หากคุณมีความดันโลหิตสูง การออกกำลังกายลดความดัน อาจเป็นวิธีที่สามารถช่วย และเห็นผลได้ชัดเจน อีกทั้งเพราะการออกกำลังกายนั้นก็มีหลายประเภทด้วยกัน จนอาจทำให้คุณรู้สึกสับสนได้ว่าควรเลือกออกกำลังแบบใดจึงจะเหมาะสมมากที่สุด วันนี้ Hello คุณหมอ ขออาสาพามารู้จักกับการ ออกกำลังกายลดความดัน ที่น่าจะเป็นประโยชน์กับสุขภาพทุกคน มาฝากกัน
วิธีการ ออกกำลังกายลดความดัน ที่เหมาะสำหรับโรคความดันโลหิตสูง
การออกกำลังกายแบบแอโรบิก หรือ การออกกำลังกายเพื่อฝึกความอดทน (Endurance exercises) เช่น เดินเร็ว ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ปีนบันได วิ่งเหยาะ หรือ เต้นรำ เป็นต้น เป็นวิธีการออกกำลังกายที่ดีต่อหัวใจของคุณ โดยการออกกำลังกายประเภทนี้ จะมีการใช้มัดกล้ามเนื้อขนาดใหญ่ มีการหายใจเพิ่ม หัวใจเต้นเร็ว ส่งผลให้ร่างกายสามารถใช้ออกซิเจนได้มากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นการออกกำลังกายที่จะช่วยให้หัวใจ และปอดของคุณแข็งแรงขึ้นได้นั่นเอง
นอกจากนี้การออกกำลังกายแบบแอโรบิก ยังช่วยให้หลอดเลือดแดงคลายตัว ลดความดันเลือด ลดระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดี หากคุณมีความดันเลือดสูง การออกกำลังกายแบบแอโรบิกจึงมีส่วนช่วยให้คุณพ้นจากความเสี่ยงการเกิดหัวใจวายได้ ที่สำคัญคุณควรลองออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ เช่น ว่ายน้ำ 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ แต่ถึงอย่างไรคุณไม่จำเป็นต้องมีการฝืนตนเองมากเกินไป โดยอาจเริ่มจากการออกกำลังกายในระยะเวลาที่เหมาะสมกับแรงกายสักประมาณ 10 นาทีค่อวัน แล้วจึงค่อย ๆ ปรับเพิ่มเวลาเรื่อย ๆ เพื่อให้ร่างกายคุ้นชินเสียก่อนในระยะเริ่มต้น
การออกกำลังกายที่ส่งผลเสียต่อความดันโลหิต
การออกกำลังกายบางประเภท เช่น การดำน้ำลึก และสกายไดวิ่ง (sky diving) อาจไม่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีความประสงค์อยากลดความดันโลหิต เนื่องจากอาจส่งผลให้คุณมีความดันโลหิตสูงขึ้นชั่วคราวในระหว่างการออกกำลังกาย มากกว่าเดิม หรือหากคุรชื่นชอบในการออกกำลังกายรูปแบบนี้อาจต้องปรับเทคนิคบางอย่างให้เหมาะสม โดยควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และเทรนเนอร์ร่วมด้วย เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ และอาการบางอย่างที่รุนแรงกว่าเดิม
คำแนะนำเพิ่มเติม จากคุณหมอ ก่อนออกกำลังกาย
ควรมีการปรึกษากับคุณหมอ พร้อมตรวจสุขภาพ และความพร้อมของร่างกายเสียก่อน เพื่อประเมิน หรือวางแผนรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับภาวะสุขภาพที่ผู้ป่วยเป็น อีกทั้งการได้รับคำแนะนำจากคุณหมอ อาจจะช่วยให้คุณทราบได้ว่าร่างกายตนเองควรได้รับการออกกำลังกายประเภทใด และใช้เวลาเท่าใด เพื่อให้คุณอาจนำไปปรับ และเลือกการออกกำลังกายด้วยตนเองที่บ้านได้ตามความชอบ โดยไม่ต้องเข้าขอคำปรึกษาจากคุณหมอหลายครั้ง นอกเสียจากว่าคุณจะมีอาการผิดปกติ หรือเข้ารับการตรวจร่างกายตามการนัดหมายเท่านั้น
[embed-health-tool-heart-rate]