ฤดูฝนคือฤดูกาลแห่งความชุ่มชื้น ทุกสรรพสิ่งล้วนเจริญเติบโต ไม่ใช่แค่พืชพรรณ แต่ยังรวมไปถึงเหล่าแบคทีเรียด้วย แบคทีเรียคือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมาก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และเป็นต้นเหตุของโรคต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะ โรคทางเดินอาหาร เรามาทำความรู้จักกับโรคทางเดินอาหารในหน้าฝนให้มากขึ้นกับบทความนี้ของ Hello คุณหมอ กันค่ะ
โรคทางเดินอาหาร ที่มาพร้อมกับหน้าฝน
โรคทางเดินอาหาร หรือโรคในระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal Disorders) คือ โรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่ผิดปกติของระบบลำไส้ เนื่องจากได้รับเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยที่รับเชื้อแบคทีเรียเหล่านั้นเข้าไปอาจเกิดอาการท้องเสีย เป็นโรคลำไส้อักเสบ ภาวะอาหารเป็นพิษ หรือเป็นไข้ไทฟอยด์ได้ ซึ่งแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหารเหล่านี้เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศชื้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน และสามารถก่อให้เกิดโรคต่างๆ ได้ ดังนี้
1. โรคบิด (Dysentery)
โรคบิดเป็นโรคท้องร่วงชนิดหนึ่งที่เกิดจากจุลชีพ 2 ชนิด คือ อะมีบา (Amoeba) ที่ทำให้เกิดโรคบิดชนิดมีตัว และเชื้อแบคทีเรียชิเกลลา (Shigella) ที่ทำให้เกิดโรคบิดแบบไม่มีตัว โดยจุลชีพทั้งสองชนิดนี้จะเข้าสู่ร่างกายผ่านการรับประทานอาหารและการดื่มน้ำที่ปนเปื้อนจุลชีพพวกนี้มา
อาการของโรคบิด
โรคบิด ทำให้กลไกการทำงานของลำไส้ผิดปกติ ส่งผลให้ผนังลำไส้ดูดซึมสารอาหารได้ไม่ดี ทำให้มีน้ำหรืออาหารเหลวในลำไส้มาก ร่างกายจึงขับสิ่งแปลกปลอมจำนวนมากนี้ออกมาในรูปแบบของอาการท้องร่วง ผู้ป่วยโรคบิดจะมีอาการปวดท้อง ถ่ายเป็นเลือด มีความรู้สึกอยากเข้าห้องน้ำ อยากจะถ่ายท้องตลอดเวลา มีไข้ และอ่อนเพลีย
วิธีสังเกตว่าเป็นโรคบิดมีตัวหรือไม่มีตัว
แม้อาการของโรคบิดมีตัวกับโรคบิดไม่มีตัวจะไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผู้ป่วยก็สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ ดังนี้
- โรคบิดมีตัว ถ่ายเป็นเลือด ปวดท้อง มีความรู้สึกอยากเข้าห้องน้ำ อยากถ่ายท้องตลอดเวลา คนไข้จะไม่อ่อนเพลียมากนัก อาจมีไข้เล็กน้อย แต่ไม่รู้สึกว่ามีไข้ อุจจาระของคนที่เป็นบิดมีตัวจะมีอุจจาระเหม็น และมีสีดำแดง
- โรคบิดไม่มีตัว อุจจาระจะมีฟอง มีเลือด มีกลิ่นเหม็นน้อยกว่า และมีสีแดงมากกว่าอุจจาระของผู้ป่วยที่มีอาการบิดมีตัว คนไข้จะมีอาการปวดขัด ปวดเบ่ง มีความรู้สึกอยากเข้าห้องน้ำ อยากจะถ่ายท้องตลอดเวลา อ่อนเพลีย และมีไข้
วิธีรักษาโรคบิด
การรักษาโรคบิดแบบมีตัว จะใช้ยารักษาทั้งหมด 3 ชนิด ดังนี้
- เมโทรไนดาโซล (Metronidazole) โดยยานี้อาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และมีกลิ่นปาก
- ออนิดาโซล (Ornidazole)
- ไทนิดาโซล (Tinidazole)
การรักษาโรคบิดไม่มีตัว
- ใช้ยาปฏิชีวนะ จำพวกแอมพิซิลลิน (Ampicillin) หรือใช้ยาโค-ไตรมอกซาโซล (Co-Trimoxazole)
2. ไข้ไทฟอยด์ (Typhoid fever หรือ Enteric fever)
ไข้ไทฟอยด์ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Salmonella Typhi ซึ่งมนุษย์เรารับแบคทีเรียชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายจากการกินอาหารที่มีเชื้อแบคทีเรียนี้ปะปนมา หลังจากที่เชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้ว ก็จะส่งผลต่อเยื่อบุทางเดินอาหาร และแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ ที่สำคัญของร่างกาย และทำให้อวัยวะที่สำคัญเหล่านั้นทำงานผิดปกติ
อาการของไข้ไทฟอยด์
- มีไข้สูงแบบเรื้อรัง
- ครั่นเนื้อครั่นตัว
- ปวดศีรษะ
- เวียนศีรษะ
- อ่อนเพลีย
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ไม่มีน้ำมูก
- ไอแห้ง
- ในผู้ใหญ่จะพบอาการท้องผูก ส่วนในเด็กจะพบว่ามีอาการถ่ายเหลว
- ปวดท้องคล้ายอาการไส้ติ่งอักเสบ หรือถุงน้ำดีอักเสบ บางรายมีอาการท้องอืด และเมื่อกดที่ท้องจะมีอาการเจ็บเล็กน้อย
- มีอาการหนาวสะท้านเป็นพักๆ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเพ้อด้วย
- เบื่ออาหาร
วิธีรักษาโรคไทฟอยด์
- ดื่มน้ำสะอาดมากๆ
- กินอาหารอ่อน และกินวิตามินบำรุงหากผู้ป่วยไม่สามารถทานอาหารได้
- ใช้ยาปฏิชีวนะโคไตรม็อกซาโซล ไตรเมโทพริม (Trimethoprim) คลอแรมเฟนิคอ (Chloramphenic) อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin)
- สำหรับผู้ป่วยรายที่อาจมีอาการดื้อยา แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะกลุ่มฟลูออโรควิโนโลน เช่น ไซโพรฟล็อกซาซิน (Ciprofloxacin) หรือเซฟทริอะโซน (Ceftriaxone)
- หากอาการไม่ดีขึ้นในช่วง 4-7 วัน ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
3. โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (Acute diarrhea)
โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน คือ อาการถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ ในบางรายมีอาการอาเจียน และในบางรายมีอาการไข้ร่วมด้วย โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันเกิดจากหลายสาเหตุ อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ เชื้ออหิวาตกโรค เชื้อบิด ปรสิตในลำไส้ รวมถึงอาจเกิดจากการเป็นโรคมาลาเรีย หรือโรคหัด ก็สามารถทำให้เกิดอาการอุจจาระร่วงได้เช่นกัน
อาการของโรคอุจจาระร่วงฉับพลัน
อาการจะคล้ายกันกับอาการท้องเสีย ต่างกันตรงที่ ผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงฉับพลันจะมีอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำติดต่อกัน 3 ครั้งขึ้นไป และมีอาการปวดบิดในท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ในผู้ป่วยบางรายอาจมีการถ่ายเป็นเลือดร่วมด้วย
วิธีรักษาโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน
- ดื่มเกลือแร่
- ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรงจนไม่สามารถดื่มน้ำได้ แพทย์จะวินิจฉัยให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ
- ใช้ยาปฏิชีวนะนอร์ฟลอกซาซิน (Norfloxacin)
วิธีป้องกัน โรคทางเดินอาหาร
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง โดยเฉพาะก่อนและหลังปรุงอาหาร รวมถึงก่อนและหลังกินอาหาร
- ดื่มน้ำสะอาด หรือดื่มน้ำต้มสุก
- กินอาหารที่ปรุงสุก หลีกเลี่ยงการกินอาหารดิบ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ
- เลี่ยงการใช้อุปกรณ์ที่เป็นแหล่งสะสมความชื้น เช่น ตะเกียบไม้ เขียงไม้ เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค
[embed-health-tool-bmr]