backup og meta

5 ข้อต้องรู้ ดูแลความจำของผู้สูงอายุ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 24/02/2022

    5 ข้อต้องรู้ ดูแลความจำของผู้สูงอายุ

    เคยสังเกตหรือไม่? ว่าคนสูงวัยในบ้านเริ่มมีอาการหลง ๆ ลืม ๆ เกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น ลืมกุญแจบ้าน จำชื่อเพื่อนไม่ได้ ลืมว่าจะเดินไปหยิบอะไร หรือแม้แต่เหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านมาก็สามารถลืมได้ง่ายขึ้น อาการที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปตามวัยที่เพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพของความจำก็เริ่มลดลง และยิ่งสังเกตได้ชัดเจนเมื่อเข้าสู่วัย 60 ปี เพราะสมองบางส่วนเริ่มหดตัว การจดจำจะลดลงตามไปด้วย หากไม่เพิ่มการดูแลร่างกายและใส่ใจรายละเอียดการช่วยฟื้นฟูให้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน จะยิ่งมีความเสี่ยงเกิดโรคสมองเสื่อมได้มากขึ้น เราในฐานะลูกหลานจึงควรหมั่นสังเกตสิ่งที่เปลี่ยนไป เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคสมองเสื่อมที่อาจเกิดขึ้นได้ 

    ดังนั้น 5 วิธีดูแลความจำของผู้สูงอายุ ที่เราควรรู้ เพื่อรับมือดูแลการรับรู้และความจำของคุณพ่อคุณแม่สูงวัยได้อย่างเหมาะสม คือ

    1. พฤติกรรมอะไรบ้าง ที่เป็นสัญญาณว่าเสี่ยงเข้าสู่ภาวะสมองเสื่อม

    • มีปัญหาด้านการสื่อสาร การใช้คำ การเรียบเรียงประโยคที่ผิดไปจากเดิม
    • จดจำข้อมูลไม่ค่อยได้ ลืมเหตุการณ์ต่าง ๆ ง่ายขึ้น แม้จะเป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นก็ตาม
    • เรื่องที่เคยทำได้ก็จะกลายเป็นเรื่องยากขึ้น เช่น การคำนวณตัวเลข หรือ การทำอาหารที่กะสัดส่วนไม่ค่อยถูก
    • มีปัญหาด้านการตัดสินใจ หรือการแก้ปัญหาต่าง ๆ
    • บุคลิกภาพเปลี่ยนไป อารมณ์ไม่เหมือนเดิม ฉุนเฉียวง่าย บางครั้งอาจเกิดภาพหลอน

    2. สาเหตุของการเกิดโรค

    สาเหตุหลัก มาจากอายุที่มากขึ้น เซลล์สมองจะเริ่มหดตัวลง ความจริงแล้วสมองของคนเราเริ่มหดตัวตั้งแต่อายุเข้าสู่วัย 30 ปี แต่จะเป็นการเสื่อมลงอย่างช้า ๆ ดังนั้น ในวัยสูงอายุของคุณพ่อคุณแม่ จึงเป็นช่วงเวลาที่พบความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจน เพราะเมื่อเข้าสู่วัย 60 ปี สมองบางส่วนจะเริ่มหดตัว ทำให้การรับรู้และจดจำช้าลงนอกจากนั้น ปัญหาของหลอดเลือดสมองที่เลือดไปเลี้ยงสมองได้ไม่ดีพอ จะทำให้เนื้อสมองค่อย ๆ ตายไป ส่งผลต่อการทำงานของสมอง รวมทั้งการที่สมองได้รับความกระทบกระเทือน หรือเกิดเนื้องอกในสมองก็ส่งผลด้วยเช่นกัน

    สาเหตุรอง เป็นผลจากพฤติกรรม และการดำเนินชีวิตที่ผ่านมา เช่น การรับประทานอาหาร ซึ่งอาจจะขาดสารอาหารบางชนิดที่ช่วยบำรุงสมอง ความเครียดจากการทำงาน การสูบบุหรี่ รวมทั้งโรคประจำตัวต่าง ๆ ที่เป็นตัวเร่งการเสื่อมของสมองได้

    3. วิธีดูแลสมองของผู้สูงอายุเบื้องต้น

    ก่อนที่ภาวะสมองเสื่อมจะกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ ความจำ อารมณ์ และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป การหาทางป้องกันหรือช่วยชะลอย่อมเป็นทางออกที่ดี ที่เราสามารถช่วยดูแลได้ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่หรือญาติผู้ใหญ่ในวัยสูงอายุได้ใช้ช่วงเวลาหลังเกษียณอย่างมีความสุขและไม่มีอุปสรรคในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งเราสามารถช่วยดูแลได้ดังนี้

    • การรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ลดอาหารรสจัด ไขมันสูง
    • ออกกำลังกายเบา ๆ เป็นประจำ เช่น เดิน หรือยืดเหยียดร่างกายส่วนต่าง ๆ สม่ำเสมอ
    • เลี่ยงปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง เช่น สูบบุหรี่ คุมภาวะของโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต หรือโรคประจำตัวอย่างเคร่งครัด
    • ชวนคุณพ่อคุณแม่ฝึกทบทวนความจำประจำวัน ด้วยการนำเรื่องที่ท่านสนใจมาปรับใช้ เช่น การร้องเพลงโดยไม่ดูเนื้อร้อง การสวดมนต์โดยไม่ต้องอ่านจากหนังสือ หรือการเขียนไดอารีเพื่อทบทวนความจำในแต่ละวัน
    • เพิ่มกิจกรรมลับสมองของครอบครัว เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ผ่านกิจกรรมที่ชอบหรือกิจกรรมใหม่ ๆ ได้ลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ

    4. เสริมการบำรุงสมองด้วยโภชนาการ ช่วยชะลอความเสื่อมของสมอง

    นอกจากการดูแลด้านโภชนาการด้วยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายรวมทั้งสมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว เราสามารถเพิ่มการดูแลด้านโภชนาการเพิ่มเติมให้ตรงจุดเพื่อช่วยชะลอการเสื่อมของสมองที่จะเกิดขึ้นได้ โดยสารอาหารสมองที่จำเป็น มีดังนี้

    • โปรตีน โดยเฉพาะโปรตีนจากสัตว์นอกจากจะมีธาตุเหล็กสูง อีกทั้งยังมีกรดอะมิโนที่สมองนำมาสร้างสารสื่อประสาทได้ การเสริมอาหารสมองด้วยโปรตีนขนาดเล็กที่ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้ทันที อย่างโปรเบปทิเจน (PROBEPTIGEN®) หรือ ไฮโดรไลซ์เปปไทด์ที่สกัดมาจากไก่ จะช่วยลดความเสื่อม ต้านการอักเสบ สร้างสมดุลของสารสื่อประสาทและต่อต้านอนุมูลอิสระจากความเครียดที่มาทำร้ายสมองได้ เมื่อผู้สูงอายุได้รับโปรเบปทิเจน อย่างต่อเนื่องในปริมาณที่เหมาะสม สมองจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยให้การรับรู้และจดจำดีขึ้น
    • แคลเซียม ไม่ใช่เพียงแค่บำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง แต่ยังช่วยให้การแข็งตัวของเลือดเป็นไปตามปกติ ช่วยในการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ โดยจะไปกระตุ้นการหลั่งสารสื่อประสาท ทำให้การส่งสัญญาณกระแสประสาทได้เร็วและสมบูรณ์ขึ้น รวมถึงเป็นตัวนำสารอาหารที่สำคัญผ่านเข้าออกเซลล์ เป็นต้น
    • วิตามินอี สารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยชะลอการเสื่อมของสมองในผู้สูงอายุ ช่วยป้องกันไม่ให้สมองถูกทำลายจากอนุมูลอิสระที่จะนำไปสู่การเสื่อมของเซลล์สมองและเซลล์ของระบบประสาทได้
    • วิตามินบี มีส่วนสำคัญต่อระบบสมองและระบบประสาทโดยตรง วิตามินบี 6 บี 12 และกรดโฟลิค จะทำงานประสานกัน เพื่อช่วยให้สมองทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

    5. แนวทางปฏิบัติสำหรับคนในบ้าน เพื่อการดูแลผู้สูงอายุให้ห่างไกลสมองเสื่อม

    เพราะอายุที่เพิ่มขึ้นของทุกคนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การรู้วิธีรับมือและดูแลผู้สูงอายุของสมาชิกในครอบครัวเป็นสิ่งที่เราเตรียมตัวได้ และจะส่งผลดีต่อสุขภาพกายและใจของทุกคนในระยะยาวเช่นกัน โดยต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจของลูกหลานหรือผู้ดูแลร่วมกัน ดังนี้

    • คนใกล้ชิดกับผู้สูงอายุ ต้องมีความเข้าใจถึงภาวะของโรคนี้ ควรยอมรับการเปลี่ยนแปลง เข้าใจภาวะทางอารมณ์ พฤติกรรม ที่จะเปลี่ยนไปของผู้สูงอายุ
    • ปรับสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้เข้ากับผู้สูงอายุมากขึ้น เพื่อความสะดวก ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นราวจับ หรือจัดวางสิ่งของที่ใช้เป็นประจำให้อยู่ที่เดิมตลอด เพื่อให้เกิดความเคยชินและป้องกันความสับสน
    • หากิจกรรมทำร่วมกัน เพื่อไม่ให้สมองเสื่อมเร็ว และยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ภายในครอบครัวได้เป็นอย่างดี เช่น การทำอาหารเมนูใหม่ ๆ ร่วมกัน การออกกำลังกายด้วยกัน เพื่อสร้างกำลังใจให้ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีลูกหลานมาร่วมด้วยก็จะช่วยคลายเหงาให้คุณพ่อคุณแม่สูงอายุด้วย

    คนในครอบครัวทุกคน สามารถมีส่วนช่วยดูแลความจำของผู้สูงอายุ รวมทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจให้กับผู้สูงอายุหรือคุณพ่อคุณแม่ได้เป็นอย่างดี ด้วยการมอบความรักความเอาใจใส่ และทำความเข้าใจเพื่อให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างถูกวิธี ก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีความสุข มีกำลังใจ และช่วยชะลอความเสื่อมของวัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งชะลอภาวะสมองเสื่อม ให้ท่านสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุขและห่างไกลจากโรคสมองเสื่อมได้อีกด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 24/02/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา