กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในในผู้สูงอายุ ซึ่งมักมีปัญหาหูรูดกระเพราะปัสสาวะทำงานได้น้อยลงตามวัย จนอาจทำให้ปัสสาวะเล็ดได้ง่าย แต่จริง ๆ แล้ว อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย อย่างไรก็ตาม การทราบสาเหตุของภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้ได้
กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ คืออะไร
การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (Urinary incontinence) เป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไป ความรุนแรงของอาการอาจมีตั้งแต่ปัสสาวะไหลเมื่อมีอาการไอหรือจาม ไปจนถึงรู้สึกต้องการปัสสาวะทันที บางครั้งอาการอาจรุนแรงมากถึงขั้นที่ไม่สามารถเข้าห้องน้ำได้ทันเวลา
โดยปกติแล้ว อาการนี้มักพบในผู้สูงอายุ แต่คนทั่วไปก็สามารถมีอาการนี้ได้เช่นกัน หากอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาสาเหตุและวิธีรักษาที่เหมาะสม
สาเหตุของภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ไม่ถือว่าเป็นโรคเป็นแค่เพียงอาการเท่านั้น โดยอาการนี้อาจเกิดขึ้นได้จากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิดที่ส่งผลให้มีปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะมากขึ้น และเร่งให้ปวดปัสสาวะได้ อย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน น้ำอัดลม ช็อกโกแลต อาหารรสจัด อาหารวิตามินซีสูง เป็นต้น นอกจากนี้ ภาวะสุขภาพบางประการก็อาจส่งผลให้กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้ เช่น
- กระเพาะปัสสาวะติดเชื้อ ทำให้ปวดปัสสาวะมาก จนไม่สามารถกลั้นไว้ได้
- อาการท้องผูก เนื่องจากลำไส้ใหญ่อยู่ใกล้กับกระเพาะปัสสาวะ และมีเส้นประสาทที่เชื่อมต่อกัน ทำให้เมื่อมีอุจจาระแข็งสะสมอยู่ในลำไส้ใหญ่มากเกินไป ก็อาจส่งผลกระทบต่อเส้นประสาทบริเวณนั้น ทำให้เกิดปวดปัสสาวะบ่อยได้
- การตั้งครรภ์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นของทารกในครรภ์ อาจส่งผลให้คุณแม่ตั้งครรภ์กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้
- การคลอด ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณช่องคลอดหย่อนคล้อย ซึ่งส่งผลต่อการควบคุมกระเพาะปัสสาวะ และอาจทำลายเส้นประสาทบริเวณกระเพาะปัสสาวะและเนื้อเยื่อบริเวณอุ้งเชิงกราน จนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการกลั้นปัสสาวะได้
- อายุที่มากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น ประสิทธิภาพงานทำงานของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะจะลดลง หรือที่เรียกว่า หูรูดเสื่อมหรือไม่แข็งแรง จนอาจทำให้กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้
- วัยทอง ในช่วงวัยทองผู้หญิงจะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยลง ซึ่งเอสโตรเจนเป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้เยื่อบุกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะแข็งแรง เมื่อร่างกายผลิตฮอร์โมนนี้น้อยลงจึงส่งผลต่อการกลั้นปัสสาวะ
- การผ่าตัดมดลูก มดลูกและกระเพาะปัสสาวะเป็นอวัยวะที่ใช้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นเดียวกัน เมื่อผ่าตัดมดลูกหรือการผ่าตัดอวัยวะอื่น ๆ ในระบบสืบพันธ์ุผู้หญิง จะส่งผลทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเสียหาย ทำให้เกิด อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- ต่อมลูกหมากโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ชายสูงอายุ เนื่องจากเมื่อต่อมลูกหมากขยายตัวและโตขึ้น จะไปกดดันกระเพาะปัสสาวะ ทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย