backup og meta

ไตติดเชื้อ (การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ)

ไตติดเชื้อ (การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ)

ไตติดเชื้อ (การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ) หรือกรวยไตอักเสบ เป็นภาวะทางเดินปัสสาวะติดเชื้อประเภทหนึ่ง โดยเริ่มเกิดขึ้นบริเวณท่อปัสสาวะหรือกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเป็นระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง แล้วเคลื่อนที่ไปยังท่อไตและไตข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง ไตติดเชื้อจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจส่งผลทำให้ไตเสียหายอย่างถาวร ทั้งยังอาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

คำจำกัดความ

ไตติดเชื้อ คืออะไร

ไตติดเชื้อ (การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ) หรืออีกอย่างหนึ่งว่า กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis) เป็นภาวะทางเดินปัสสาวะติดเชื้อประเภทหนึ่ง โดยเริ่มเกิดขึ้นบริเวณท่อปัสสาวะหรือกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเป็นระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง แล้วเคลื่อนที่ไปยังท่อไตและไตข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้าง ไตติดเชื้อจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจส่งผลทำให้ไตเสียหายอย่างถาวร ทั้งยังอาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ไตติดเชื้อพบบ่อยเพียงใด

ไตติดเชื้ออาจเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่อาจเกิดขึ้นได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้นกว่าของผู้ชาย โดยท่อปัสสาวะของผู้หญิงนั้นอยู่ใกล้กับช่องคลอดและทวารหนักจึงอาจทำให้แบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายและเข้าสู่ทางเดินปัสสาวะได้ง่ายขึ้น

อาการ

อาการไตติดเชื้อ

ภาวะไตติดเชื้ออาจเริ่มต้นด้วยการติดเชื้อทั่วไป แต่อาการรุนแรงขึ้นได้อย่างรวดเร็วและรุนแรงมาก เมื่อแบคทีเรียไปถึงทางเดินปัสสาวะส่วนบน โดยสัญญาณบ่งชี้และอาการของภาวะไตติดเชื้อ ได้แก่

  • มีไข้
  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • มีอาการปวดบริเวณหลัง สีข้าง ขาหนีบ หรือช่องท้อง
  • ปัสสาวะบ่อย และต้องเบ่งปัสสาวะอย่างแรงและนาน
  • รู้สึกแสบหรือปวดเวลาปัสสาวะ
  • มีหนองหรือเลือดในปัสสาวะ
  • ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น

อาจมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการที่ไม่ได้ระบุไว้ข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ โปรดปรึกษาคุณหมอ

ควรไปพบหมอเมื่อใด

หากเกิดอาการต่าง ๆ เหล่านี้ ควรไปพบคุณหมอ

  • กำลังได้รับการรักษาอาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะใด ๆ แต่อาการไม่ดีขึ้น
  • มีอาการของไตติดเชื้อหนึ่งประการหรือมากกว่า

สาเหตุ

สาเหตุของไตติดเชื้อ

ภาวะไตติดเชื้อมักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ทางเดินปัสสาวะผ่านทางท่อไตที่ทำหน้าที่ลำเลียงปัสสาวะจากร่างกาย แล้วเริ่มเพิ่มจำนวนขึ้น เชื้อแบคทีเรียที่พบได้มากที่สุดมักพบในอุจจาระ ได้แก่ เชื้ออีโคไล (E. coli) หรือเชื้อเคลบเซลลา (Klebsiella) ในขณะที่แบคทีเรียบนผิวหนังหรือในสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ อาจทำให้เกิดกรวยไตอักเสบได้น้อยกว่า

นอกจากนี้ ภาวะไตติดเชื้อยังอาจเกิดได้จากกระแสเลือดที่เข้าสู่ไตแล้วนำพาแบคทีเรียจากการติดเชื้อในบริเวณอื่นในร่างกายมาแพร่กระจายไปยังบริเวณไต แต่กรณีนี้อาจพบได้น้อยมาก

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดไตติดเชื้อ

ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงสำหรับภาวะไตติดเชื้อมีหลายประการ เช่น

  • ลักษณะทางกายภาพของผู้หญิง เนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้นกว่าของผู้ชาย แบคทีเรียจึงเดินทางไปยังกระเพาะปัสสาวะในระยะทางที่สั้นกว่า ดังนั้น ผู้หญิงจึงมีความเสี่ยงของโรคนี้ได้มากกว่าผู้ชาย
  • การอุดตันในทางเดินปัสสาวะ เมื่อปัสสาวะช้าลงหรือความสามารถในการขับปัสสาวะลดลง แบคทีเรียสามารถเข้าไปสู่ท่อไตได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดไตติดเชื้อ
  • นิ่วในไต
  • ระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ เช่น โรคเบาหวาน โรคเอชไอวี
  • ความเสียหายต่อเส้นประสาทโดยรอบกระเพาะปัสสาวะ
  • การใช้สายสวนปัสสาวะเป็นเวลานาน
  • ภาวะที่ทำให้ปัสสาวะไหลผิดวิธี

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลที่นำเสนอในที่นี้ ไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ให้ปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยไตติดเชื้อ

คุณหมออาจวินิจฉัยตามลักษณะภายนอก สัญญาณชีพ และอาการโดยทั่วไป เช่น อาการไข้และปวดหลัง ซึ่งเป็นเพียงการวินิจฉัยในเบื้องต้นเท่านั้น ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องระบุรายละเอียดหรือให้ตัวอย่างปัสสาวะสำหรับทดสอบหาแบคทีเรีย ตรวจเลือด หรือตรวจหาหนองในปัสสาวะ การทดสอบในห้องปฏิบัติการที่ตรวจหาแบคทีเรียหรือจุลชีพอื่น ๆ ในเลือดก็เป็นสิ่งจำเป็นในผู้ป่วยบางรายด้วยเช่นกัน

การทดสอบอาจใช้เทคนิคภาพถ่ายร่วมด้วย ได้แก่ การอัลตราซาวด์ การตรวจซีทีสแกนหรือการเอ็กซเรย์เพื่อให้เห็นภาพไตและอวัยวะที่เกี่ยวข้องโดยละเอียด

การรักษาไตติดเชื้อ

การรักษาประการแรกสำหรับไตติดเชื้อคือการใช้ยาปฏิชีวนะ ประเภทของยาที่จำเป็นต้องใช้และเวลาที่ต้องใช้ยาขึ้นอยู่กับระดับการติดเชื้อ สุขภาพโดยรวม และชนิดแบคทีเรียที่พบในการทดสอบปัสสาวะ สัญญาณบ่งชี้และอาการของไตติดเชื้ออาจหายไปทีละน้อยภายใน 2-3 วันระหว่างการรักษา แต่อาจจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะต่อไปอีก 1 สัปดาห์หรือมากกว่า ที่สำคัญควรใช้ยาปฏิชีวนะให้ครบตามที่คุณหมอสั่ง

หากมีภาวะไตอักเสบรุนแรง อาจต้องพักในโรงพยาบาลเพื่อรับยาปฏิชีวนะผ่านทางเส้นเลือด นอกจากนี้ หากภาวะไตติดเชื้อเกิดขึ้นใหม่ อาจจำเป็นต้องเข้าพบผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับไตเพื่อตรวจหาโรคประจำตัว

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลพื่อรับมือกับภาวะไตติดเชื้อ

การปรับไลฟ์สไตล์และการปฏิบัติตนขั้นพื้นฐานดังต่อไปนี้ อาจช่วยให้รับมือกับภาวะไตติดเชื้อได้

  • ใช้ความร้อน วางแผ่นร้อนลงบนหน้าท้อง หลัง หรือสีข้าง เพื่อบรรเทาความรู้สึกกดทับหรือเจ็บปวด
  • ใช้ยาแก้ปวด
  • ดื่มน้ำมาก ๆ การดื่มน้ำให้เพียงพออาจช่วยกำจัดแบคทีเรียจากทางเดินปัสสาวะ แต่ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Kidney infection. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/kidney-infection/basics/lifestyle-home-remedies/con-20032448. Accessed July 10, 2016.

Kidney Infections: Symptoms and Treatments. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/kidney-infections-symptoms-and-treatments?page=3. Accessed July 10, 2016.

Kidney infection. https://www.nhs.uk/conditions/kidney-infection/. Accessed February 22, 2022

Kidney infection – Symptoms, treatment and prevention. https://www.kidneyfund.org/kidney-disease/kidney-problems/kidney-infection.html. Accessed February 22, 2022

Kidney (Renal) Infection – Pyelonephritis. https://www.urologyhealth.org/urology-a-z/k/kidney-(renal)-infection-pyelonephritis. Accessed February 22, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

23/02/2022

เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

เนโฟรติก ซินโดรม (Nephrotic Syndrome)

ไต อวัยวะสุดพิเศษของร่างกาย ที่คุณอาจยังรู้จักไม่ดีพอ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 23/02/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา