กรดไหลย้อน คือภาวะที่กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร มักเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น การรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา การรับประทานอาหารแล้วนอนทันที ไม่รอให้อาหารย่อยหมดก่อน ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น แสบร้อนหน้าอก เรอเปรี้ยว ปวดท้อง โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารหรือยกของหนัก การรักษากรดไหลย้อน อาจทำได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการรับประทานให้ดีต่อสุขภาพ ทั้งนี้ ควรศึกษาว่า กรดไหลย้อน ห้ามกิน อาหารประเภทใดบ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงอาการไม่พึงประสงค์ อย่างไรก็ตาม แต่ละคนมีการตอบสนองต่ออาหารไม่เหมือนกัน จึงควรสังเกตด้วยว่าอาหารชนิดใดที่กระตุ้นให้เกิดกรดไหลย้อน และหลีกเลี่ยงการรับประทานชนิดนั้น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดกรดไหลย้อน
[embed-health-tool-bmi]
อาการของกรดไหลย้อน
กรดไหลย้อน เป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปบริเวณหลอดอาหารหรือบริเวณกล่องเสียง เกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารปิดตัวไม่สนิท ทำให้กรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาตามช่องทางด้านบน ส่งผลให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยว กลืนน้ำลายลำบาก เมื่อเป็นกรดไหลย้อนอาจทำให้เกิดภาวะที่รุนแรงมากขึ้นจากน้ำย่อยกัดกร่อน เช่น ไอเรื้อรัง ไซนัสอักเสบ หลอดอาหารอักเสบ
คนเป็น กรดไหลย้อน ห้ามกิน อาหารแบบไหน
อาหารที่คนเป็น กรดไหลย้อน ห้ามกิน หรือควรหลีกเลี่ยง มีดังนี้
อาหารไขมันสูง
อาหารไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน เบคอน หมูกรอบ อาหารทอดต่าง ๆ และอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น ของหวานที่ทำจากกะทิ นม เนย ไอศกรีม ล้วนมีส่วนทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวเล็กลงและใช้เวลาย่อยอาหารมากขึ้น อาหารจึงค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานกว่าปกติ นอกจากนี้ ยังทำให้กระเพาะอาหารผลิตน้ำย่อยมากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงให้กรดไหลย้อนขึ้นมายังหลอดอาหารได้ จากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Gut เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2548 ศึกษาเรื่อง การรับประทานอาหารและความเสี่ยงของโรคกรดไหลย้อน โดยใช้แบบสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 371 คน พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีอาการกรดไหลย้อนรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวในปริมาณสูงกว่าคนที่ไม่มีอาการกรดไหลย้อน
อาหารรสเผ็ดร้อน
อาหารรสเผ็ด เช่น อาหารที่ใส่พริกในปริมาณมาก แกงใต้ ต้มเล้ง ยำ ส้มตำรสเผ็ดร้อน ล้วนมีส่วนกระตุ้นให้อาการกรดไหลย้อนได้ จากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Neurogastroenterology and Motility เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560 ศึกษาเรื่อง อาหารกระตุ้นอาการโรคกรดไหลย้อนในประเทศเกาหลี พบว่า การรับประทานอาหารรสเผ็ด เช่น สตูว์ร้อน บะหมี่น้ำ ต๊อกบกกี มีส่วนทำให้เยื่อบุหลอดอาหารส่วนล่างที่อักเสบเนื่องจากกรดไหลย้อนระคายเคืองมากยิ่งขึ้น และอาจทำให้มีอาการเสียดท้องรุนแรงได้ นอกจากนี้ พริกแดงที่พบในอาหารรสเผ็ดยังมีส่วนประกอบของสารแคปไซซิน (Capsaicin) ที่ทำให้กระเพาะอาหารต้องใช้เวลาบีบตัวเพื่อดันอาหารลงสู่ลำไส้เล็กนานกว่าปกติ และอาจทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจกระตุ้นให้เกิดกรดไหลย้อนได้ เนื่องจากแอลกอฮอล์จะสัมผัสกับกระเพาะอาหารและหลอดอาหารโดยตรง ทั้งยังมีฤทธิ์กระตุ้นให้หูรูดหลอดอาหารเปิดออก เพิ่มความเสี่ยงที่กรดในกระเพาะอาหารจะไหลย้อนขึ้นไปยังหลอดอาหารได้มากขึ้น จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ ในวารสาร Journal of Zhejiang University: Science B เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2553 ศึกษาเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์ชกับโรคกรดไหลย้อน พบว่า แอลกอฮอล์ส่งผลต่อหลอดอาหารและกระเพาะอาหารต่างจากอวัยวะอื่น ๆ เช่น ตับอ่อน ตับ เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะสัมผัสกับเนื้อเยื่อของหลอดอาหารและกระเพาะอาหารโดยตรง และอาจทำให้เนื้อเยื่อเสียหายรุนแรงได้
อาหารที่มีคาเฟอีน
อาหารที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ ช็อกโกแลต ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารหย่อนตัว การโดยเฉพาะการดื่มกาแฟในขณะท้องว่างหรือหลังรับประทานอาหารอาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างลดลงอย่างมาก จากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Internal Medicine เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 ศึกษาเรื่อง ปัจจัยด้านพฤติกรรมการใช้ชีวิตและผลของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนที่มีอาการอาหารไม่ย่อย โดยการให้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,781 คน งดการบริโภคกาแฟเป็นเวลา 1 เดือน พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีอาการกรดไหลย้อนลดลงถึง 69.1% อย่างไรก็ตาม อาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อนอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน ผู้ที่เป็นกรดไหลย้อนควรสังเกตว่าอาหารชนิดไหนที่รับประทานแล้วทำให้อาการกำเริบ หรืออาหารชนิดไหนที่รับประทานแล้วปลอดภัย
อาหารที่เหมาะกับคนเป็นกรดไหลย้อน
อาหารที่อาจช่วยบรรเทาหรือป้องกันกรดไหลย้อนได้ อาจมีดังนี้
- อาหารที่มีใยอาหารหรือไฟเบอร์สูง เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง รวมไปถึงผักและผลไม้ที่มีความเป็นกรดต่ำ เช่น กล้วย แตงโม แอปเปิ้ล แคนตาลูป
- อาหารที่มีไขมันต่ำ เช่น อกไก่ ไข่ขาว นมถั่วเหลือง ปลาเนื้อขาว
- อาหารที่มีไขมันดี เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมกเคอเรล ปลาซาร์ดีน อัลมอนด์ น้ำมันมะกอก อะโวคาโด
วิธีบรรเทาอาการกรดไหลย้อน
นอกจากการรับประทานอาหารที่อาจดีต่อผู้ที่เป็นกรดไหลย้อนแล้ว วิธีเหล่านี้ก็อาจช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อนได้เช่นกัน
ปรับรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน
- หลังรับประทานอาหาร ควรรออย่างน้อย 3 ชั่วโมงจึงค่อยเข้านอน โดยเฉพาะหากเป็นการนอนหลับในเวลากลางคืน เพื่อให้กระเพาะอาหารมีเวลาย่อยอาหารจนหมด ป้องกันไมให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปบริเวณหลอดอาหารและกล่องเสียง
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีใยอาหารสูง เช่น ผัก ผลไม้ ลดการรับประทานอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อน เช่น อาหารเผ็ด อาหารมัน อาหารที่เป็นกรด
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เนื่องจากผู้มีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนมักมีความดันในช่องท้องมากกว่าปกติ ทำให้หูรูดของกระเพาะอาหารหย่อนและหลวมจนทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะอาจช่วยให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ตามปกติ อีกทั้งยังช่วยคลายเครียด และทำให้ร่างกายหลั่งกรดน้อยลงด้วย การออกกำลังกายที่เหมาะกับคนเป็นกรดไหลย้อนควรเป็นกิจกรรมเบา ๆ เช่น เดิน จ๊อกกิ้ง เล่นโยคะ
ใช้ยาบรรเทาอาการ
- ใช้ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร เช่น ยาไซเมทิดีน (Cimetidine) ยาแฟโมทิดีน (Famotidine) ยาไนซาทิดีน (Nizatidine)
- ใช้ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร เช่น ยาโอเมพราโซล (Omeprazole) ยาอีโซเมปราโซล (Esomeprazole)