ค่าความดันโลหิต หรือที่อาจเรียกว่า ค่าความดัน เป็นค่าแรงดันของกระแสเลือดที่กระทบกับผนังหลอดเลือดแดง เกิดจากหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ปกติแล้ว ค่าความดันโลหิตจะเพิ่มขึ้นและลดลงตลอดทั้งวัน อย่างไรก็ตาม ควรเรียนรู้ ค่าความดันปกติ ที่เหมาะสมกับอายุ เพศ กิจกรรมที่ทำ และภาวะสุขภาพของตัวเองที่สุด และควรรักษาค่าความดันให้เป็นปกติ อย่าให้ความดันโลหิตสูงหรือต่ำเป็นประจำหรือเรื้อรัง เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนได้ ที่สามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่อันตรายได้ เช่น โรคไต โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง
[embed-health-tool-heart-rate]
ค่าความดัน คืออะไร
ค่าความดันโลหิต หรือค่าความดัน คือ ค่าแรงดันเลือดที่ส่งแรงกระทบกับผนังหลอดเลือดแดงเนื่องจากหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย โดยค่าความดันจะมี 2 ค่า ได้แก่
- ค่าความดันโลหิตตัวบน หรือตัวเลขค่าบน คือ ค่าแรงดันขณะที่หัวใจบีบตัวหรือสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายเต็มที่ (Systolic Blood Pressure)
- ค่าความดันโลหิตตัวล่าง หรือตัวเลขค่าล่าง คือ ค่าแรงดันขณะที่หัวใจคลายตัวเต็มที่ (Diastolic Blood Pressure)
ค่าความดันปกติ คือเท่าไร
การอ่านค่าความดันโลหิต ตัวเลขค่าบนจะมาก่อน ตามด้วยตัวเลขค่าล่าง เช่น 120/80 หมายถึง ตัวเลขค่าบน 120 มิลลิเมตรปรอทและตัวเลขค่าล่าง 80 มิลลิเมตรปรอท
ค่าความดัน อาจแบ่งเป็นระดับได้ ดังนี้
- ค่าความดันปกติ ตัวเลขค่าบนต่ำกว่า 120 มิลลิเมตรปรอท และตัวเลขค่าล่างต่ำกว่า 80 มิลลิเมตรปรอท
- ค่าความดันต่ำ ตัวเลขค่าบนต่ำกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท และตัวเลขค่าล่างต่ำกว่า 60 มิลลิเมตรปรอท อาจมีอาการเวียนศีรษะ อ่อนแรง หรือเป็นลม
- ค่าความดันเริ่มสูง ตัวเลขค่าบน 120-129 มิลลิเมตรปรอท และตัวเลขค่าล่างต่ำกว่า 80 มิลลิเมตรปรอท
- ค่าความดันโลหิตสูงระยะที่ 1 ตัวเลขค่าบน 130-139 มิลลิเมตรปรอท และตัวเลขค่าล่าง 80-89 มิลลิเมตรปรอท
- ค่าความดันโลหิตสูงระยะที่ 2 ตัวเลขค่าบนสูงกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท และตัวเลขค่าล่างสูงกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท
- ค่าความดันโลหิตสูงระยะที่ 3 ตัวเลขค่าบนสูงตั้งแต่ 180 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป และตัวเลขค่าล่างสูงกว่า 110 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป
ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมักไม่ค่อยแสดงอาการ แต่บางครั้งอาจมีอาการ เช่น เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หากความดันสูงมากอาจเกิดอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก จนเป็นอันตรายได้
หากค่าความดันโลหิตสูง คุณหมออาจแนะนำให้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เช่น ออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และส่งผลดีต่อสุขภาพหัวใจ ให้ยาลดความดันตามอาการ และอาจนัดติดตามอาการเป็นระยะ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เพื่อให้ค่าความดันปกติได้โดยเร็วที่สุด เพราะหากค่าความดันโลหิตสูงเรื้อรัง อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรง ได้ เช่น โรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจ
วิธีการวัดความดัน
การวัดความดันโลหิต ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
- ไม่ควรสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงชา กาแฟ ก่อนวัดความดันโลหิตอย่างน้อย 30 นาที
- หากเพิ่งออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก ควรนั่งพักสัก 30 นาที จึงค่อยวัดความดันโลหิต
- ควรปัสสาวะให้เรียบร้อย เพราะหากปวดปัสสาวะระหว่างวัดความดันอาจส่งผลต่อค่าระดับความดันโลหิต
- นั่งตัวตรง หลังพิงพนักเก้าอี้ และวางเท้าราบกับพื้น ไม่ควรนั่งไขว่ห้าง หรือนัดขัดสมาธิ เพราะอาจส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือด
- วางแขนไว้ระดับเดียวกับหัวใจ และผ่อนคลาย
- กดปุ่มเครื่องวัดความดัน โดยในขณะวัดไม่ควรพูดคุยหรือขยับตัว
- จดบันทึกค่าความดันที่วัดได้ทุกครั้ง อาจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ในช่วงเช้าและช่วงเย็น ทั้งนี้ อาจขึ้นอยู่กับภาวะสุขภาพและคำแนะนำของคุณหมอ
วิธีป้องกันความดันสูง
วิธีเหล่านี้อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะความดันสูง และช่วยให้ค่าความดันปกติได้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และควรจำกัดโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ผู้ชายควรมีรอบเอวไม่เกิน 36 นิ้ว และผู้หญิงควรมีรอบเอวไม่เกิน 32 นิ้ว เนื่องจากผู้ที่มีน้ำหนักเกินอาจเสี่ยงเกิดภาวะความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้ที่มีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น เดิน ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน อย่างน้อยวันละ 30 นาที หรือสัปดาห์ละ 150 นาที แต่ถ้าหากมีอาการเหนื่อยมากผิดปกติ หายใจไม่ทัน ควรหยุดออกกำลังกายทันที และพักสักระยะ หากอาการยังไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบคุณหมอ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง/วัน
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เพราะอาจส่งผลต่อระดับความดันโลหิตได้