ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ เกิดจาก การติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อรา ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ เช่น ไข้หวัด ไซนัสอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยทั่วไป ต่อมน้ำเหลืองอักเสบจะหายไปเองเมื่อการติดเชื้อหรืออาการป่วยดีขึ้น แต่หากไม่หาย ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาให้ตรงจุด
[embed-health-tool-bmi]
ต่อมน้ำเหลือง คืออะไร
ต่อมน้ำเหลือง เป็นต่อมขนาดเล็ก มีจำนวนประมาณ 600 ต่อม กระจายอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นคอ รักแร้ หน้าท้อง หน้าอก หรือขาหนีบ โดยจัดเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีหน้าที่ กรองและกำจัดเชื้อโรค
ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ เกิดจาก อะไร
ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ (Lymphadenitis) เป็นการบวมและอักเสบของต่อมน้ำเหลือง ซึ่งทำให้ต่อมน้ำเหลืองมีอาการเจ็บเมื่อถูกสัมผัส
สาเหตุของต่อมน้ำเหลืองอักเสบ มาจากการติดเชื้อ หรือเป็นผลของอาการเจ็บป่วยจากโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อรา เช่น
- โรคคอหอยอักเสบ
- โรคหวัด
- โรคหัด
- โรคเอดส์ รวมถึงการติดเชื้อเอชไอวี
- โรคไซนัสอักเสบ
- วัณโรค
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน ซิฟิลิส
- โรคไข้ขี้แมว
- โรคแมวข่วน
- โรคต่อมทอนซิลอักเสบ
โดยทั่วไป ต่อมน้ำเหลืองอักเสบที่พบมักเป็นแบบเฉพาะที่ (Localized Lymphadenitis) หรือต่อมน้ำเหลืองอักเสบที่เกิดขึ้นเพียง 1-3 ต่อม ในตำแหน่งใกล้กับส่วนของร่างกายที่ติดเชื้อ
อย่างไรก็ตาม ต่อมน้ำเหลืองอาจอักเสบพร้อมกันได้ในหลายตำแหน่ง หรือเรียกว่า ต่อมน้ำเหลืองอักเสบทั่วไป (Generalized Lymphadenitis) ซึ่งพบได้ไม่บ่อย โดยอาจเป็นผลจากการแพร่กระจายของเชื้อโรคทางกระแสเลือด หรือโรคที่ส่งผลกระทบต่อทุกส่วนของร่างกาย
ต่อมน้ำเหลืองอักเสบต่างกับต่อมน้ำเหลืองโตอย่างไร
ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ หมายถึง ต่อมน้ำเหลืองบวมหรืออักเสบเนื่องจากการติดเชื้อ ส่วนต่อมน้ำเหลืองโต (Lymphadenopathy) หมายถึง ต่อมน้ำเหลืองบวมจากการติดเชื้อ รวมทั้งจากสาเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อ เช่น การรับวัคซีนโควิด-19 การแพ้ยา โรคมะเร็งบางชนิด
ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ หายเองได้หรือไม่
โดยทั่วไป ต่อมน้ำเหลืองอักเสบมักยุบลงได้เมื่อหายป่วยจากโรคหรือการติดเชื้อ
อย่างไรก็ตาม หากต่อมน้ำเหลืองไม่ยุบลงภายใน 8-12 สัปดาห์ หรือมีอาการผิดปกติ ควรไปพบคุณหมอ โดยคุณหมอจะรักษาตามสาเหตุร่วมกับวิธีต่อไปนี้
- ให้รับประทานยาแก้อักเสบ เพื่อช่วยลดไข้ซึ่งเป็นอาการเนื่องจากการติดเชื้อ ร่วมกับการประคบอุ่น
- ให้รับประทานยาฆ่าเชื้อ ในรูปแบบยาฉีดหรือยาสำหรับรับประทาน เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่ทำให้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ โดยยาดังกล่าวอาจเป็น อะม็อกซีซิล (Axoxil) ด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) เพนิซิลลิน จี (Penicillin G) หรือ แวนโคไมซิน (Vancomycin)
- ดูดหรือผ่าหนองออก บางครั้งอาจพบเม็ดฝีบริเวณที่ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ คุณหมออาจดูดหรือผ่าหนองออกให้ เพื่อช่วยให้เม็ดฝียุบลง
การป้องกัน ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ
ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ป้องกันได้ด้วยการดูแลตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ หรือลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ด้วยวิธีต่อไปนี้
- ล้างมือเป็นประจำ ด้วยเจลหรือแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ดวงตา และจมูก
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ป่วยหรือผู้ที่ติดเชื้อต่าง ๆ
- นอนหลับให้เพียงพอ ประมาณวันละ 7-9 ชั่วโมง
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์