กะทิ เป็นส่วนประกอบหลักของอาหารไทย และในอีกหลายประเทศแถบเอเชีย รวมถึงบางประเทศในแถบอเมริกาใต้ด้วย โดยได้มาจากการน้ำเนื้อมะพร้าวมาคั้นกับน้ำ ส่วนที่เข้มข้นที่สุดจะเรียกว่า หัวกะทิ ส่วนที่คั้นหลังจากนั้นน้ำกะทิจะมีความเข้มข้นน้อยจะเรียกว่า หางกะทิ แม้กะทิจะมีแคลอรี่สูง แต่หากรับประทนในปริมาณที่พอเหมาะ ก็อาจเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพในเรื่องของผลดีต่อการลดน้ำหนัก การเผาผลาญ ส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
[embed-health-tool-bmi]
คุณค่าโภชนาการของกะทิ
กะทิ ได้มาจากการนำเนื้อมะพร้าวมาคั้นกับน้ำ ซึ่งอาจมีความเข้มข้นแตกต่างกัน โดยในการคั้นครั้งแรกจะได้น้ำกะทิที่เข้มข้นซึ่งเรียกกันว่า หัวกะทิ และการคั้นกะทิต่อมาหลังจากนั้นก็จะเป็น หางกะทิ ที่มีความเข้มข้นน้อยกว่า และอาจมีปริมาณไขมันน้อยกว่าด้วย
โดยทั่วไปแล้ว กะทิมีแคลอรี่สูง โดย 93 เปอร์เซ็นต์ ของแคลอรี่มาจากไขมันอิ่มตัว รวมถึงไขมันอิ่มตัวชนิดที่เรียกว่า กรดไขมันอิ่มตัวสายกลาง (Medium Chain Triglyceride หรือ MCT) ซึ่งถือเป็นกรดไขมันที่ดีต่อสุขภาพ นอกจากนี้ เนื้อมะพร้าวยังมีสารอาหารหลายชนิด เช่น วิตามินซี วิตามินอี วิตามินบี 1 วิตามินบี 3 วิตามินบี 5 วิตามินบี 6 รวมทั้งแร่ธาตุ เช่น ธาตุเหล็ก ซีลีเนียม โซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส
อย่างไรก็ตาม การคั้นทำให้น้ำกะทิสูญเสียวิตามินและแร่ธาตุบางอย่างไป รวมทั้งน้ำกะทิสำเร็จรูปที่มีขายในซูเปอร์มาร์เก็ต ก็มีคุณค่าทางอาหารบางอย่างลดลงเมื่อเทียบกับน้ำกะทิคั้นสด แต่น้ำกะทิสำเร็จรูปบางยี่ห้อก็อาจมีการเติมวิตามินบางอย่างเข้าไป
เพราะฉะนั้นการรับประทานน้ำกะทิที่คั้นเองแบบสดใหม่ ก็อาจจะได้เปรียบกว่าน้ำกะทิแบบสำเร็จรูปอยู่บ้าง การคั้นน้ำกะทิสำหรับบริโภคเองในครัวเรือน จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
ประโยชน์ของกะทิต่อสุขภาพ
กะทิมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ ดังรายละเอียดต่อไปน้
อาจมีผลดีต่อการควบคุมน้ำหนักและระบบเผาผลาญ
มีหลักฐานบางอย่างที่เชื่อมโยงกรดไขมันอิ่มตัวสายกลางใน น้ำกะทิ กับผลดีต่อการลดน้ำหนัก และการเผาผลาญ โดยกรดไขมันอิ่มตัวสายกลางจะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้ดี ตรงไปสู่ตับ และใช้เป็นพลังงานในตับได้เร็ว ส่งผลให้อัตราการเผาผลาญของร่างกายสูงขึ้น และจากการทดสอบทางคลินิกเป็นระยะเวลานานพบว่า กรดไขมันสายกลางมีผลทำให้ไขมันที่สะสมในร่างกายลดลง
งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบจากการบริโภคนมวัวและกะทิต่อระบบเผาผลายในหนูทดลองเผยแพร่ในวารสาร Journal of Medicinal Food พ.ศ. 2564 ได้ผลงานวิจัยสรุปออกมาว่า สัตว์ทดลองที่ได้รับการรักษาโดยการบริโภคกะทิมีน้ำหนักตัวลดลงและมีภาวะไขมันในช่องท้องดีขึ้น นอกจากนั้น ยังระบุว่า การบริโภคอาหารที่มีโปรตีนสูงควบคู่กับการบริโภคกะทิอาจเป็นการจับคู่ที่เหมาะสมในการช่วยลดไขมันในช่องท้อง ช่วยลดโอกาสที่น้ำหนักจะเพิ่มขึ้น และช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล และไตรกรีเซอไรด์
นอกจากนั้น ยังมีผลงานวิจัยในวารสาร Metabolism ชี้ว่า กรดไขมันอิ่มตัวสายกลางยังช่วยลดความอยากอาหาร ทำให้ลดปริมาณการบริโภคแคลอรี่โดยรวม เมื่อเทียบกับไขมันชนิดอื่น มีผลการศึกษาชิ้นหนึ่งเผยว่า อาสาสมัครที่เป็นผู้ชายและมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน บริโภคกรดไขมันสายกลาง 20 กรัมในอาหารเช้า และรับประทานอาหารกลางวันน้อยลงถึง 272 แคลอรี่
อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงประโยชน์โดยตรงของน้ำกะทิ ต่อการลดน้ำหนักและการเผาผลาญเพื่อยืนยันถึงประสิทธิภาพของน้ำกะทิต่อการลดน้ำหนัก
ผลต่อคอเลสเตอรอลและสุขภาพหัวใจ
เนื่องจาก น้ำกะทิมีไขมันอิ่มตัวสูง ทำให้หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพหัวใจ อย่างไรก็ตาม ไขมันอิ่มตัวชนิดต่าง ๆ ส่งผลต่อร่างกายต่างกัน และพันธุกรรมก็มีบทบาทสำคัญในการเผาผลาญไขมันอิ่มตัว รวมไปถึงขอบเขตของผลกระทบต่อสุขภาพจากไขมันเหล่านี้ด้วย
ถึงแม้จะมีงานวิจัยเล็กน้อยเกี่ยวกับน้ำกะทิโดยตรง แต่มีการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ชี้ว่า กะทิอาจมีประโยชน์ต่อผู้ที่มีระดับคอลเลสเตอรอลปกติหรือสูง โดยในการศึกษาวิจัย นาน 8 สัปดาห์ในผู้ชาย 60 คน พบว่า ซุปจากน้ำกะทิช่วยลดไขมันเลว (LDL) ได้มากกว่าซุปที่ทำจากนมถั่วเหลือง และยังสามารถเพิ่มระดับไขมันดีหรือเอชดีแอลได้ 18% เมื่อเทียบกับถั่วเหลืองที่เพิ่มขึ้นเพียง 3%
ส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
มะพร้าวมีลิปิด (Lipid) ที่ชื่อว่า กรดลอริก (Lauric Acid) ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยส่งเสริมการทำงานของภูมิคุ้มกันได้ นอกจากนั้น กรดลอริกยังมีคุณสมบัติในการต้านจุลชีพและต้านอักเสบ และช่วยกระตุ้นให้เซลล์ในเซลล์มะเร็งเต้านมและมะเร็งเยื่อบุมดลูกตายลงด้วย เนื่องจากกรดลอริกอาจกระตุ้นโปรตีนตัวรับบางชนิดที่ควบคุมการเติบโตของเซลล์ ทำให้สามารถช่วยยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งได้
ป้องกันแผลในกระเพาะอาหาร
กะทิอาจช่วยลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของน้ำกะทิต่อการป้องกันแผลในกระเพาะอาหาร เผยแพร่ในวารสาร Phytotherapy Research พ.ศ. 2551 นักวิจัยได้ทำการทดลองกับหนูทดลองที่มีแผลในกระเพาะอาหารโดยให้รับประทานน้ำกะทิ แล้วตรวจร่างกายหนูทดลอง พบว่า ขนาดของแผลในกระเพาะอาหารลดลง 54 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับผลของยาต้านแผลในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ น้ำกะทิยังอาจส่งผลในการปกป้องเยื่อเมือกในกระเพาะอาหาร โดยอาจช่วยลดอาการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร และอาจช่วยป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย
ข้อควรระวังในการบริโภคกะทิ
แม้กะทิจะมีประโยชน์หลายประการ แต่มีข้อควรระวังต่าง ๆ ดังนี้
- ระวังอาการแพ้มะพร้าว แม้ว่าค่อนข้างหายากมา แต่ผู้ที่มีอาการแพ้อาหารในกลุ่มอาหารที่มีน้ำตาลธรรมชาติสูงที่มักดูดซึมในลำไส้เล็กน้อย และต่อมาจะเกิดหมักหมมโดยเชื้อจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร แล้วเกิดแก๊สขึ้นในลำไส้ใหญ่ (FODMAP) ไม่ควรบริโภคน้ำกะทิมากกว่าครึ่งถ้วย (120 มิลลิลิตร) ต่อครั้ง
- น้ำกะทิแบบกระป๋องอาจมีสารบีสฟินอลเอ (Bisphenol A หรือ BPA) ซึ่งเป็นสารเคมีในสารเคลือบกระป๋อง อาจหลุดรั่วเข้าสู่อาหารได้ ทั้งนี้ สารบีพีเออาจเชื่อมโยงกับปัญหาของระบบสืบพันธุ์และมะเร็งบางชนิด เพราะฉะนั้นหากเลือกใช้น้ำกะทิกระป๋อง ควรเลือกยี่ห้อที่ใช้กระป๋องแบบปราศจากสารพีบีเอ
- น้ำกะทิยังมีแคลอรี่สูงอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว เพราะฉะนั้นจึงควรระมัดระวังในการบริโภค อย่าบริโภคน้ำกะทิหรือเมนูอาหารที่มีส่วนประกอบของกะทิมากจนเกินไป เช่น แกงกะทิ บวดขนม