backup og meta

อาการฉี่ไม่ออก ในผู้สูงอายุ ลูกหลานควรดูแลอย่างไร?

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 29/11/2023

    อาการฉี่ไม่ออก ในผู้สูงอายุ ลูกหลานควรดูแลอย่างไร?

    หากคุณตาคุณยาย หรือผู้สูงอายุในครอบครัวมี อาการฉี่ไม่ออก ลูกหลานอย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ คิดว่าเป็นเรื่องปกติของผู้สูงอายุนะคะ เพราะปัญหาสุขภาพที่คนเรามักละเลยอย่างอาการฉี่ไม่ออกนี้ หากปล่อยไว้ในระยะยาวโดยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี อาจส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้ วันนี้ Hello คุณหมอ จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับโรคนี้อย่างละเอียดกันค่ะ

    อาการ ฉี่ไม่ออก (Urinary Retention) คืออะไร

    อาการ ฉี่ไม่ออก เป็นภาวะที่ร่างกายรู้สึกปวดปัสสาวะแต่ไม่สามารถขับปัสสาวะออกมาได้ตามปกติ เกิดจากกระเพาะปัสสาวะไม่บีบตัว หรือมีอาการท่อปัสสาวะอุดตัน ภาวะนี้แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง พบบ่อยในกลุ่มคนวัยผู้สูงอายุ และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

    ท่อปัสสาวะอุดตัน ในผู้สูงอายุ

    ท่อปัสสาวะอุดตัน เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุเกิด อาการฉี่ไม่ออก และมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดอาการฉี่ไม่ออกได้เช่นกัน ดังนี้

  • โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • การอุดตันของท่อปัสสาวะ
  • กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะอ่อนแอ
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่อาจส่งผลให้ระบบประสาททำงานผิดปกติ
  • ระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของปัสสาวะบกพร่อง
  • ภาวะ ฉี่ไม่ออก กับอาการที่ลูกหลานไม่ควรละเลย

    เมื่อผู้สูงอายุในครอบครัวแก่ตัวลง อาจทำให้เกิดอาการหลง ๆ ลืม ๆ ไปบ้าง ลูกหลานอย่างเราจึงต้องหมั่นคอยสังเกตดูพฤติกรรมและคอยถามอาการของท่านอย่างใกล้ชิด สัญญาณและอาการของภาวะฉี่ไม่ออก หรือปัสสาวะไม่ออก แบ่งเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้

    1. ปัสสาวะไม่ออกเฉียบพลัน (Acute Urinary Retention)

    อาการปัสสาวะไม่ออกเฉียบพลันอาจมีอาการร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตได้ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดปัสสาวะแต่ปัสสาวะไม่ออก และรู้สึกปวดท้อง ท้องอืด ไม่สบายท้องบริเวณท้องส่วนล่าง เนื่องจากไม่สามารถระบายปัสสาวะออกจากกระเพาะปัสสาวะได้

    2. ปัสสาวะไม่ออกเรื้อรัง (Chronic Urinary Retention)

    อาการหลักส่วนใหญ่จะคล้ายคลึงกับภาวะปัสสาวะไม่ออกเฉียบพลัน แต่จะมีอาการรุนแรงน้อยกว่า และอาการจะเกิดติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือที่เรียกว่าเรื้อรัง โดยอาการหลักของภาวะปัสสาวะไม่ออกเรื้อรัง มีดังนี้

    • ปวดปัสสาวะบ่อย คือวันละ 8 ครั้ง หรือมากกว่านั้น
    • รู้สึกเจ็บแสบขณะปัสสาวะ
    • เพิ่งถ่ายปัสสาวะเสร็จ แต่กลับรู้สึกปวดปัสสาวะอีกรอบ
    • แน่นท้อง หรือปวดบริเวณท้องน้อย
    • ปัสสาวะติดขัด

    วิธีการรักษาอาการ ฉี่ไม่ออก ในผู้สูงอายุ

    วิธีการรักษาอาการฉี่ไม่ออกในผู้สูงอายุ สามารถรักษาได้หลายวิธี ที่นิยมใช้ ได้แก่

    ระบายน้ำปัสสาวะ

    การรักษาอาการฉี่ไม่ออกด้วยการระบายน้ำปัสสาวะ ทำได้โดยการใส่สายสวนเข้าไปยังกระเพาะปัสสาวะเพื่อระบายปัสสาวะออก ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง ไม่สามารถใช้วิธีการสวนเข้าเพื่อระบายปัสสาวะออกได้ แพทย์อาจต้องระบายทางช่องท้องส่วนล่างโดยใช้ยาชาร่วมด้วย

    ผ่าตัดขยายท่อปัสสาวะ

    แพทย์จะผ่าตัดขยายท่อปัสสาวะที่ตีบตัน เพื่อให้ปัสสาวะไหลผ่านได้มากขึ้น อีกวิธีคือการใส่ท่อที่มีบอลลูนเข้าไปในท่อปัสสาวะ

    การใช้ยารักษาอาการ ฉี่ไม่ออก

    มียาหลายชนิดที่แพทย์อาจสั่งเพื่อรักษา อาการฉี่ไม่ออก เช่น

    • ยาปฏิชีวนะหรือยาอื่นๆ สำหรับรักษาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากอักเสบหรือโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
    • ใช้ยาคลายกล้ามเนื้อที่ปัสสาวะหูรูดและต่อมลูกหมาก
    • ยาที่ช่วยบรรเทาให้อาการต่อมลูกหมากหดตัวลง

    เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับบทความที่นำมาฝากกันในวันนี้ หากพบว่าคุณตาคุณยายหรือผู้ใหญ่ในครอบครัวของคุณมีอาการฉี่ไม่ออก อย่ามัวนิ่งนอนใจนะคะ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโรคเพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 29/11/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา