ยี่หร่า หรือเทียนขาว (Caraway) เป็นพืชสมุนไพรสกุลเดียวกับกะเพรา มักนำไปประกอบอาหาร ใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรค และสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย ยี่หร่าเป็นเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีถิ่นกำเนิดในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ประเทศอินเดีย และประเทศจีน เจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีแสงแดด ผลยี่หร่าหรือเมล็ดยี่หร่ามีลักษณะเป็นเม็ดกลมรี ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ผลอ่อนจะมีสีเขียว และจะเปลี่ยนเป็นสีดำหรือน้ำตาลเมื่อสุกแล้ว นิยมนำไปตากแห้งหรืออบแห้งเพื่อทำเป็นเครื่องเทศ ยี่หร่ามีสารอาหารหลากหลายที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ดีต่อระบบย่อยอาหาร ช่วยแก้อาการท้องเสีย และอาจช่วยในการลดน้ำหนัก
คุณค่าทางโภชนาการของ ยี่หร่า
ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture หรือ USDA) ที่เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2562 ระบุว่า เม็ดยี่หร่า 100 กรัม มีน้ำเป็นส่วนประกอบ 9.87 กรัม ให้ และมีสารอาหารต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- คาร์โบไฮเดรต 9 กรัม
- โปรตีน 8 กรัม
- ไขมัน 6 กรัม
- โพแทสเซียม 1350 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 568 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 258 มิลลิกรัม
- แมกนีเซียม 258 มิลลิกรัม
นอกจากนี้ ในยี่หร่ายังมีวิตามินและแร่ธาตุอีกหลากหลายชนิด เช่น ไฟเบอร์ เหล็ก สังกะสี ทั้งยังมีสารพฤกษเคมี เช่น ยูจีนอล (Eugenol) ฟีนอล (Phenol) ไทมอล (Thymol) ที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย และมีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ลิโมนิน (limonene) คาร์โวเน่ (Carvone) ที่ช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน มีส่วนช่วยต้านการอักเสบ และต้านมะเร็ง
ประโยชน์ต่อสุขภาพของ ยี่หร่า
มีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของยี่หร่า ดังนี้
อาจช่วยลดปัญหาการนอนได้
การดื่มชาเมล็ดยี่หร่าอาจช่วยลดปัญหาการนอนหลับได้ เนื่องจากมีปริมาณแมกนีเซียมสูง ซึ่งอาจส่งผลต่อสารสื่อประสาทในสมองและทำให้รู้สึกผ่อนคลาย จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Biological Rhythm Research เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 ศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการออกกำลังกายแบบแอโรบิก 8 สัปดาห์และการบริโภคยี่หร่าต่อระดับซี-รีแอคทีฟ โปรตีน (C-reactive protein) และคุณภาพการนอนหลับของผู้หญิงที่เป็นโรคอ้วน โดยมีกลุ่มตัวอย่างจำนวน 30 คน พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่รับประทานสารสกัดจากยี่หร่าในปริมาณ 50 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน ควบคู่กับการออกกำลังกายแบบแอโรบิคสามารถลดระดับซี-รีแอคทีฟ โปรตีนได้ดีกว่ากลุ่มตัวอย่างที่รับประทานยาหลอกและกลุ่มที่ออกกำลังกายอย่างเดียว ทั้งยังมีคุณภาพการนอนหลับดีกว่ากลุ่มตัวอย่างที่รับประทานยาหลอกควบคู่กับการออกกำลังกาย และกลุ่มตัวอย่างที่ออกกำลังกายอย่างเดียวด้วย
ซี-รีแอคทีฟ โปรตีนเป็นโปรตีนที่พบได้ในเลือด ตับจะหลั่งโปรตีนชนิดนี้ออกมาเพื่อตอบสนองต่อการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกายหรือเมื่อเนื้อเยื่อในร่างกายถูกทำลาย การวัดระดับซี-รีแอคทีฟ โปรตีนในเลือดสามารถใช้ประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจตีบได้
อาจช่วยลดน้ำหนักได้
เมล็ดยี่หร่าประกอบด้วยสารโพลีฟีนอล (Polyphenols) ชื่อว่า คาร์วาครอล (Carvacrol) และกรดไขมันไม่อิ่มตัว ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค ช่วยปรับสมดุลและเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ในลำไส้เล็กที่มีส่วนช่วยในการยับยั้งการสร้างไขมัน ทั้งยังช่วยสลายไขมันในร่างกาย ซึ่งอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยอาหารและดูดซึมสารอาหารที่มีประโยชน์ และส่งผลดีต่อการลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนักได้ จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ศึกษาเรื่อง ประสิทธิภาพการต้านโรคอ้วนในสตรีที่มีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนของสารสกัดยี่หร่า โดยมีกลุ่มตัวอย่างจำนวน 70 คน เมื่อแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็นกลุ่มที่รับประทานยี่หราปริมาณ 30 มิลลิลิตรก่อนอาหารวันละ 1 มื้อ เป็นเวลา 3 เดือน และกลุ่มที่รับประทานยาหลอก พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่รับประทานยี่หร่ามีน้ำหนักเฉลี่ยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่รับประทานยาหลอกมีน้ำหนักเฉลี่ยเพิ่มขึ้น จึงอาจสรุปได้ว่า การรับประทานยี่หร่ามีส่วนช่วยลดน้ำหนักได้
อาจช่วยกระตุ้นระบบการขับถ่าย
น้ำมันหอมระเหยจากยี่หร่าอาจช่วยบรรเทาปัญหาในระบบทางเดินอาหารได้ เช่น อาการอาหารไม่ย่อย แผลในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ ยี่หร่ายังมีไฟเบอร์หรือใยอาหารสูง จึงอาจช่วยเพิ่มน้ำหนักและขนาดของอุจจาระ และทำให้อุจจาระนิ่มลง ช่วยปรับสมดุลความเป็นกรดด่างในลำไส้ ทำให้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์เจริญเติบโตได้ดี ทั้งยังเป็นอาหารของแบคทีเรียในลำไส้ จึงมีส่วนช่วยในการขับถ่าย จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Alternative Medicine Review เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2552 ศึกษาเรื่อง การใช้น้ำมันหอมระเหยในการรักษาภาวะจุลินทรีย์ในลำไส้เสียสมดุล พบว่า น้ำมันหอมระเหยยี่หร่าจะไปขัดขวางการเจริญเติบโตของแบคทีเรียไม่ดีในลำไส้ และช่วยให้แบคทีเรียที่ดีทำงานได้ตามปกติ แบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ทำหน้าที่ผลิตสารอาหาร ลดการอักเสบ ปรับปรุงการย่อยอาหาร และช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้งานเพิ่มเติม
ข้อควรระวังในการบริโภค ยี่หร่า
แม้ยี่หร่าจะมีสารอาหารที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่หากรับประทานมากเกินไป ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ เช่น
- หากผู้ที่มีอาการแพ้รับประทานยี่หร่าเข้าไป อาจทำให้อาการแพ้กำเริบ เช่น มีผื่นลมพิษ ตาบวม ปากบวม อาเจียน หากพบว่ามีอาการแพ้ ควรหยุดรับประทานและเข้าพบคุณหมอทันที
- เมล็ดยี่หร่ามีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยเหตุนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงควรบริโภคยี่หร่าอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะเมื่อรับประทานในเวลาใกล้เคียงกับยารักษาโรคเบาหวาน เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
- ยี่หร่ามีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน จึงไม่ควรรับประทานยี่หร่าร่วมกับยาารักษาโรคที่ทำให้ง่วงนอนได้ง่าย เช่น ยาแก้แพ้ ยานอนหลับ เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้
- ควรหยุดรับประทานยี่หร่าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด เนื่องจากมีผลต่อความดันโลหิตและมีฤทธิ์ป้องกันการแข็งตัวของเลือด
[embed-health-tool-bmr]