backup og meta

Folic acid คือ อะไร ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

Folic acid คือ อะไร ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

Folic acid หรือกรดโฟลิก คือ โฟเลตหรือวิตามินบี 9 (Vitamin B9) ในรูปแบบวิตามินสังเคราะห์ ซึ่งสามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายกว่าโฟเลตตามธรรมชาติ โดยทั่วไป ผู้หญิงตั้งครรภ์จำเป็นต้องได้รับ Folic acid อย่างเพียงพอ เพราะเป็นวิตามินที่ช่วยในกระบวนการสร้างตัวอ่อน บำรุงสารพันธุกรรม ควบคุมการสร้างและสลายกรดอะมิโน ทั้งยังอาจช่วยป้องกันความพิการแต่กำเนิดของทารก ป้องกันภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ และอาจลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในคนทั่วไปได้ด้วย

[embed-health-tool-bmi]

Folic acid คือ อะไร

Folic acid หรือ กรดโฟลิก คือ วิตามินบี 9 (โฟเลต) ในรูปแบบสังเคราะห์ มีชื่อทางเคมีว่า กรดพเทโรอิลโมโนกลูทามิก (Pteroylmonoglutamic acid) เป็นสารอาหารที่ช่วยเสริมสร้างกระบวนการสร้างเซลล์ใหม่ เช่น ผิวหนัง ผม และเล็บ และช่วยผลิตและซ่อมแซมดีเอ็นเอและสารพันธุกรรมอื่น ๆ ถือเป็นวิตามินที่มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้หญิงที่วางแผนตั้งครรภ์และกำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากกรดโฟลิกจะช่วยในกระบวนการแบ่งตัวของเซลล์ตัวอ่อน ลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะท่อประสาทบกพร่องที่อาจกระทบต่อพัฒนาการของสมองและกระดูกสันหลังของทารก และอาจป้องกันภาวะแท้งบุตรได้

การรับประทานกรดโฟลิกให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จึงอาจช่วยให้ทารกในครรภ์มีสุขภาพที่แข็งแรงและมีพัฒนาการที่สมบูรณ์

คนโดยทั่วไปจะได้รับโฟเลตตามธรรมชาติจากการรับประทานในแต่ละวัน โฟเลตพบได้มากในผักใบแทบทุกชนิด ผลไม้ ธัญพืชเครื่องในสัตว์ เป็นต้น แต่สำหรับผู้หญิงที่ต้องการตั้งครรภ์หรือกำลังตั้งครรภ์ คุณหมอจะแนะนำให้รับประทานโฟเลตในรูปแบบสังเคราะห์อย่าง Folic acid หรือกรดโฟลิก นอกจากจะส่งผลดีต่อการตั้งครรภ์แล้ว Folic acid ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพหัวใจ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ด้วย

อาหารที่อุดมไปด้วย Folate และ Folic acid

อาหารที่อุดมไปด้วย Folate หรือโฟเลตตามธรรมชาติ อาจมีดังนี้

  • หน่อไม้ฝรั่ง
  • กะหล่ำดาว
  • อะโวคาโด
  • ผักใบเขียวเข้มอย่างปวยเล้ง ผักกาดหอม ผักคะน้า ตำลึง กวางตุ้ง บรอกโคลี หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น
  • พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วลันเตา ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเลนทิล
  • ผลไม้ตระกูลซิตรัส เช่น ส้ม ส้มโอ มะนาว เกรปฟรุต
  • เครื่องในสัตว์ เช่น ตับหมู ตับไก่
  • นมสด
  • ไข่ เช่น ไข่ไก่ ไข่เป็ด

อาหารที่อุดมไปด้วย Folic acid หรือกรดโฟลิก อาจมีดังนี้

  • อาหารที่เติมกรดโฟลิก เช่น ซีเรียล ข้าว น้ำส้ม แป้ง ขนมปัง พาสต้า ข้าวโพดคั่ว
  • กรดโฟลิกในรูปแบบอาหารเสริม เช่น กรดโฟลิกชนิดเม็ด วิตามินรวมที่มีกรดโฟลิก วิตามินบีรวม กรดเลโวเมโฟลิก (Levomefolic acid หรือ L-5-methylfolate)

ปริมาณที่แนะนำในการบริโภค

ปริมาณการบริโภคกรดโฟลิกในรูปแบบอาหารเสริมเพื่อเสริมสร้างการทำงานของร่างกาย มีดังนี้

  • ผู้ใหญ่ ควรรับประทานกรดโฟลิกอย่างน้อย 0.4 มิลลิกรัม/วัน แต่ไม่ควรเกิน 1 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์ ควรรับประทานกรดโฟลิกอย่างน้อย 0.4 มิลลิกรัม/วัน แต่ไม่ควรเกิน 1 มิลลิกรัม/วัน ตั้งแต่ 3 เดือนก่อนการตั้งครรภ์ ไปจนถึง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์

ทั้งนี้ ผู้ที่มีภาวะสุขภาพดังต่อไปนี้ อาจต้องการกรดโฟลิกในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรเกี่ยวกับปริมาณที่ควรบริโภคต่อวัน

  • เป็นโรคไตและกำลังอยู่ในช่วงฟอกไต
  • เป็นโรคตับ
  • เป็นโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle Cell Disease หรือ SCD)
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 1 ชนิด/วัน ซึ่งอาจทำให้ร่างกายดูดซึมโฟเลตจากอาหารได้ไม่ดี
  • ใช้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น โรคลมชัก โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคสะเก็ดเงิน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคหอบหืด โรคลำไส้อักเสบ

ประโยชน์ต่อสุขภาพของ Folic acid

มีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของ Folic acid หรือกรดโฟลิก ดังนี้

อาจช่วยป้องกันทารกพิการแต่กำเนิด

การรับประทานกรดโฟลิกเสริมอาจช่วยป้องกันภาวะทารกพิการแต่กำเนิด และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะท่อประสาทผิดปกติ ที่พบได้บ่อย เช่น ภาวะบกพร่องของกระดูกไขสันหลัง (Spina bifida) ภาวะที่ไม่มีสมองและกะโหลกศีรษะ  (Anencephaly) ทั้งยังช่วยทำให้ระบบประสาท กระดูกไขสันหลัง และสมองของทารกเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Environmental Research and Public Health เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2556 ศึกษาเกี่ยวกับภาวะหลอดประสาทไม่ปิด (Neural tube defect หรือ NTD) และกรดโฟลิก พบว่า การเสริมกรดโฟลิกช่วยลดการเกิดภาวะหลอดประสาทไม่ปิด (Neural tube defects) ในระยะแรกของการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการทดลองในสัตว์ จึงควรศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของกรดโฟลิกในการช่วยป้องกันความพิการของทารกแรกเกิด

อาจช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์

การรับประทานกรดโฟลิกให้เพียงพอขณะตั้งครรภ์ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ เช่น ภาวะโลหิตจางระหว่างการตั้งครรภ์ ภาวะครรภ์เป็นพิษ การคลอดก่อนกำหนด การแท้งบุตร

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Archives of Gynecology and Obstetrics เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 ศึกษาเกี่ยวกับการเสริมกรดโฟลิกในผู้หญิงตั้งครรภ์และความเสี่ยงในการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษและภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ด้วยการรวบรวบและศึกษาข้อมูลจากงานวิจัยทั้งหมด 14 ฉบับ พบว่า การเสริมกรดโฟลิกในผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ แต่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้อย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ ความเสี่ยงในการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษที่ลดลงอาจเกิดจากการรับประทานวิตามินเสริมที่เป็นวิตามินรวม (Multivitamins) ที่มีกรดโฟลิก ไม่ใช่การรับประทานแค่กรดโฟลิกเพียงอย่างเดียว

อาจลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้

กรดโฟลิกมีหน้าที่ควบคุมการสร้างและสลายกรดอะมิโนโฮโมซีสทีน (Homocysteine) ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อหลอดเลือดโดยตรง โดยเฉพาะหลอดเลือดขนาดเล็กอย่างหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง หากมีกรดอะมิโนโฮโมซีสทีนสะสมในกระแสเลือดมากเกินไป อาจทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมองตีบ เป็นต้น การรับประทานกรดโฟลิกอย่างเพียงพอ จึงอาจช่วยเผาผลาญกรดอะมิโนชนิดนี้ให้อยู่ในระดับปกติ และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Medicine เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 ศึกษาเกี่ยวกับผลของกรดโฟลิกในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด จากการทบทวนและวิเคราะห์งานวิจัยแบบสุ่ม จำนวน 12 ชิ้น พบว่า กรดอะมิโนโฮโมซีสอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด การรับประทานกรดโฟลิกปริมาณ 0.5-5.0 มิลลิกรัมอาจช่วยลดระดับกรดอะมิโนโฮโมซีสทีนในพลาสมาลงได้ประมาณ 25% ซึ่งส่งผลให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมองลดลง 11% และ 19% ตามลำดับ

ข้อควรระวังในการบริโภค Folic acid

ข้อควรระวังในการบริโภค Folic acid อาจมีดังนี้

  • การรับประทานกรดโฟลิกมากเกินไปขณะตั้งครรภ์อาจทำให้มีกรดโฟลิกสะสมในกระแสเลือดจนส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคออทิสติกหลังคลอด
  • การรับประทานกรดโฟลิกเกินความต้องการในแต่ละวันอาจทำให้มีกรดโฟลิกส่วนเกินที่ไปลดการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ และทำให้ระบบภูมิคุ้มกันด้อยประสิทธิภาพได้
  • กรดโฟลิกอาจลดประสิทธิภาพของยาหรือส่งผลให้ยาออกฤทธิ์มากเกินไป เช่น ยารักษาโรคลมชักหรือลมบ้าหมู โรคมะเร็ง โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune disease) จึงควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนใช้ยาร่วมกับกรดโฟลิก

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Folic Acid – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-8334/folic-acid-oral/details. Accessed August 31, 2022

Folate (folic acid). https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements-folate/art-20364625. Accessed August 31, 2022

Folate. https://ods.od.nih.gov/factsheets/Folate-HealthProfessional/. Accessed August 31, 2022

Neural Tube Defects, Folic Acid and Methylation. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3799525/. Accessed August 31, 2022

Folic Acid Helps Prevent Serious Birth Defects of the Brain and Spine. https://www.cdc.gov/ncbddd/folicacid/features/folic-acid-helps-prevent-some-birth-defects.html. Accessed August 31, 2022

Supplementation of folic acid in pregnancy and the risk of preeclampsia and gestational hypertension: a meta-analysis. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6153594/. Accessed August 31, 2022

The effect of folic acid in patients with cardiovascular disease. https://journals.lww.com/md-journal/fulltext/2019/09130/the_effect_of_folic_acid_in_patients_with.25.aspx. Accessed August 31, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

15/09/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารบำรุงครรภ์ ที่คนท้องควรรับประทานมีอะไรบ้าง

ภาวะโลหิตจางจากการขาดโฟเลต เกิดได้อย่างไรและป้องกันได้อย่างไรบ้าง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 15/09/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา