เนื้องอกมดลูก เป็นเนื้องอกบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง ภาวะนี้พบบ่อยในผู้หญิงอายุ 40-50 ปี แต่ก็สามารถเกิดในผู้หญิงในวัยอื่นได้เช่นกัน เนื้องอกมดลูกเกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อที่เจริญเติบโตผิดปกติ อาจเกิดได้ทั้งบริเวณภายในเนื้อมดลูก ผนังมดลูก หรือปากมดลูก มีขนาดและรูปร่างที่หลากหลาย สาเหตุอาจเกิดได้จากพันธุกรรมและฮอร์โมนเพศหญิง โดยทั่วไปแล้วไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และมักไม่แสดงอาการ ทั้งยังมีโอกาสเปลี่ยนเป็นเนื้อร้ายหรือก้อนมะเร็งเพียง 0.25-1.08% เท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีเนื้องอกมดลูกไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ แต่ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยอาการและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมมากที่สุด
[embed-health-tool-ovulation]
เนื้องอกมดลูก เกิดจากอะไร
เนื้องอกมดลูกอาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้
- ระดับฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกาย ฮอร์โมนเพศหญิง ได้แก่ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) มีหน้าที่กระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้นในแต่ละรอบเดือน แต่ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เนื้องอกในมดลูกก่อตัวขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อการผลิตฮอร์โมนช้าลงในช่วงวัยหมดประจำเดือน เนื้องอกมักจะหดตัวและมีขนาดเล็กลง
- พันธุกรรม ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นเนื้องอกมดลูก อาจมีความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกมดลูกสูงขึ้น
อาการที่เป็นสัญญาณของเนื้องอกมดลูก
โดยทั่วไป เนื้องอกมดลูกจะไม่แสดงอาการอย่างชัดเจน หากมีอาการดังตัวอย่างต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณความผิดปกติของเนื้องอกมดลูกที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อน
- ประจำเดือนมามากผิดปกติ
- ประจำเดือนมานานกว่า 1 สัปดาห์
- รู้สึกหน่วงหรือเจ็บบริเวณท้องน้อยซึ่งเป็นตำแหน่งของกระดูกเชิงกราน
- คลำพบก้อนเนื้อในท้อง หรือรู้สึกว่าท้องโตขึ้นแบบไม่มีความผิดปกติอื่นร่วมด้วย
- รู้สึกปวดบริเวณหลังและขา
- มีอาการท้องผูก เนื่องจากเนื้องอกไปเบียดทับลำไส้ใหญ่
- ปัสสาวะบ่อยขึ้น เนื่องจากเนื้องอกโตจนไปดันกระเพาะปัสสาวะ
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด เนื้องอกมดลูก
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเนื้องอกมดลูก อาจมีดังนี้
- มีประจำเดือนตั้งแต่อายุยังน้อย ผู้ที่มีประจำเดือนตั้งแต่อายุยังน้อยมีแนวโน้มเกิดเนื้องอกมดลูกได้ง่ายกว่าคนที่มีประจำเดือนตามปกติ
- การรับประทานอาหาร ผู้ที่ไม่ค่อยรับประทานผักสีเขียว ผลไม้และนม แต่รับประทานเนื้อแดงบ่อย และมักดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ มีความเสี่ยงที่จะเป็นเนื้องอกมดลูกสูง
- อายุ อายุส่งผลต่อระดับความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกมดลูก ผู้หญิงวัย 40-50 ปีมีความเสี่ยงที่จะเกิดเนื้องอกมากที่สุด แต่ผู้หญิงวัยอื่นก็สามารถเกิดเนื้องอกมดลูกได้เช่นกัน
- มีภาวะพร่องหรือขาดวิตามินดี ซึ่งเป็นวิตามินที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายและการเจริญเติบโตของเซลล์ในร่างกาย การขาดวิตามินดีอาจนำไปสู่การก่อตัวของเนื้องอกในมดลูกได้
การรักษา เนื้องอกมดลูก
การรักษาเนื้องอกมดลูกอาจแบ่งตามระดับความรุนแรง ดังนี้
- เนื้องอกมดลูกขนาดเล็กที่ไม่ทำให้เกิดอาการ คุณหมออาจแนะนำให้เฝ้าระวังเท่านั้น เนื่องจากเนื้องอกไม่ได้เป็นเนื้อร้าย อาจไม่ขยายใหญ่ขึ้นในอนาคต และอาจหดตัวหายไปได้เองเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน
- เนื้องอกมดลูกขนาดเล็กแต่มีอาการเพียงเล็กน้อย ในกรณีนี้ คุณหมออาจให้ยาแก้ปวดตามอาการ เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) และอาจใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดเพื่อควบคุมภาวะเลือดออก นอกจากนี้ ยังอาจใช้ยาฮอร์โมนเพื่อลดขนาดของเนื้องอกมดลูก
- เนื้องอกมดลูกที่มีขนาดใหญ่และมีภาวะแทรกซ้อน ในกรณีที่เนื้องอกไม่ตอบสนองต่อยาที่ใช้และมีขนาดใหญ่มากขึ้น รวมทั้งส่งกระทบต่อร่างกาย คุณหมออาจแนะนำให้รักษาด้วยวิธีทางรังสีวิทยาและวิธีผ่าตัด
การรักษาด้วยวิธีการทางรังสีวิทยา (Radiologic Interventions)
วิธีการทางรังสีวิทยา ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่วางแผนมีบุตรในอนาคต เนื่องจากเป็นวิธีที่อาจทำให้เลือดไปเลี้ยงรังไข่ได้ไม่เพียงพอ การรักษาเนื้องอกมดลูกด้วยวิธีทางรังสีวิทยา อาจทำได้ดังนี้
- การจี้หยุดเลือดที่เส้นเลือด (Uterine artery Embolization) ทำให้ก้อนเนื้องอกขาดเลือดโดยการทำให้เส้นเลือดอุดตัน
- การใช้คลื่นวิทยุทำลายเนื้องอก (Radiofrequency Ablation) โดยการใช้ความร้อนไปทำลายเนื้อเยื่อเนื้องอกในมดลูกและทำให้หลอดเลือดที่เลี้ยงหดตัวลง
การรักษาด้วยการผ่าตัด (Surgical treatment)
การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด จะแบ่งเป็น 2 กรณีคือ การผ่าตัดนำเนื้องอกออกเพียงอย่างเดียว เหมาะสำหรับผู้ที่ยังต้องการมีบุตร และการผ่าตัดนำมดลูกและปากมดลูกออกไปทั้งหมด อาจเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการมีบุตร โดยการผ่าตัดอาจใช้วิธีผ่าตัดทางหน้าท้องหรือการผ่าตัดผ่านทางกล้อง การรักษา เนื้องอกมดลูก ด้วยการผ่าตัด อาจทำได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- การผ่าตัดนำมดลูกออก (Hysterectomy) เป็นการผ่าตัดนำมดลูกออกไปทั้งหมด ช่วยลดความเสี่ยงที่เนื้องอกจะกลับมาเกิดซ้ำ และอาจเหมาะสำหรับผู้ที่รักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่ประสบความสำเร็จ แต่วิธีการนี้จะทำให้ไม่สามารถมีบุตรได้อีก การผ่าตัดนำมดลูกออกสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง ผ่าตัดผ่านช่องคลอด และการผ่าตัดผ่านกล้องทางหน้าท้อง
- การตัดเฉพาะเนื้องอก (Myomectomy) เป็นการผ่าตัดนำส่วนเนื้องอกออกโดยไม่กระทบกับเนื้อเยื่อโดยรอบ และรักษามดลูกให้สามารถมีบุตรได้อีกในอนาคต อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ไม่สามารถป้องกันไม่ให้เนื้องอกกลับมาเกิดซ้ำได้ วิธีผ่าตัดสามารถทำได้ 3 วิธี ได้แก่ การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง การผ่าตัดผ่านการส่องกล้อง และการผ่าตัดผ่านทางช่องคลอด
- การลอกเยื่อบุโพรงมดลูกออก (Endometrial ablation) เป็นการผ่าตัดผ่านทางช่องคลอดโดยไม่ตัดมดลูกออก ด้วยการใช้ความร้อน พลังงานไมโครเวฟ น้ำร้อน หรือกระแสไฟฟ้าเพื่อทำลายเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งจะลดการหมุนเวียนของเลือดประจำเดือน วิธีนี้อาจทำให้ไม่สามารถมีลูกได้อีก แต่ควรคุมกำเนิดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตนเอง
การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตและหันมาใส่ใจสุขภาพ ด้วยวิธีการดังตัวอย่างต่อไปนี้ อาจช่วยบรรเทาและลดความเสี่ยงที่จะเกิดเนื้องอกมดลูกได้
- เลือกรับประทานผลไม้สดและผักตระกูลกะหล่ำที่อุดมไปด้วยเบตาแคโรทีน เช่น บร็อกโคลี กะหล่ำปลี และหัวผักกาดเขียว อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกได้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากการออกกำลังกายและการควบคุมให้น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ จะช่วยปรับระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนให้สมดุล ไม่สูงเกินไปจนอาจกระตุ้นการเกิดเนื้องอกในมดลูก