึกษาคุณหมอ

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากคุณสังเกตได้ถึงอาการใดๆ ที่ระบุไว้ข้างต้น โดยเฉพาะเวลาปัสสาวะ คุณควรไปพบคุณหมอ หากคุณยังคงมีไข้ในเวลา 48 ชั่วโมงหลังจากใช้ยาปฏิชีวนะ หรือมีอาการเป็นซ้ำหลังจากใช้ยา ควรไปพบคุณหมอทันที

ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

สาเหตุที่พบได้มากที่สุดคือแบคทีเรียเอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) หรืออีโคไล (E.coli) ซึ่งพบได้ในลำไส้ แต่ก็สามารถเกิดจากแบคทีเรียชนิดอื่นๆ ได้เช่นกัน เชื้ออีโคไลที่อยู่บนผิวหนังหรืออยู่ใกล้ทวารหนัก จะเข้าไปในทางเดินปัสสาวะและแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ผู้หญิงมีความเสี่ยงในการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากท่อปัสสาวะและทวารหนักอยู่ใกล้กันมากกว่า

การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ สามารถเกิดจากแบคทีเรียที่แพร่กระจายเข้าไปในทางเดินปัสสาวะผ่านทางสายสวนที่ใช้ในการรักษาทางการแพทย์ หรือเมื่อมีก้อนนิ่ว หรือมีความผิดปกติในการคลอดบุตร ที่ทำให้ทางเดินปัสสาวะอุดกั้น หรือหลังจากมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงยังสามารถเกิดจากการติดเชื้อจากบริเวณอื่นๆ ไปยังไตได้ด้วย ทางเดินปัสสาวะติดเชื้อไม่ติดต่อทางการสัมผัส แต่การมีเพศสัมพันธ์เมื่อติดเชื้อจะทำให้เจ็บปวด และเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของการ ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

ปัจจัยเสี่ยงโรคนี้มีหลายประการ ได้แก่

  • เพศ : ท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้นกว่าของผู้ชาย แบคทีเรียจึงเดินทางไปยังกระเพาะปัสสาวะได้ง่ายกว่า และทำให้ติดเชื้อได้ง่ายกว่าผู้ชาย
  • การมีเพศสัมพันธ์ : เพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
  • การคุมกำเนิด : ผู้หญิงที่ใช้แผ่นครอบปากมดลูก (diaphragm) หรือยาฆ่าเชื้ออสุจิ (spermicide) มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงกว่า
  • วัยหมดประจำเดือน : ภาวะหลังหมดประจำเดือนและพร่องฮอร์โมนเอสโตรเจนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางเดินปัสสาวะ ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
  • ท่อปัสสาวะผิดปกติ : ทารกที่มีท่อปัสสาวะรูปร่างผิดปกติไม่สามารถขับถ่ายปัสสาวะได้ตามปกติ หรือมีปัสสาวะคั่งค้างในท่อปัสสาวะซึ่งทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น
  • มีภาวะปัสสาวะอุดกั้น : ก้อนนิ่วหรือต่อมลูกหมากโตทำให้เกิดปัสสาวะคั่งค้างในกระเพาะปัสสาวะ
  • มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ : เบาหวานและภาวะอื่น ๆ ที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อในการเกิดโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
  • ใช้สายสวนปัสสาวะ : เกิดขึ้นในผู้ที่ไม่สามารถปัสสาวะได้เอง และต้องใช้สายสวนในการปัสสาวะ อาจเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล ผู้ป่วยที่เป็นโรคระบบประสาทที่ไม่สามารถควบคุมการทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะและผู้ป่วยอัมพาต

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยโรค ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

แพทย์จะตรวจปัสสาวะ (urinalysis total) ซึ่งตัวอย่างปัสสาวะที่นำมาตรวจไม่ควรติดเชื้อที่ภายนอก เพื่อให้ได้ตัวอย่างปัสสาวะที่ถูกต้อง ผู้ป่วยไม่ควรเก็บปัสสาวะตั้งแต่เริ่มขับถ่าย แต่ควรถ่ายปัสสาวะช่วงแรกทิ้งก่อน ในบางครั้งการตรวจปัสสาวะสัมพันธ์กับ urine implantation ซึ่งเป็นการทดสอบที่ใช้ตัวอย่างปัสสาวะสำหรับการเพาะเชื้อแบคทีเรียในห้องปฏิบัติการ การทดสอบนี้จะทำให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับชนิดของแบคทีเรียที่ทำให้ท่อปัสสาวะติดเชื้อ และกำหนดการใช้ยาที่ให้ผลการรักษาดีที่สุด

หากแพทย์สงสัยว่าอาการผิดปกติเกี่ยวกับท่อปัสสาวะทำให้เกิดโรคซ้ำ คุณจะต้องเข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์ หรือการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อให้ได้ภาพถ่ายร่างกายที่ชัดมากขึ้น ในบางกรณี แพทย์จะใช้สีที่ต่างกันเพื่อระบุโครงสร้างของระบบทางเดินปัสสาวะ และอาจต้องตรวจกรวยไตอักเสบ (pyelonephritis) ทางเส้นเลือด

หากคุณทรมานจากภาวะท่อปัสสาวะติดเชื้อที่กลับมาเป็นซ้ำ แพทย์จะใช้หลอดยาวและบางที่ติดตั้งหลอดไฟเอาไว้ ส่องเข้าไปภายในท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ เพื่อให้ตรวจวินิจฉัยอาการได้ง่ายขึ้น

การรักษาโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

ผู้ป่วยมักใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลา 3-10 วัน ให้ดื่มน้ำเพื่อช่วยขับปัสสาวะ นอกจากนี้ ให้ดื่มน้ำผลไม้และรับประทานวิตามินซีเพื่อเพิ่มกรดในปัสสาวะซึ่งจะเป็นประโยชน์ และควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน แพทย์จะสั่งยาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บในขณะปัสสาวะ เช่น ยาฟีนาโซไพริดีน (Phenazopyridine) ยานี้จะเปลี่ยนสีของปัสสาวะ และหากจำเป็น แพทย์อาจสั่งให้ใช้ยาบรรเทาปวด เช่น ยาอะเซตามิโนเฟน (acetaminophen) ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) ผู้ป่วยสามารถแช่น้ำอุ่นเพื่อบรรเทาอาการปวดได้ ควรพักผ่อนให้เพียงพอจนกว่าอาการไข้และอาการเจ็บบรรเทาลง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่ช่วยรับมือกับการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองดังต่อไปนี้ จะช่วยให้คุณรับมือกับการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

  • ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว โดยคุณสามารถดื่มน้ำเปล่า หรือน้ำผลไม้ก็ได้
  • ควรรักษาความสะอาดให้ถูกสุขอนามัย เวลาเข้าห้องน้ำ ผู้หญิงต้องเช็ดทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลัง ให้หลีกเลี่ยงการฉีดหรือพ่นน้ำเข้าไปในช่องคลอด ควรอาบน้ำฝักบัวแทนการแช่น้ำ เลือกสวมชุดชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้าย และหลีกเลี่ยงการสวมใส่กางเกงที่คับแน่น
  • ลดความเสี่ยงติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ โดยผู้หญิงควรปัสสาวะและทำความสะอาดก่อนและหลังการมีเพศสัมพันธ์ ให้หลีกเลี่ยงการใช้แผ่นครอบปากมดลูก หรือยาฆ่าเชื้ออสุจิ
  • หากปวดปัสสาวะต้องขับถ่ายปัสสาวะออกให้หมด อย่าอั้นหรือกลั้นปัสสาวะ
  • ให้แจ้งแพทย์ทราบหากคุณใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาปฏิชีวนะบางชนิดสามารถทำปฏิกิริยากับยาเม็ดคุมกำเนิดได้
  • หากคุณมีอาการท่อปัสสาวะติดเชื้อ แพทย์อาจสั่งให้ใช้ยาปฏิชีวนะ ให้ใช้ยาปฏิชีวนะจนกว่าอาการจะหายขาด

หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Home Test for Urinary Tract Infections. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/home-test-for-urinary-tract-infections?print=true. Accessed July 4, 2016.

Urinary tract infections (UTIs). https://www.nhs.uk/conditions/urinary-tract-infections-utis/. Accessed July 4, 2016.

What is a Urinary Tract Infection (UTI) in Adults?. https://www.urologyhealth.org/urologic-conditions/urinary-tract-infections-in-adults. Accessed July 4, 2016.

Urinary tract infection (UTI). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/urinary-tract-infection/symptoms-causes/syc-20353447. Accessed July 4, 2016.

 

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattrakamol Chotevichean


บทความที่เกี่ยวข้อง

ไม่อยากติดเชื้อ ระบบทางเดินปัสสาวะ สาวๆ ต้องระวังเรื่องพวกนี้

โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในผู้ชาย โรคที่หนุ่มๆ ก็ควรต้องระวังไม่แพ้สาวๆ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา