backup og meta

โรคตับแข็ง

โรคตับแข็ง

โรคตับแข็ง (Cirrhosis) เกิดจากการที่ตับอักเสบทำให้เนื้อเยื่อตับเป็นพังผืด เกิดความเสียหายและไม่สามารถทำงานได้อย่างเหมาะสม ทำให้เกิดการขัดขวางกระแสเลือดภายในตับบางส่วน โดยมีปัจจัยเสี่ยงคือพันธุกรรม การดื่มแอลกอฮอล์ และโรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกิน

[embed-health-tool-bmi]

คำจำกัดความ

โรคตับแข็ง คืออะไร

โรคตับแข็ง (Cirrhosis) เป็นภาวะที่ตับได้รับความเสียหายและไม่สามารถทำงานได้อย่างเหมาะสม มักเกิดขึ้นเมื่อตับมีการอักเสบทำให้เนื้อเยื่อตับเป็นพังผืด และไปขัดขวางกระแสเลือดภายในตับเป็นบางส่วน

ทั้งนี้ ตับเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดภายในร่างกาย ทำหน้าที่สำคัญหลายประการ โดยหน้าที่หลักของตับ ได้แก่

  • ดูดซึมและสะสมสารอาหารที่จำเป็นในระหว่างการย่อยอาหาร ได้แก่ โปรตีน น้ำตาล และไขมัน แล้วลำเลียงสารอาหารเหล่านี้ไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
  • สังเคราะห์โปรตีนขึ้นใหม่เพื่อสร้างสารที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด และสารภูมิคุ้มกันเพื่อช่วยให้ร่างกายซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่เสียหายและต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ
  • สังเคราะห์น้ำดีเพื่อสลายไขมันในอาหารในระหว่างย่อยอาหารเพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมไขมัน คอเลสเตอรอล และวิตามินที่ละลายในไขมัน
  • กรองเลือดเพื่อกำจัดของเสีย เช่น สารพิษต่าง ๆ ไขมันส่วนเกิน และคอเลสเตอรอล ของเสียดังกล่าวก่อตัวขึ้นเป็นอุจจาระแล้วปลดปล่อยออกจากร่างกายในระหว่างการขับถ่าย

โดยปกติแล้ว ตับสามารถฟื้นฟูและซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่เสียหายได้ ยกเว้นในกรณีที่เกิดความเสียหายรุนแรงเกินไปเป็นเวลานาน ส่งผลให้เนื้อเยื่อตับกลายเป็นเนื้อเยื่อแผลเป็น ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าพังผืด (fibrosis) การเกิดพังผืดของตับเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ เมื่อเวลาผ่านไปก็จะก่อให้เกิดตับแข็งในที่สุด

โรคตับแข็งในระยะเริ่มแรก ตับยังคงทำงานและเมื่อเข้าสู่สู่ระยะต่อไปตับอาจล้มเหลวได้ ควรเข้ารับการตรวจทันทีเพื่อป้องกันตับล้มเหลว (liver failure)

โรคตับแข็ง พบได้บ่อยเพียงใด

โรคตับแข็งพบได้ทั่วไป โดยมักพบอยู่ในผู้ป่วยโรคตับเรื้อรังระยะสุดท้าย (chronic liver disease) โดยประมาณการกันว่าคนจำนวน 50 ล้านคนในโลกได้รับผลกระทบจากโรคตับเรื้อรัง และโรคตับแข็ง ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพได้ทั้งในผู้ชาย และผู้หญิง อย่างไรก็ดี อัตราการเสียชีวิตจากโรคตับแข็งมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

อาการ

อาการของ โรคตับแข็ง

สัญญาณเตือนและอาการของโรคตับแข็งขึ้นอยู่กับระยะของโรค คนจำนวนมากที่เป็นโรคตับแข็งในระยะเริ่มแรกอาจไม่มีสัญญาณเตือนหรืออาการ หากมีอาการเกิดขึ้น  มักมีลักษณะดังต่อไปนี้

  • รู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนแรง อ่อนเพลีย
  • มีความอยากอาหารน้อยลงหรือไม่มีความอยากอาหาร
  • คลื่นไส้
  • น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว
  • ตับโต
  • ฝ่ามือมีสีแดง

ในช่วงระยะท้าย ๆ ของโรคตับแข็ง อาจมีอาการดังนี้

  • ตา หรือผิวหนังมีสีเหลือง
  • ปัสสาวะเป็นสีน้ำตาลหรือสีเหลืองเข้ม
  • ผมร่วง
  • การเปลี่ยนแปลงในหลอดเลือดที่ผิวหนังหรือโดยรอบสะดือ
  • หน้าอกโตในผู้ชาย
  • มีแผลฟกช้าและเลือดออกง่าย
  • ท้องร่วง
  • รู้สึกมึนงง
  • ท้องบวมจากการสะสมตัวของของเหลวและขาบวม
  • ม้ามโต
  • ริดสีดวงทวาร
  • หมดสติ (Coma)

อาจมีสัญญาณเตือนหรืออาการบางประการที่ไม่ได้กล่าวถึงข้างต้น หากมีข้อกังวลใด ๆ เกี่ยวกับอาการหนึ่งที่เกิดขึ้น สามารถขอเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ได้ในทันที

ควรไปพบหมอเมื่อใด

ควรไปพบหมอหากมีสัญญาณเตือนและอาการใด ๆ ที่กล่าวถึงข้างต้น เพราะหากตรวจพบว่าเป็น ควรรีบรักษาตับแข็งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันตับเสียหายมากขึ้น และอาจสามารถรักษาตับเสียหายได้โดยการรักษาเซลล์เนื้อเยื่อตับ

สาเหตุ

สาเหตุของ โรคตับแข็ง

มีสาเหตุหลายประการสำหรับโรคตับแข็ง สาเหตุทั่วไป ได้แก่

  • ตับอักเสบซีเรื้อรัง (Chronic hepatitis C)

เป็นภาวะเรื้อรังที่มีการอักเสบของตับซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัส มักแพร่กระจายจากเลือดที่ติดเชื้อผ่านการใช้เข็มร่วมกันหรือการถ่ายเลือด ตับอักเสบซีมักไม่ค่อยแพร่กระจายทางเพศสัมพันธ์หรือการคลอดบุตร

  • โรคตับที่สัมพันธ์กับแอลกอฮอล์ (Alcoholic-related liver disease)

โรคตับประเภทนี้เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป หมายความว่า หากดื่มมากกว่า 2 ถึง 3 หน่วยต่อวันเป็นเวลามากกว่า 10 ถึง 12 ปี มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเป็นโรคตับแข็งจากแอลกอฮอล์ (alcoholic cirrhosis)

  • โรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic fatty liver disease ;NAFLD)

ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าไขมันสะสมในตับ (non-alcoholic steatohepatits (NASH)) เกิดขึ้นเมื่อมีไขมันส่วนเกินในตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ สาเหตุบางประการ อาจได้แก่ โรคอ้วน เบาหวานที่ไม่ได้รับการรักษา ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง และไตรกลีเซอไรด์สูง

  • ตับอักเสบบีเรื้อรัง (Chronic hepatitis B)

โดยคล้ายคลึงกับตับอักเสบซี ตับอักเสบบี เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งทำให้เกิดตับอักเสบ พังผืด และตับแข็ง ตับอักเสบบีสามารถแพร่กระจายโดยเลือดที่ติดเชื้อผ่านการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การถ่ายเลือด เพศสัมพันธ์ และการคลอดบุตร แต่ตับอักเสบบีเป็นโรคที่ป้องกันได้ ซึ่งหมายความว่ามีวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อได้

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของ โรคตับแข็ง

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเพิ่มโอกาสการเกิดตับแข็ง มีดังต่อไปนี้

  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินไปเป็นเวลานาน หมายความว่า บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 2-4 หน่วยทุกวันเป็นเวลามากกว่า 10 ปี
  • การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อตับอักเสบบีและอาจติดเชื้อตับอักเสบซี
  • การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันหรือการถ่ายเลือดสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นตับอักเสบบี และตับอักเสบซี
  • โรคตับที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น โรควิลสัน หรือภาวะเหล็กเกิน สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคตับแข็งได้
  • ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนสามารถทำให้เกิดไขมันพอกตับ ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบและตับแข็ง

ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีการต่า งๆ ในการจัดการความเสี่ยง หากจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสมอาจช่วยป้องกันโรคตับแข็งหรือป้องกันอาการไม่ให้แย่ลงได้

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอมิได้ใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ให้ปรึกษาแพทย์เสมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัย โรคตับแข็ง

คุณหมอจะวินิจฉัยภาวะตับแข็งโดยการพิจารณาภาวะสุขภาพในปัจจุบัน รวมทั้งทำการตรวจร่างกายและหัตถการหลายประการ การตรวจเพื่อวินิจฉัย อาจได้แก่

  • การซักประวัติสุขภาพของครอบครัว การทราบว่าสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคตับหรือไม่จะช่วยให้แพทย์ทำการวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง
  • การตรวจร่างกาย คุณหมอจะตรวจร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณช่องท้อง เพื่อตรวจว่าตับโตหรือไม่ หรือมีบริเวณที่แข็งหรือไม่
  • การตรวจเลือด การตรวจเลือดสามารถแสดงให้เห็นถึงระดับที่ผิดปกติของเอนไซม์ในตับ เซลล์เม็ดเลือด และเกล็ดเลือด โดยทั่วไป จะมีการตรวจ 3 ประเภทที่สามารถวัดความรุนแรงของความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตับ ได้แก่ การตรวจบิลิรูบิน (bilirubin test) หรือตรวจวัดน้ำดีในเลือด การตรวจครีเอตินิน (creatinine test) หรือตรวจวัดการทำงานของไต และการตรวจวัดความสามารถของร่างกายในการแข็งตัวของเลือด (international normalized ratio test)
  • การตรวจโดยใช้ภาพถ่ายอวัยวะ (Imaging tests) การตรวจนี้สามารถตรวจหาอาการแทรกซ้อนที่เกิดจากตับเสียหาย เช่น น้ำในช่องท้อง (ascites) ซึ่งเป็นอาการบวมในช่องท้องที่เกิดจากการสะสมตัวของของเหลว และมะเร็งตับ
  • การตัดเนื้อเยื่อตับส่งตรวจ (Liver biopsy) การตรวจนี้เป็นการประเมินความเสียหายของตับโดยการนำตัวอย่างเนื้อเยื่อตับออกมาและตรวจโดยใช้กล้องจุลทรรศน์

การรักษา โรคตับแข็ง 

การรักษาโรคตับแข็งขึ้นอยู่กับสาเหตุรวมทั้งภาวะแทรกซ้อนใดๆ ที่เกิดขึ้น เริ่มแรก ควรกำจัดหรือรักษาสาเหตุของตับแข็งก่อน นั่นก็คือ การลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาใดๆ  ที่ทำให้ตับเสียหาย

การรักษาตับอักเสบบีและตับอักเสบซีโดยใช้ยาต้านไวรัส (anti-virals) สามารถช่วยจัดการภาวะอักเสบในตับ ซึ่งเป็นการบรรเทาภาวะตับแข็งที่ทำให้ตับเสียหาย หากสาเหตุของตับแข็งเกิดจากท่อน้ำดีอุดตัน คุณหมออาจสั่งยา เออร์โซไดออล (ursodiol) เพื่อแทนที่กรดน้ำดีที่ปกติถูกสังเคราะห์ขึ้นในตับ

กรณีที่คุณหมอพิจารณาแล้วว่าอาการเบื้องต้นของผู่้ป่วยสามารถรักษาด้วยยาปฏิชีวนะไม่ได้ผล อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนมาใช้เทคนิคอื่นๆ ในการรักษาร่วมด้วย เช่น การผ่าตัด การเปลี่ยนทางเดินหลอดเลือด (portacaval shunt) และการปลูกถ่ายตับ (liver transplantation)

นอกจากนี้ อาจจำเป็นต้องรักษาอาการแทรกซ้อนที่สัมพันธ์กับโรคตับแข็งที่อาจเกิดขึ้นอีกด้วย ได้แก่ อาการปวดท้องหรืออาการคัน มีน้ำในช่องท้อง (ascites) ความดันโลหิตสูงในหลอดเลือดดำพอร์ทัล (portal veins) ที่บริเวณช่องท้อง (portal hypertension) ภาวะหลอดเลือดขยายตัว (varices) โรคมะเร็งตับ ภาวะความหนาแน่นของกระดูกลดลง หรือโรคกระดูกพรุน (osteoporosis) นิ่วในถุงน้ำดี (gallstones) และการสูญเสียการทำงานของสมองที่เกิดจากการสะสมตัวของสารพิษ (hepatic encephalopathy) เพราะมิเช่นนั้นภาวะดังกล่าวนี้อาจนำพาให้สุขภาพเริ่มทรุด และแย่ลงกว่าเดิมได้

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองเพื่อรับมือกับ โรคตับแข็ง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองดังต่อไปนี้อาจช่วยให้รับมือกับโรคตับแข็งได้ดีขึ้น

  • เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • รับประทานอาหารอย่างสมดุล อาจจำเป็นต้องจำกัดโปรตีนเนื่องจากตับอาจไม่สามารถใช้โปรตีนได้
  • เปลี่ยนแปลงกิจกรรมต่าง ๆ และพฤติกรรมการใช้วีวิต โดยเน้นการดูแลตัวเองตามคำแนะนำที่เหมาะสม
  • ติดต่อคุณหมอหากในระหว่างการรักษา อาจอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ หรือมีเลือดสีแดงสดในอุจจาระ รวมทั้งมีของเหลวเพิ่มขึ้นในช่องท้องหรือเท้า หรือมีไข้

หากมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจอย่างละเอียดมากขึ้น และเป็นการนำไปปรับใช้ให้เข้ากับชีวิตประจำวันของคุณได้อย่างลงตัว

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Cirrhosis. http://www.niddk.nih.gov/health-information/health-topics/liver-disease/cirrhosis/Pages/facts.aspx. Accessed June 27, 2023.

Cirrhosis. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cirrhosis/home/ovc-20187218. Accessed June 27, 2023.

Cirrhosis. http://www.msdmanuals.com/professional/hepatic-and-biliary-disorders/fibrosis-and-cirrhosis/cirrhosis. Accessed June 27, 2023.

Global burden of liver disease: A true burden on health sciences and economies. http://www.worldgastroenterology.org/publications/e-wgn/e-wgn-expert-point-of-view-articles-collection/global-burden-of-liver-disease-a-true-burden-on-health-sciences-and-economies. Accessed June 27, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/06/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารบำรุงตับ และอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 27/06/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา