backup og meta

ตกขาวคือ อะไร สำคัญกับระบบสืบพันธุ์ผู้หญิงอย่างไร

ตกขาวคือ อะไร สำคัญกับระบบสืบพันธุ์ผู้หญิงอย่างไร

ตกขาวคือ ของเหลวหรือสารคัดหลั่งที่ไหลออกจากช่องคลอด ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำความสะอาดช่องคลอด คือ ช่องคลอดจะดักจับสิ่งสกปรก แบคทีเรีย และเซลล์ที่ตายแล้ว จากนั้นขับออกมาในรูปแบบของตกขาว นอกจากนี้สารคัดหลั่งเหล่านี้ยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ช่องคลอด ป้องกันภาวะช่องคลอดแห้ง การมีตกขาวถือเป็นภาวะปกติของร่างกาย แต่หากตกขาวมีกลิ่นไม่พึ่งประสงค์ หรือเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีอื่น ๆ เช่น สีเขียว เหลือง น้ำตาล มีเลือดปน หรือพบความผิดปกติอื่น ๆ ของช่องคลอด เช่น แสบ คัน บวม แดง ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที

[embed-health-tool-ovulation]

ประเภทของตกขาว

ประเภทของตกขาว อาจสังเกตได้จากสีของตกขาว ดังนี้

  • ตกขาวสีขาว สีใส หรือเป็นเมือก เป็นเรื่องปกติที่เกิดจากการขับสิ่งสกปรก หรืออาจเป็นมูกใสที่บ่งบอกว่าเป็นช่วงที่ร่างกายมีการตกไข่ก่อนเป็นประจำเดือน เป็นสัญญาณเตือนการตั้งครรภ์ หรืออาจเกิดได้หลังจากถูกกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ แต่ถ้าหากตกขาวมีสีขาวขุ่นมากกว่าปกติ อาจหมายถึงการติดเชื้อรา ซึ่งมักมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ส่งผลให้เกิดอาการคัน ปวดบวม แดง ร้อนของช่องคลอด เจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ตกขาวสีแดงหรือน้ำตาล มักมีอาการปวดอุ้งเชิงกรานหรือท้องน้อย เลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติร่วมด้วย ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ การติดเชื้อในช่องคลอดหรือในอุ้งเชิงกราน การมีก้อนหรือติ่งเนื้อบริเวณช่องคลอด หรือ ปากมดลูกโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นต้น
  • ตกขาวสีเทา ขาว หรือเหลือง และมีกลิ่นคาว อาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่อาจส่งผลให้มีอาการคัน แสบร้อน ช่องคลอดบวมแดงร่วมด้วย
  • ตกขาวสีชมพู อาจเกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกลอกตัวหลังคลอดบุตร หรือที่เรียกว่า น้ำคาวปลา
  • ตกขาวสีเหลืองขุ่น หรือเหลืองปนเขียวคล้ายหนอง ร่วมกับมีเลือดออกขณะปัสสาวะ ปัสสาวะลำบาก ปวดกระดูกเชิงกราน ปวดหน่วงท้องน้อย อาจเกิดจากโรคหนองใน
  • ตกขาวสีเขียวหรือสีเหลืองและเป็นฟอง อาจมีสาเหตุมาจากโรคพยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis) ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อย เกิดจากการติดเชื้อปรสิต

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ตกขาวผิดปกติ

ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดตกขาว อาจมีดังนี้

  • การติดเชื้อจากคู่นอนระหว่างมีเพศสัมพันธ์ที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองใน โรคพยาธิในช่องคลอด
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยาคุมกำเนิด
  • การเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ที่มากเกินไปในช่องคลอด ส่งผลให้ช่องคลอดระคายเคือง เเละผลิตสารคัดหลั่งออกมามากขึ้น
  • การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
  • ช่องคลอดระคายเคืองและอักเสบ
  • การมีรอยโรคต่าง ๆ เช่น ติ่งเนื้อหรือก้อนในช่องคลอดหรือปากมดลูก
  • โรคมะเร็งปากมดลูก
  • ช่วงวัยหมดประจำเดือน เพราะระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนอาจลดลงส่งผลให้ผนังช่องคลอดบางและแห้ง จนเสี่ยงติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น
  • การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของน้ำหอม เช่น ครีม สบู่ น้ำยาปรับผ้านุ่ม ขี้ผึ้ง เจล

วิธีป้องกันการติดเชื้อในช่องคลอด

  • ทำความสะอาดช่องคลอดด้วยน้ำอุ่น ไม่ควรใช้น้ำยาทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นเป็นประจำทุกวัน เพราะอาจทำให้แบคทีเรียในช่องคลอดเสียสมดุล
  • หลังจากเข้าห้องน้ำควรเช็ดอวัยวะเพศจากด้านหน้าไปด้านหลัง เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียจากทวารหนักเข้าสู่ช่องคลอด
  • เลือกกางเกงชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้าย หลีกเลี่ยงการใส่กางเกงที่รัดรูปหรือแน่นเกินไป เพื่อป้องกันเหงื่อออกและอับชื้นจนทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียจากเหงื่อ
  • ควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Vaginal Discharge: What’s Abnormal?. https://www.webmd.com/women/guide/vaginal-discharge-whats-abnormal . Accessed November 22, 2021

Vaginal Discharge: What’s Normal, What’s Not. https://kidshealth.org/en/teens/vdischarge2.html . Accessed November 22, 2021

Vaginal discharge. https://www.mayoclinic.org/symptoms/vaginal-discharge/basics/when-to-see-doctor/sym-20050825 . Accessed November 22, 2021

Vaginal itching and discharge – adult and adolescent. https://medlineplus.gov/ency/article/003158.htm . Accessed November 22, 2021

Vaginal discharge. https://www.nhs.uk/conditions/vaginal-discharge/ . Accessed November 22, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/03/2023

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ตกขาวเยอะ เกิดจากอะไร ผิดปกติหรือไม่

ตกขาวมีกลิ่น สาเหตุ การรักษา และการป้องกัน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 28/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา