backup og meta

ผลข้างเคียงหลังผ่าตัดมดลูก ที่คุณควรรู้ ก่อนตัดสินใจรักษาโรคด้วยวิธีนี้

ผลข้างเคียงหลังผ่าตัดมดลูก ที่คุณควรรู้ ก่อนตัดสินใจรักษาโรคด้วยวิธีนี้

การผ่าตัดมดลูก หรือการผ่าตัดมดลูกออก (Hysterectomy) เป็นวิธีรักษาโรคที่แพทย์มักใช้ในการรักษาปัญหาสุขภาพ เช่น โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกในมดลูก โรคมะเร็งทางสูตินรีเวช ภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก ภาวะปวดอุ้งเชิงกรานเรื้อรัง แม้วิธีนี้จะเป็นวิธีรักษาโรคที่ได้รับความนิยม แต่ก็อาจทำให้คุณเกิดผลข้างเคียงบางอย่างได้หลังผ่าตัด Hello คุณหมอ อยากให้คุณทำความเข้าใจก่อนว่า ผลข้างเคียงหลังผ่าตัดมดลูก มีอะไรบ้าง หากคุณจำเป็นต้องรักษาโรคด้วยวิธีนี้ จะได้เป็นตัวช่วยในการตัดสินใจ ว่านี่เป็นวิธีที่เหมาะสมกับคุณที่สุดหรือไม่

[embed-health-tool-ovulation]

การพักฟื้นหลังผ่าตัดมดลูก

ระยะเวลาในการพักฟื้นหลังผ่าตัดมดลูก ขึ้นอยู่กับประเภทของการผ่าตัด หากคุณผ่าตัดมดลูกผ่านกล้อง (Laparoscopic hysterectomy) หรือผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด (Vaginal Hysterectomy) คุณอาจต้องพักฟื้นในโรงพยาบาล 1-4 วันจึงจะกลับบ้านได้ หรือหากเป็นการผ่าตัดมดลูกทางหน้าท้อง (Abdominal hysterectomy) ส่วนใหญ่ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลหลังผ่าตัดประมาณ 5 วัน ก็สามารถกลับไปพักรักษาตัวที่บ้านได้

หลังผ่าตัดประมาณ 4-6 สัปดาห์ แพทย์จะนัดผู้ป่วยเข้ามาตรวจติดตามผลหลังการผ่าตัด เพื่อดูว่าร่างกายของคุณฟื้นตัวดีเป็นปกติหรือไม่ หรือมีอาการแทรกซ้อน หรือผลข้างเคียงหลังผ่าตัดอะไรหรือเปล่า แต่หากมีปัญหาสุขภาพ หรือการเปลี่ยนแปลงบางประการที่ทำให้คุณเป็นกังวล คุณก็สามารถปรึกษาแพทย์ได้ตลอดเวลา

โดยปกติแล้ว หากคุณผ่าตัดมดลูกทางหน้าท้อง คุณจะต้องใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 6-8 สัปดาห์ จึงจะหายเป็นปกติ แต่หากเป็นการผ่าตัดมดลูกผ่านกล้อง หรือผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด ก็มักจะใช้เวลาพักฟื้นน้อยกว่า

ในช่วงที่กำลังพักฟื้นหลังผ่าตัด คุณไม่ควรยกของหนัก หรือขยับร่างกายบ่อย ๆ แต่ควรพักผ่อนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้กล้ามเนื้อหน้าท้องและเนื้อเยื่อโดยรอบฟื้นตัวจนเป็นปกติก่อน คุณควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และหากคุณกลับไปทำกิจกรรมตามปกติ หรืออยากออกกำลังกายก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อน อย่าทำโดยพลการ เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

ผลข้างเคียงหลังผ่าตัดมดลูก

การผ่าตัดมดลูกก็เหมือนกับการผ่าตัดอื่น ๆ คือ อาจเกิดอาการแทรกซ้อน หรือผลข้างเคียงได้ โดยผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังผ่าตัดมดลูก มีดังนี้

โรคซึมเศร้า

การสูญเสียมดลูก การที่ไม่สามารถมีลูกได้ หรือการไม่มีประจำเดือน อาจทำให้ผู้หญิงบางรายรู้สึกซึมเศร้าหลังผ่าตัดมดลูกได้ อาการของโรคซึมเศร้าหลังผ่าตัดมดลูกที่คุณสามารถสังเกตได้ เช่น

  • รู้สึกสูญเสียความเป็นผู้หญิง
  • รู้สึกเศร้า เสียใจ
  • หมดความสนใจในสิ่งที่เคยชื่นชอบ
  • หมดเรี่ยวแรง หรือไร้พลังงาน
  • นอนไม่หลับ

อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นต่อเนื่องหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือนหลังเข้ารับการผ่าตัด หากคุณรู้สึกว่าอาการที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือทำให้มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา เช่น ซึมเศร้าจนไม่อยากอาหาร เลยขาดสารอาหาร แนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์ เพื่อหาวิธีรักษาที่เหมาะสมให้ได้โดยเร็วที่สุด

ความต้องการทางเพศเปลี่ยนไป

ความเปลี่ยนแปลงด้านความต้องการทางเพศในผู้หญิงที่เข้ารับการผ่าตัดมดลูกนั้นแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล บางคนอาจมีความต้องการทางเพศเพิ่มขึ้น หรือมีความสุขขณะมีเพศสัมพันธ์มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดมดลูกเพื่อรักษาภาวะเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด หรือรักษาอาการปวดเรื้อรัง

ในขณะที่บางคนก็อาจมีความต้องการทางเพศลดลง หรือไม่มีความสุขขณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากมดลูกหดรัดตัวน้อยกว่าปกติ แรงดันที่ปากมดลูกลดลง หรือช่องคลอดแห้งจนสอดใส่ได้ลำบาก หรือทำให้รู้สึกเจ็บปวดขณะสอดใส่ แต่ปัญหานี้ก็สามารถแก้ไขเบื้องต้นได้ ด้วยการใช้เจลหล่อลื่น หรือเข้ารับรักษาด้วยวิธีฮอร์โมนบำบัด หรือการให้ฮอร์โมนทดแทน (Hormone replacement therapy หรือ HRT)

ลำไส้แปรปรวน

ผลข้างเคียงหลังผ่าตัดมดลูกที่พบได้บ่อยอย่างหนึ่งก็คือ ปัญหาลำไส้แปรปรวน แต่ปัญหานี้ก็มักเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น หลังผ่าตัดช่วงแรก ๆ หากคุณมีปัญหาในการขับถ่าย แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาระบาย เพื่อให้ร่างกายสามารถขับถ่ายของเสียออกมาได้โดยไม่มีของเสียตกค้างภายในลำไส้ แต่คุณก็ไม่ควรใช้ยาระบายบ่อย ๆ เพราะจะยิ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบขับถ่าย และทำให้ร่างกายหายเป็นปกติได้ช้าลงด้วย

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้คุณบรรเทาอาการลำไส้แปรปรวนที่เกิดขึ้นด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น การกินอาหารที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ให้มากขึ้น แต่ก็ต้องระวังอย่าบริโภคไฟเบอร์มากไป เพราะอาจทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อได้ นอกจากนี้ การนวดหน้าท้องเบา ๆ ก็อาจช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดีขึ้นเช่นกัน

ปัสสาวะผิดปกติ

การผ่าตัดมดลูก นอกจากจะทำให้การทำขับถ่ายอุจจาระผิดปกติแล้ว ยังส่งผลต่อการปัสสาวะด้วย เช่น ทำให้ปัสสาวะติดขัด ทำให้ปัสสาวะบ่อย หรือบางคนอาจติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้ด้วย

หากคุณมีอาการต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณว่าคุณติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และควรรีบเข้ารับการรักษาพยาบาลทันที

  • ปัสสาวะแสบขัด
  • ปัสสาวะกะปริดกะปรอย
  • ปัสสาวะขุ่น หรือมีเลือดปน
  • ปัสสาวะมีกลิ่น
  • มีไข้ หนาวสั่น
  • เบื่ออาหาร
  • ปวดบั้นเอว

คุณสามารถบรรเทาหรือป้องกันปัญหาในการปัสสาวะเบื้องต้นได้ด้วยการดื่มน้ำให้มากขึ้น ไม่กลั้นปัสสาวะ ทำความสะอาดอวัยวะเพศอย่างถูกวิธี เป็นต้น

มีตกขาว

ผู้หญิงที่เข้ารับการผ่าตัดมดลูกอาจมีตกขาวติดต่อกันนานประมาณ 6 สัปดาห์หลังผ่าตัด โดยปริมาณตกขาวมักจะน้อยกว่าตกขาวช่วงมีประจำเดือน แต่ผู้หญิงบางรายก็อาจมีตกขาวที่มีกลิ่นแรง ร่วมกับเลือดออกมาก หรือมีลิ่มเลือดออกจากช่องคลอดได้ด้วย หากคุณสังเกตว่ามีตกขาวผิดปกติหลังผ่าตัดมดลูก แนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงกว่าได้

มีอาการของวัยหมดประจำเดือน

ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดมดลูกแบบตัดรังไข่ออกไปด้วย มักจะมีอาการของวัยหมดประจำเดือนอย่างรุนแรง เช่น

อาการวัยหมดประจำเดือนหรือวัยทองในผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดมดลูก สามารถรักษาได้ด้วยการให้ฮอร์โมนทดแทน หรือที่เรียกว่าฮอร์โมนบำบัด โดยรูปแบบของฮอร์โมนที่ใช้มีทั้งแบบยาเม็ด แบบฝังใต้ผิวหนัง แบบฉีด เป็นต้น และส่วนใหญ่ ผู้ป่วยต้องรับฮอร์โมนบำบัดประมาณ 1 สัปดาห์ จึงจะเริ่มเห็นผล

ผ่าตัดมดลูกแล้วมีอาการนี้ รีบไปพบคุณหมอ

หากหลังผ่าตัดมดลูก คุณมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบคุณหมอทันที

  • เลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด (เลือดออกมากจนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ ชั่วโมง)
  • ช่องคลอดมีกลิ่น
  • ปัสสาวะบ่อยผิดปกติ หรือปัสสาวะไม่ออก
  • มีไข้ หรืออุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • ท้องผูกเรื้อรัง
  • ท้องเสีย
  • คลื่นไส้ หรืออาเจียน
  • ปวด บวม หรือเจ็บบริเวณแผลผ่าตัด
  • แผลผ่าตัดเปิด
  • เจ็บหน้าอก หรือหายใจลำบาก
  • ปวดรุนแรง กินยาแก้ปวดก็ไม่ดีขึ้น

หากคุณมีปัญหาสุขภาพ หรือโรคที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดมดลูก แนะนำให้ปรึกษาแพทย์อย่างละเอียดก่อนผ่าตัด และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งก่อนและหลังผ่าตัด เพราะอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการแทรกซ้อน หรือผลข้างเคียงหลังผ่าตัดมดลูกได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Health Risks After Hysterectomies. https://www.webmd.com/women/features/health-risks-after-hysterectomies#1. Accessed October, 2020

Hysterectomy Side Effects to Consider. https://www.healthline.com/health/hysterectomy-side-effects. Accessed October, 2020

Hysterectomy Side Effects. https://stanfordhealthcare.org/medical-treatments/h/hysterectomy/side-effects.html. Accessed October, 2020

Complications-Hysterectomy. https://www.nhs.uk/conditions/hysterectomy/risks/. Accessed October, 2020

Hysterectomy May Have Long-Term Health Risks. https://www.webmd.com/women/news/20180103/hysterectomy-may-have-long-term-health-risks#1. Accessed October, 2020

Side Effects Following a Hysterectomy. https://www.news-medical.net/health/Side-Effects-Following-a-Hysterectomy.aspx. Accessed October, 2020

Hysterectomy side effects and recovery. https://www.medicalnewstoday.com/articles/hysterectomy-side-effects. Accessed October, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/02/2023

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ขมิบ ช่องคลอด มีวิธี ประโยชน์ และข้อควรระวังอย่างไร

ช่องคลอดสุขภาพดี ต้องกินอาหารแบบไหนถึงจะเหมาะสม


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 14/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา