backup og meta

ฝีในตับ อาการ สาเหตุ การรักษา และการดูแลตัวเอง

ฝีในตับ อาการ สาเหตุ การรักษา และการดูแลตัวเอง

โรคฝีในตับ หรือฝีตับ (Liver Abscess) คือหนองในตับที่มีอาการติดเชื้อในรูขนาดเล็ก ตับเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่หลายประการ รวมทั้งกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย เมื่อมีการติดเชื้อปรสิตที่ตับ อาจเกิดรูเล็ก ๆ และเกิดหนองขึ้น

ฝีในตับ คืออะไร

โรคฝีในตับ หรือฝีตับ (Liver Abscess)  คือ โรคที่เกิดจากตับติดเชื้อ ทำให้ตับเป็นหนองหรือเป็นฝี ซึ่งอาจเป็นฝีจุดเดียวหรือหลายจุดก็ได้ ภาวะนี้พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย และหากอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่สุขอนามัยไม่ดี ก็อาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้

ตับเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่กักเก็บพลังงานและโปรตีน รวมทั้งกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย หากมีฝีในตับ จะส่งผลต่อการทำงานของตับ และหากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

อาการของ ฝีในตับ

โรคฝีในตับ อาจก่อให้เกิดอาการดังต่อไปนี้

  • มีไข้
  • รู้สึกหนาวสั่น
  • เหงื่อออก
  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • ท้องร่วง หรือปวดท้องด้านขวาบน
  • อาการอื่น ๆ ที่พบได้ไม่บ่อย เช่น เจ็บหน้าอก เบื่ออาหาร ผิวหรือตาขาวเป็นสีเหลืองหรือดีซ่าน

หากมีอาการข้างต้น ควรรีบไปพบคุณหมอ เพราะโรคฝึในตับอาจส่งผลให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

สาเหตุของฝีในตับ

โรคฝีในตับ เกิดจากสาเหตุหลัก 3 ประการ ดังนี้

  • ฝีในตับจากเชื้อแบคทีเรีย (Pyogenic Liver Abscess) เป็นโรคฝีในตับชนิดที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อเบอร์โคเดอเรีย สูโดมัลลิอาย (Burkholderia Pseudomallei) เชื้อสแตฟฟิโลคอกคัส (Staphylococcus) เชื้อซาลโมเนลล่า (Salmonella) มักทำให้เกิดฝีในตับหลายจุด และอาจส่งผลให้เกิดอาการอักเสบในอวัยวะต่าง ๆ เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ถุงผนังลำไส้อักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ
  • ฝีในตับจากอะมีบา หรือฝีบิดในตับ (Amoebic Liver Abscess) เกิดจากการติดเชื้อเอนตามีบา ฮีสโตไลติกา (Entamoeba histolytica) หรือเชื้อบิดชนิดมีตัวที่อาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ อาจเข้าสู่ร่างกายผ่านการบริโภคอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อบิด
  • ฝีในตับจากเชื้อรา (Fungal Liver Abscess) ส่วนใหญ่เป็นเชื้อราชนิดแคนดิดา (Candida)

ปัจจัยเสี่ยงของฝีในตับ

ปัจจัยต่อไปนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคฝีในตับได้

  • การรับประทานอาหารที่ไม่ผ่านการรับรองความปลอดภัย ไม่ผ่านการปรุงสุก หรือไม่ถูกสุขลักษณะ
  • ปัญหาเกี่ยวกับตับ เช่น ภาวะตับติดเชื้อ ภาวะตับทำงานบกพร่อง
  • ผู้หญิงอาจเสี่ยงเป็นโรคฝีในตับได้มากกว่าผู้ชาย
  • คนอายุ 60-70 ปีอาจเสี่ยงติดเชื้อได้มากกว่า

การวินิจฉัยและการรักษาโรคฝีในตับ

ข้อมูลที่นำเสนอในที่นี้ ไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ให้ปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยฝีในตับ

วิธีวินิจฉัยโรคฝีในตับที่นิยมใช้ คือ การอัลตราซาวด์ และการตรวจซีทีสแกน ในบางกรณี คุณหมออาจสอดเข็มเข้าไปในช่องท้องเพื่อเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อฝีในตับมาตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์

การรักษาฝีในตับ

วิธีที่ดีที่สุดในการรักษาโรคฝีในตับ คือ การกำจัดฝีหรือหนองและให้ยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะที่แตกต่างกันสองถึงสามชนิด โดยปกติแล้ว จะให้ยาปฏิชีวนะผ่านทางหลอดเลือดจนกว่าอาการไข้และอาการอักเสบจะหายไป และคุณหมออาจใช้สอดเข็มเข้าไปที่ฝีในตับเพื่อระบายหนองออก

การดูแลตัวเองเพื่อรับมือกับโรคฝีในตับ

ผู้ป่วยโรคฝีในตับจากการติดเชื้อแบคทีเรียส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์หลังจากให้ยาปฏิชีวนะและระบายหนองออก สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคฝีในตับจากเชื้ออะมีบา อาการไข้จะทุเลาลงภายใน 4 -5 วัน หลังรับการรักษา ซึ่งผู้ป่วยควรดูแลตัวเองด้วยวิธีที่เหมาะสมดังต่อไปนี้ เพื่อช่วยให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพที่สุด

  • ใช้ยาปฏิชีวนะตามคุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัด
  • เข้ารับการตรวจและติดตามอาการตามนัดหมายทุกครั้ง
  • ดูแลสุขอนามัยให้ดี เช่น ล้างมือก่อนรับประทานอาหารและหลังใช้ห้องน้ำทุกครั้ง
  • ไปพบคุณหมอทันทีหากมีอาการปวดท้อง อาเจียน มีไข้ ท้องร่วง เหงื่อออก รู้สึกหนาว หรือมีอาการดีซ่าน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Ferri, Fred. Ferri’s Netter Patient Advisor. Philadelphia, PA: Saunders / Elsevier, 2012. Print Edition. Page 319

Pyogenic liver abscess. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/000261.htm. Accessed March 30, 2023

Pyogenic liver abscess. https://medlineplus.gov/ency/article/000261.htm. Accessed March 30, 2023

Hepatic Abscess. https://www.hopkinsguides.com/hopkins/view/Johns_Hopkins_ABX_Guide/540259/all/Hepatic_Abscess. Accessed March 30, 2023

Liver Abscess. https://www.drugs.com/cg/liver-abscess.html. Accessed March 30, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/03/2023

เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ฝีฝักบัว อาการ สาเหตุ และการรักษา

ฝีที่รักแร้ เกิดจากอะไร ป้องกันได้หรือไม่


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 30/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา